สธ. ผนึกพันธมิตรลุย กัญชาทางการแพทย์ ปี’66 เต็มที่

กัญชาทางการแพทย์

สธ.เตรียมขยายการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ไปยังกลุ่มโรคอื่น ๆ พร้อมเร่งศึกษาวิจัย เน้นสร้างความเชื่อมั่นแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน หวังปั้นยาที่ปลูกและผลิตได้ในประเทศ

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งกรมการแพทย์ได้จัดทำคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 3 กลุ่มคือ ได้ประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์

นอกจากนี้ จะขยายการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ไปยังกลุ่มโรคอื่น ๆ ให้ครอบคลุม ส่วนการศึกษาวิจัยจะเน้นตอบโจทย์การสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนของกัญชาทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

หากทำได้สำเร็จจะมียาที่ปลูกและผลิตได้ในประเทศ และเป็นหลักฐานสนับสนุนการคัดเลือกเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในบัญชีหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

ส่วนกรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ มุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย

โดยปัจจุบันการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด, โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

ทั้งนี้ สะท้อนจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง ได้แก่

กัญชาทางการแพทย์กับการรักษาโรคลมชักในเด็ก โรคพากินสัน โดยสถาบันประสาทวิทยาและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

กัญชาทางการแพทย์กับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการวิจัยในหนูทดลอง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

การวิจัยการนำสารสกัดจากกัญชา CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ลดการกลับไปเสพซ้ำ

การวิจัยการนำสารสกัดจากกัญชา CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ลดการกลับไปเสพซ้ำ และการวิจัยนำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้นมาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต เพื่อช่วยลดอาการทางจิต และลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)

ส่วนโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้เปิด “ศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา” ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพ โดยสภาเทคนิคการแพทย์

สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา 11 ชนิด และสามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenes ในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด

หลังปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชามากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน ส่วนการวิจัยมีกว่า 60 เรื่อง ครอบคลุมทั้งการปลูก การผลิต การใช้ และการวางระบบเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ส่งผลให้ปัจจุบันมียากัญชาถึง 10 รายการ ถูกคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