ผ่อนคลายโควิด หนุนรายได้ไทยเบฟ 9 เดือนทะลุ 2 แสนล้าน

ไทยเบฟ

รายได้ไทยเบฟ 9 เดือน โต 8.2% เป็น 2.07 แสนล้านบาท พร้อม EBITDA โต 8.6% เฉียด 4 หมื่นล้านบาท หลังไทย-เวียดนามเปิดประเทศ คลายมาตรการโควิด-19 รวมถึงการขึ้นราคาสินค้า

วันที่ 12 สิงหาคม 2565 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” ประกาศผลประกอบการ 3 ไตรมาสระบุว่า ช่วง 9 เดือน (ต.ค. 64-มิ.ย. 65) รายได้จากการขายเติบโต 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 2.07 แสนล้านบาท ส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 39,110 ล้านบาท

โดยยักษ์เครื่องดื่มอธิบายว่า การเติบโตนี้เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และการเปิดประเทศของทั้งไทยและเวียดนาม รวมถึงการเพิ่มขึ้นของกำไรจากธุรกิจเบียร์ เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์และอาหาร

ส่วนผลประกอบการรายธุรกิจนั้น มีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรในทุกกลุ่ม ยกเว้นเพียงกลุ่มเหล้าที่รายได้และกำไรยังลดลง

ธุรกิจเหล้า

แม้ปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้น 0.02% แต่รายได้จากการขายลดลง 1.1% เหลือ 90,648 ล้านบาท ไปในทิศทางเดียวกับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ที่ลดลง 5.2% เหลือ 22,369 ล้านบาท

เนื่องจากแม้ราคากากน้ำตาลจะลดลงในช่วงไตรมาส 3 แต่ต้นทุนบรรจุภัณฑ์สูงขึ้นและค่าเงินเมียนมาอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเปิดสถานบันเทิงตั้งแต่เดือนมกราคม จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของตลาดเหล้า โดยเฉพาะเหล้าสีในประเทศไทยได้

ธุรกิจเบียร์

รายได้เพิ่มขึ้น 15.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 92,573 ล้านบาท ในขณะที่ปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจเบียร์อยู่ที่ 13,446 ล้านบาท

เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม และการขึ้นราคาสินค้าในไทยและเวียดนาม รวมถึง SABECO สามารถทำปริมาณการขายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและการขึ้นราคา รวมถึงมาตรการรัดเข็มขัด ช่วยให้กำไรเพิ่มขึ้นตาม

ธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์

รายได้จากการขายเติบโต 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็น 12,826 ล้านบาท และปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 8.4% ส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 5.4% เป็น 1,717 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นเพราะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

ธุรกิจอาหาร

รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็น 11,990 ล้านบาท ส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 104.1% เป็น 1,578 ล้านบาท


การเติบโตนี้เป็นผลจากการฟื้นตัวของการทานอาหารในร้าน ร่วมกับความพยายามผลักดันให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอของบริษัทได้ง่ายขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของแต่ละแบรนด์ให้สูงขึ้น