ซีพี โต้โผใหญ่รวมค่ายรถจีน ผนึกกำลังลงทุน-ผงาดตลาดอีวี

MG

ค่ายรถจีนรุกหนักรวมตัวตั้ง “สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน” ผนึกกำลังแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี สร้างพลังต่อรองการลงทุนกับภาครัฐ หวังผงาดอุตฯยานยนต์ไฟฟ้าในไทยหนุนกลุ่ม ซี.พี. ในฐานะดูแล 3 แบรนด์ใหญ่จีน “เอ็มจี-โฟตอน-แม็คซัส” นั่งเป็นโต้โผใหญ่ ขณะที่ “บีวายดี” ค่ายยักษ์จีนตอบเข้าร่วมแล้วพร้อมเชิญ 3 ยักษ์ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย “ซัมมิท ออโต้-ไทยซัมมิท-อาปิโก้” เข้าร่วมเป็นซัพพลายเชน วางแผนเปิดตัววันที่ 11 เดือน 11 วงในหวั่นการรุกคืบของจีนแบบยกแพ็กกระทบผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ

แหล่งข่าวผู้ผลิตรถยนต์จีน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2565 ค่ายรถยนต์ มอเตอร์ไซค์และผู้ผลิตชิ้นส่วนชาวจีนที่ประกอบกิจการในประเทศไทย รวมกันราว ๆ 50 รายจะจัดแถลงข่าวเปิดตัว สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายใช้เป็นเวทีสำหรับกลุ่มนักลงทุนจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน พัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงแนวทางการขยายตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนขอจดทะเบียนตั้งเป็นสมาคม ซึ่งน่าเรียบร้อยในเร็ว ๆ นี้

จ้องผงาดในอุตฯอีวี

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การรวบตัวกันในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของกลุ่มค่ายรถยนต์-มอเตอร์ไซค์และชิ้นส่วนจากจีน ที่จะผงาดในอุตสาหกรรมยานยนต์อีวีตอบรับเทรนด์ของโลกที่กำลังขยับจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว และหากนับรวมเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยของกลุ่มนักลงทุนจีนในอุตฯยานยนต์ทั้งระบบน่าจะทะลุแสนล้านบาท

“มีหลายเรื่องที่ผู้ผลิตแต่ละรายทำข้อเสนอไปยังภาครัฐ ซึ่งบางครั้งไม่มีความเป็นยูนิตี้ ทำให้การตอบรับจากรัฐบาลยังไม่ตรงความต้องการ ซึ่งหากข้อเสนอได้ผ่านการกลั่นกรองจากสมาคม ซึ่งมีคณะกรรมการจากบรรดาสมาชิก ก็จะได้ข้อเสนอไปในทิศทางเดียวกันและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างชัดเจน”

หนุนกลุ่ม ซี.พี.นั่งหัวโต๊ะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน ตอนนี้รวบรวมสมาชิกได้ใกล้เคียงกับเป้าที่ตั้งไว้ 50 รายแล้ว โดยภายในกลุ่มเสนอให้ทาง ซี.พี. ซึ่งมีรถยนต์แบรนด์จีนในมือถึง 3 ยี่ห้อ ได้แก่ เอ็มจี, แม็คซัส และโฟตอน เป็นโต้โผใหญ่หรือนายกสมาคม โดยกำลังทาบทามมิสเตอร์ “จาง ไห่โป” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือไม่ ก็เป็นนายธนากร เสรีบุรี ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

ทาบฉางอัน-เฌอรี่-จิลลี่

ขณะที่สมาชิกผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอ็มจี, แม็คซัส, โฟตอน, เกรท วอลล์ฯ, บีวายดี, เนต้า, ดีเอฟเอสเค, เซเรส, โวล์ท, ตอบรับเข้าร่วมกันเรียบร้อย นอกจากนี้ในกลุ่มรถจีนที่ยังไม่พร้อมเปิดตัวในไทย ทั้งฉางอัน, เฌอรี่, จิลลี่ ก็ได้รับการทาบทามเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย

หาพันธมิตรชิ้นส่วนไทยเพิ่ม

รวมถึงยังได้ทาบทามผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยอีก 3 ราย ได้แก่ ไทยซัมมิท ของกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ, ซัมมิท ออโต บอดี้ ของกลุ่มจุฬางกูร และอาปิโก้ ไฮเทค ของกลุ่มนายเย็บ ซู ชวน เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย เนื่องจากเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดประเทศไทย ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์จีนแทบทุกรายต้องใช้ชิ้นส่วนจาก 3 บริษัทนี้เป็นหลัก

แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัท ซี.พี. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวคิดการจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งหลัก ๆ เป็นค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศจีน ในนามของคนจีนโดย ซี.พี.ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ระยะหลังคงจะทำให้ยิ่งใหญ่และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เพราะการส่งเสียงของค่ายรถยนต์จีนอาจจะไม่ดังเท่าค่ายญี่ปุ่น จึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อสร้างเอกภาพตรงนี้ขึ้นมาอีกรอบ

“เราเชื่อว่านายกสมาคมหรือประธานกลุ่มไม่ใช่คนไทยอย่างแน่นอน”

