เคนยากุ ชูวันสต็อปเซอร์วิส สู้ศึก OEM อาหารเสริมแข่งดุ

เคนยากุ

“เคนยากุ” เผยตลาดโออีเอ็มอาหารเสริมแข่งดุ ชูวันสต็อปเซอร์วิส ตั้งแต่คิดสูตร ขึ้นทะเบียน ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ยันผลิตเสร็จ พร้อมให้คำปรึกษาด้านการตลาด หาช่องทางขาย ออฟไลน์-ออนไลน์ ล่าสุดระดมพลเสริมทีมงาน R&D เตรียมขึ้นโรงงานใหม่บุกตลาดสมุนไพร ทุ่มซื้อที่ดินแปดริ้ว 14 ไร่ รองรับการเติบโตในอนาคต ตั้งเป้าสู่การเป็น Wellness Hub

นายพีรภพ หาญไกรพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เคนยากุ (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาพรวมของตลาดโออีเอ็มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา

และคาดว่าปัจจุบันจะมีโรงงานที่รับจ้างผลิตอยู่ไม่น้อยกว่า 140-150 โรงงาน และตอนนี้ก็มีผู้ประกอบการรายใหญ่กระโดดลงมาในตลาดนี้ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีการเติบโตและขยายตัวมาก

โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าตลาดรวมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมื่อปี 2564 ที่มีตัวเลขสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง จากจำนวนโรงงานที่มีผู้เล่นจำนวนมากดังกล่าว ก็ทำให้ตลาดนี้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องราคา

นายพีรภพกล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานของเคนยากุ หลัก ๆ จะยังเน้นในเรื่องของการเป็นโรงงานที่มีคุณภาพ ที่มาจากพื้นฐานของการเป็นโรงงานผลิตยา โดยมีมาตรฐานต่าง ๆ รองรับ GMP, HALAL, ISO 9001, HACCP รวมถึง GMP PIC/S (Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme)

ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตยาที่ดีที่ใช้เป็นกฎหมายในทวีปยุโรป สะท้อนจากการได้รับคัดเลือกและรับรางวัลยอดเยี่ยมนวัตกรรมด้านการวิจัยแห่งปี THAILAND TOP SME AWARDS (ปี 2563) และชนะเลิศการประกวดคัดเลือก รางวัล SME ดีเด่น ในการประกวดรางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ ครั้งที่ 14 (ปี 2564)

เคนยากุ

ที่สำคัญ การเน้นบริการแบบครบวงจร (one stop service) ตั้งแต่เริ่มคิดสูตร การทดลอง การขึ้นทะเบียน ออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการมีทีมการตลาดเพื่อร่วมสร้างแบรนด์ ร่วมวางแผนเชิงกลยุทธ์ หาช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด โรงงานยังได้มีการขยายพื้นที่ห้องแล็บ R&D เพื่อตอบสนองลูกค้าให้มากขึ้น

รวมถึงมีแผนที่จะรับทีม R&D เข้ามาเพิ่ม จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 12 คน เพื่อวิจัยและค้นคว้าหาวัตถุดิบที่ดีที่สุด รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการผลิตอาหารเสริม รวมถึงการคิดนวัตกรรมอาหารเสริมสูตรใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม

“การแนะนำเรื่องการตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ใช่แค่ขายโปรดักต์เสร็จแล้วจะจบ ยุคสมัยนี้มันต้องการ channel หรือช่องทางต่าง ๆ ให้กับลูกค้าด้วย ถ้าลูกค้าใหม่มาก ๆ เลย เราพร้อมที่จะให้คำปรึกษาในด้านช่องทางต่าง ๆ ที่จะให้ลูกค้านำไปลงขายทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ออนกราวนด์ เป็นการช่วยเหลือและซัพพอร์ตให้กับลูกค้า

ยิ่งลูกค้าเราเติบโต ก็เท่ากับเราเติบโตด้วยกัน ซึ่งนอกจากลูกค้าในประเทศแล้ว โรงงานยังมีลูกค้าจากต่างประเทศด้วย โดยมีบริษัทดิสทริบิวเตอร์จากหลาย ๆ ประเทศที่สั่งโออีเอ็มสินค้าให้ และนำไปทำตลาดในฮ่องกง ลาว กัมพูชา ล่าสุดก็มีลูกค้าจากเมียนมาติดต่อเข้ามา ซึ่งรวม ๆ แล้วมีสัดส่วนประมาณ 10%”

จากการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดโออีเอ็ม เราจึงเน้นการดูแลและควบคุมต้นทุน ขณะเดียวกัน ก็พยายามจะหาลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเคนยากุ มีจัดโปรโมชั่น make a smile ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ง่ายขึ้น โดยผู้ที่สนใจและต้องการจะมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง ใช้งบฯการลงทุนเพียง 199,000 บาท ก็สามารถเป็นเจ้าของแบรนด์ได้แล้ว ด้วยบริการที่เป็นวันสต็อปเซอร์วิส

ประธานกรรมการ บริษัท เคนยากุ กล่าวด้วยว่า นอกจากการรุกตลาดการรับจ้างผลิตอาหารเสริมแล้ว เคนยากุได้หันมาให้ความสำคัญโปรดักต์ที่เป็นสมุนไพรมากขึ้น โดยมีการเตรียมแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตสมุนไพร โดยจะนำสมุนไพรไทยที่จัดว่าเป็นยาแผนโบราณที่มีประสิทธิภาพมาปรับปรุง ด้วยการนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาใช้ เพื่อทำให้สมุนไพรไทยมีมาตรฐานมากขึ้น

โดยเบื้องต้นหรือช่วงแรกจะเน้นไปที่สมุนไพรที่ใช้สำหรับภายนอก เช่น ยาประคบ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้มีการเตรียมการไว้บ้างเช่นกัน โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการเปิดบริการคล้าย ๆ สปา หรือคลินิกในย่านเอกมัย ซึ่งภายในร้านจะมีสมุนไพรไทยให้บริการหรือการบำบัด

“ทุกวันนี้โรงงานของเราซึ่งมีขนาดประมาณ 2 ไร่ (ซอยลาดพร้าว 91 ถนนลาดพร้าว) ประกอบกับเป็นโครงสร้างเก่า และเป็นโรงงานผลิตอาหารเสริมที่เป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในอนาคต ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนเพื่อหาสถานที่เพื่อเตรียมโรงงานแห่งใหม่ บนพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

จากวันนี้ไปในระยะยาว ภายในปี 2035 หรือ พ.ศ 2578 บริษัทตั้งเป้าว่า ในอนาคตระยะยาว บริษัทต้องการจะเป็น wellness hub ศูนย์การเรียนรู้ วิจัย และพัฒนาสมุนไพรไทย พร้อมศูนย์ดูแลสุขภาพแบบครบวงจรชั้นนำของไทย” นายพีรภพย้ำในตอนท้าย