จับตาธุรกิจกัญชาซบหนักดีมานด์ลด-ซึมยาวข้ามปี

กัญชา

ธุรกิจกัญชาซบหนัก ธุรกิจบ่นอุบดีมานด์ลดฮวบ ผลพวงจากดราม่า-ผู้บริโภคสับสน “ยันฮี” ฉายภาพจากประสบการณ์ตรง ตัวเลขร่วง 10 เท่า ผู้ประกอบการพร้อมใจชะลอแผนรอดูความชัดเจนกฎหมาย-นโยบายรัฐบาล คาดซึมยาวไปถึงสิ้นปี

นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลยันฮี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โอสถสภายันฮี เบฟเวอเรจ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ภาพรวมธุรกิจกัญชาค่อนข้างซบเซามาก ผิดกับช่วงแรก ๆ ที่ตลาดมีความตื่นตัวและความคึกคักมาก ยกตัวอย่าง กรณีของยันฮี น้ำกัญชาผสมวิตามิน เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ร่วมกับโอสถสภา เดิมเคยมียอดขายสูงถึงเดือนละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านขวด แต่ตอนนี้ตัวเลขลดลงเหลือเพียงประมาณ 200,000 ขวด หรือน้ำมันนวดกัญชา เดิมเคยได้ขายเดือนละ 500-600 ขวด แต่เดี๋ยวนี้เหลือเพียงประมาณ 100 ขวดเท่านั้น หรือซบเซาลงมาก ประมาณ 10 เท่า ซึ่งตรงนี้วัดจากประสบการณ์ของการเป็นผู้ปลูกและผลิตสินค้าเกี่ยวกับกัญชาออกมาจำหน่าย

นพ.สุพจน์-สัมฤทธิวณิชชา

ทั้งนี้ ตัวเลขหรือดีมานด์ของสินค้ากัญชาที่ลดลงดังกล่าว เกิดจากตอนนี้ผู้บริโภคเกิดการชะงักและหยุดซื้อ เนื่องจากเกิดมีกระแสดราม่าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดความสับสนและเริ่มไม่มั่นใจว่ากัญชามีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร กัญชายังเป็นยาเสพติดหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ในข้อเท็จจริง ทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกเปิดกว้างเกี่ยวกับกัญชาแล้ว แต่เมืองไทยกลับไปโฟกัสเรื่องของโทษ มากกว่าที่จะมองประโยชน์

“ช่วงแรก ๆ ภาพรวมของตลาด หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชานั้นมีความคึกคักมาก รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการประชาสัมพันธ์ มีการโปรโมต แต่ตอนหลัง ๆ มาก็เริ่มมีกระแสการคัดค้าน จึงทำให้ประชาชนสับสน และภาพรวมของตลาดก็เริ่มเกิดการชะลอเพื่อรอความชัดเจน สินค้าเกี่ยวกับกัญชาจึงได้รับผลกระทบและขายไม่ออก”

นายแพทย์สุพจน์ยังได้แสดงความเห็นว่า ทิศทางของธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชาของเมืองไทยจากนี้ไป หลัก ๆ จะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากรัฐบาลไฟเขียวและเดินหน้าต่อ ธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชาก็จะสามารถเดินต่อไปได้ แต่หากรัฐบาลหยุด ไม่ส่งเสริมต่อ ธุรกิจก็จะค่อย ๆ ตายไปเอง เพราะผู้บริโภคไม่ใช้ เพราะผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้

สำหรับของยันฮีเอง ที่ผ่านมาได้มีการลงทุนปลูกกัญชา ทั้งที่ปลูกในอินดอร์ ปลูกในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ และนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังมีการลงทุนปลูกในฟาร์มที่เป็นเอาต์ดอร์เพื่อนำไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งตอนนี้ได้ตัดสินใจหยุดปลูกในส่วนของฟาร์มเอาต์ดอร์แล้ว

เนื่องจากตอนนี้ราคาใบกัญชาตกลงมาเหลือเพียง 400-500 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น จากก่อนหน้านี้ที่ราคาเคยสูงถึง 3,000 บาท/กิโลกรัม ส่วนการปลูกในอินดอร์ ช่อดอกเอาทำยาไม่มีปัญหา เพราะเรามีใบอนุญาต ตอนนี้กัญชามีความเซนซิทีฟมาก จะทำอะไรสักอย่างต้องขออนุญาต ตั้งแต่ปลูก สกัด ขาย ต้องขออนุญาตทุกขั้นตอน

นายแพทย์สุพจน์ยังระบุด้วยว่า สำหรับยันฮี น้ำกัญชาผสมวิตามินที่ทำร่วมกับโอสถสภา ตอนนี้แม้จะขายได้น้อยลง แต่ก็ยังผลิตออกมาวางจำหน่ายในปริมาณที่ลดลง เพื่อรอดูทิศทางและความชัดเจนของกฎหมายให้มันมีความชัดเจน

ส่วนศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาที่ รพ.ยันฮีเปิดให้บริการ ที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าใช้บริการที่ลดลง มีคนที่สนใจเข้ามาใช้บริการบ้างแต่ไม่มากนัก คนไข้ถามหาหรือมีดีมานด์ที่น้อยลง และหันไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่า หรือหากไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันแล้วยังไม่หาย คนไข้จึงจะมาหารักษาที่ศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา ปัจจัยหลัก ๆ ก็สืบเนื่องมาจากความสับสน และไม่มั่นใจว่ารักษาด้วยกัญชาแล้วจะดีขึ้นหรือหายจริงหรือไม่

“จริง ๆ แล้วอาจจะกล่าวได้ว่า กัญชานั้นเป็นพืชเศรษฐกิจที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต้องการ และที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็ต้องสะดุดลงเพราะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง จากนี้ไปกัญชาจะมีอนาคตเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล หากรัฐบาลมีความชัดเจนทั้งในเรื่องของกฎหมาย การควบคุม ธุรกิจก็จะเดินไปได้ แต่ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็ยังไปได้ไม่ถึงไหนเลย และคงไม่เสร็จทันสมัยประชุมนี้แน่นอน

ดังนั้นผู้ประกอบการหรือธุรกิจก็คงชะลอแผนต่าง ๆ ไว้ก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนของกฎหมายว่าจะออกมาอย่างไร ผมว่าอาจจะชะลอไปอีกหลายเดือน หรือไปจนถึงสิ้นปี หากมีรัฐบาลใหม่ก็ต้องมาดูว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญและหยิบร่าง พ.ร.บ.นี้มาสานต่อหรือไม่ ตอนนี้ผู้ประกอบการรออย่างเดียว คนที่ลงทุนสร้างโรงเรือนปลูก 8-10 ล้านบาท ก็จ่ายดอกเบี้ยแบงก์ไปอย่างเดียว เพราะตอนนี้ผลิตอะไรออกมาก็ขายไม่ออก” นายแพทย์สุพจน์กล่าวในตอนท้าย