ไทยเบฟปรับโครงสร้างธุรกิจ โฟกัสน็อนแอลกอฮอล์-ลุยสถานีชาร์จไฟฟ้า

ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

ไทยเบฟฯปรับทัพธุรกิจ ชูธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์เป็นหัวหอกรับเทรนด์สุขภาพ เตรียมปูพรมสารพัดเครื่องดื่มสุขภาพ “น้ำตาลน้อย-ไม่มีน้ำตาล” ลงตลาดต่อเนื่อง ทุ่มงบฯ 6-8 พันล้าน ลงทุนเรื่องขนส่ง-นวัตกรรม หนุนธุรกิจในเครือ พร้อมรุกธุรกิจใหม่สถานีชาร์จรถไฟฟ้า

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารรายใหญ่ เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้สถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายจะทำให้การท่องเที่ยวและการกินดื่มในร้านกลับมา จนช่วยให้ผลประกอบการของไทยเบฟฯช่วง 9 เดือน (ต.ค. 64-มิ.ย. 65) มีรายได้จากการขายเติบโต 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 2.07 แสนล้านบาท และกำไรเพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 39,110 ล้านบาท

แต่ยังคงมีปัจจัยท้าทายทั้งภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทำให้ภาคธุรกิจรวมถึงบริษัทต้องปรับตัว

สำหรับบริษัท แนวทางจากนี้จะนำเทรนด์ด้านสุขภาพที่กำลังมาแรงมาใช้เป็นเครื่องจักรสร้างการเติบโต เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเซ็กเมนต์ที่เกี่ยวข้องอย่างเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก สะท้อนจากในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น สัดส่วนตลาดเครื่องดื่มกลุ่มนี้ของแต่ละประเทศอยู่ในระดับ 32-87% โดยเมื่อเดือนสิงหาคม บริษัทได้ปรับโครงสร้างนำกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ขึ้นมาเป็นคีย์โปรดักต์ที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจควบคู่ไปกับเบียร์และเหล้า

“เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์นั้น มีโอกาสการบริโภคสูงมาก สะท้อนจากในวันหนึ่ง ๆ ผู้คนดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ หลากหลายตลอดทั้งวัน แต่ดื่มแอลกอฮอล์ได้เพียง 1-2 ขวดเท่านั้น เราจึงต้องโฟกัสด้านนี้มากขึ้น แม้มาร์จิ้นจะต่ำกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ตาม”

นายฐาปนกล่าวต่อไปว่า จากนี้ไปบริษัทจะเดินหน้าขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำตาลน้อยและไม่มีน้ำตาล หรือไม่มีพลังงานให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เน้นทั้งด้านสุขภาพและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตั้งแต่คนรุ่นใหม่ขึ้นมาจนถึงสูงวัย รวมถึงลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจนี้

โดยในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65-ก.ย. 66) บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท โฟกัสด้านการขนส่งและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในเครือ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการซื้อกิจการเข้ามามากในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งการลงทุนนี้จะสนับสนุนธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ไปพร้อมกัน เช่น ระบบขนส่งกระจายสินค้า โกดังสินค้า รวมถึงการเปลี่ยนรถขนส่งประมาณ 1 ใน 3 เป็นรถไฟฟ้า

นอกจากนี้จะใช้จังหวะการนำรถไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งสินค้า รุกเข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ ยังมีผู้เล่นไม่มากนัก อีกทั้งบริษัทยังสามารถสร้างความได้เปรียบจากการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทำเล และธุรกิจอื่น ๆ ที่บริษัทมีอยู่แล้วได้ เช่น นำร้านเคเอฟซีและร้านอาหารอื่น ๆ เน้นสไตล์ทานง่าย-เร็ว เข้ามาเปิดบริการในสถานี โดยจะนำร่องจากสาขาเคเอฟซีที่มีจุดชาร์จรถในช่วงสิ้นปีนี้ ก่อนจะตามด้วยสถานีแห่งแรก ซึ่งคาดว่าจะตั้งที่จังหวัดนครปฐม

“เราทดลองใช้รถไฟฟ้าในการขนส่งสินค้าจนมั่นใจแล้วว่าคุ้มค่า จึงเริ่มมองหาโอกาสต่อยอดในด้านค้าปลีกด้วย เนื่องจากระยะเวลารอชาร์จประมาณ 30 นาทีนั้นถือเป็นโอกาสสำคัญที่สามารถนำธุรกิจของเราเข้าไปตอบโจทย์ได้” นายฐาปนย้ำ

ด้านแผนนำธุรกิจเบียร์หรือเบียร์โคเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ยืนยันว่ายังคงเดินหน้า โดยขณะรอจังหวะที่ตลาดพร้อม เนื่องจากขณะนี้และอีก 6-8 เดือนยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่คาดเดาได้ยากอีกมาก

พร้อมกันนี้ยังอัพเดตทิศทางธุรกิจอาหาร ซึ่งยืนยันว่าไทยเบฟฯไม่เข้าซื้อแฟรนไชส์เคเอฟซีของบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เนื่องจากยัม แบรนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ต้องการรักษาให้แฟรนไชซีเคเอฟซีในไทยมี 3 เจ้า เพื่อให้เกิดการแข่งขันและการเติบโต โดยบริษัทจะยึดแนวทางการขยายสาขาแบรนด์ต่าง ๆ ในไซซ์เล็กลง และใช้เงินลงทุนน้อยลง รวมถึงโฟกัสทำเลนอกห้างสรรพสินค้ามากขึ้น หลังช่วงโควิดที่ผ่านมา สาขานอกห้างของเคเอฟซีประสบความสำเร็จสูง