ด้านนายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์มัลติแบรนด์ สัญชาติจีน อย่าง DFSK, VOLT และ SERES กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ อีวี ไพร์มัสได้ยื่นใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสมาคมแล้ว โดยคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของสมาชิกและการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ อนาคตจะได้เห็นสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีน รวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยรายใหญ่ ๆ เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นด้วย

บีวายดีรุกเร็ว

นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด (BYD) เปิดเผยว่า แบรนด์รถจีนมีความพร้อมผงาดในประเทศไทยเชื่อว่าเร็วนี้น่าจะเข้ามาขยายตลาดอีกหลายแบรนด์ ทั้งนี้ บีวายดีได้ซื้อที่ดินกับนิคม WHA ระยอง 36 จำนวน 600 ไร่ เพื่อจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

มีโรงงานผลิตรถยนต์พร้อมซัพพลายเชนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ภายใต้กำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าจำนวน 150,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 สำหรับรถยนต์รุ่นแรกที่จะผลิต ได้แก่ ATTO 3

ขณะที่นายประธานวงศ์ พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เร-เว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ยืนยันว่าในวันที่ 10 เดือนตุลาคมนี้พร้อมเปิดตัวรถ ATTO 3 รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่จะทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิต เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าชาวไทยสามารถเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บีวายดีได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก PHEV มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท

ส่วนด้านการทำตลาดบีวายดีได้ประกาศแต่ตั้งบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ตั้งเป้ายอดขายในปีแรกไว้กว่า 10,000 คัน มีโชว์รูมศูนย์บริการทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 31 แห่งในปีนี้ และปี 2566 จะขยายเพิ่มเป็น 60-70 แห่ง ขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็น 1,000 หัวชาร์จ หวังติด top 5 ในตลาดรถยนต์ภายใน 5 ปีด้วย

6 เดือนเคาะอีวี 8.3 แสนคัน

ด้าน น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) เปิดเผยว่า โครงการรถยนต์ไฟฟ้าที่อนุมัติแล้ว มีทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท ยอดรวม 838,755 คัน

รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) 440,955 คัน รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) 137,600 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) 256,200 คัน และรถบัสไฟฟ้า 4,000 คัน ทั้งนี้ มีค่ายรถยนต์ที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ทั้งจากจีน และยุโรป ซึ่งขณะนี้จะเน้นส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก

ขณะที่นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสม 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวนสูงถึง 11,088 คัน เห็นได้ชัดเจนถึงการเติบโตของตลาดอีวีอย่างแท้จริง

หวั่นกระทบชิ้นส่วนไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่พยายามดึงการลงทุนแบบยกแพ็ก คือมาทั้งผู้ผลิตยานยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมเป็นซัพพลายเชนขนาดใหญ่ กลายเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทย โดยเฉพาะชิ้นส่วนขนาดกลางและเล็กซึ่งขาดทั้งเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ ทำให้เสียเปรียบรวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากแรงงาน ราคาพลังงาน ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการผลิต

อีวีจีนชิงจังหวะผงาด

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า จากที่ภาครัฐได้มีมาตรการภาษีและเงินสนับสนุน 70,000-100,000 บาทต่อคัน ช่วยกระตุ้นตลาดรถอีวีได้อย่างมาก ทำให้ค่ายรถจีนที่อาศัยจังหวะค่ายรถญี่ปุ่นยังไม่พร้อมทำตลาดเร่งชิงลูกค้าก่อนด้วยจุดแข็งการเลือกผลิตภัณฑ์บุกตลาดและการตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อในวงกว้างมากขึ้น ทำให้รถอีวีสัญชาติจีนขยับราคาลงไปสูสีกับรถยนต์ใช้น้ำมัน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ทำให้รถอีวีสัญชาติจีนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

รายงานยังระบุว่า นับจากนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการบุกตลาดและเข้ามาลงทุนของค่ายรถสัญชาติจีนรายใหม่ ๆ ที่ชัดเจนขึ้น ทั้งที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเองและที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบรถให้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปีนี้ที่อาจได้เห็นรถยนต์หลายรุ่นที่ลงมาแข่งขันมากขึ้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีโอกาสที่จีนอาจจะชิงส่วนแบ่งตลาดรวมได้ถึง 80% จากยอดขายรถ EV ที่คาดว่าในปี 2565 ตลาดรถอีวีจะมากกว่า 10,000 คัน ซึ่งถือว่าขยายตัวมากกว่า 412% (YOY) จากปี 2564 ที่มีรถ EV จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 1,954 คัน

ขณะที่ “ค่ายรถญี่ปุ่น” ที่เป็นผู้นำในตลาดรถใช้น้ำมันหรือเครื่องยนต์สันดาป ในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอีวีนั้น อาจเข้ามาทำตลาดช้ากว่าค่ายรถจีนและค่ายรถยุโรป โดยคาดว่าจะเริ่มเข้ามาทำตลาดในช่วงครึ่งหลังปี 2565 และอาจมีโอกาสกลับมาทวงส่วนแบ่งการตลาดรถอีวีคืนได้ในปี 2566