เปิดประวัติ ซอสภูเขาทอง ตำนานซอสฝาเขียว สู่ซอสลุงหนวด

ภูเขาทอง ซอสภูเขาทอง ไทยเทพรส ซอสปรุงรส ซอสฝาเขียว ซอสลุงหนวด

เปิดประวัติ ไทยเทพรส ซอสภูเขาทอง ตำนานซอสปรุงอาหารที่อยู่คู่คนไทย ตั้งแต่ยุคซอสฝาเขียว ถึงยุคซอสลุงหนวด และเรื่องราวของ “ศรีราชาพานิช”

“ภูเขาทอง” หนึ่งในแบรนด์ผลิตภัณฑ์ปรุงอาหารที่อยู่คู่คนไทยมามากกว่า 6 ทศวรรษ และอยู่คู่กับเมนูโปรดของคนไทยมาหลายยุค หลายสมัย โดยเฉพาะ “ซอสปรุงรสฝาเขียว” สินค้าที่อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงงาน และเป็นสินค้าสร้างชื่อให้กับ “ภูเขาทอง”

จนถึงวันนี้ที่ “ภูเขาทอง” มีสินค้าปรุงรสอาหารที่ค่อนข้างครอบคลุมกับการทำอาหารของคนไทย ทั้งซอสปรุงรส ซอสปรุงอาหาร และซอสพริก ซอสมะเขือเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนดูเรื่องราวของแบรนด์ซอสปรุงอาหารแบรนด์นี้ไปพร้อมกัน

เปิดประวัติ “ไทยเทพรส”

เรื่องราวของซอสภูเขาทอง เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2497 นายใช้ แซ่โค้ว ก่อตั้ง “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงงานไทยเทพรส” เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องปรุงอาหารภายใต้เครื่องหมายการค้าชื่อ “ภูเขาทอง” มีโรงงานอยู่ในพื้นที่ซอยเกษมสุวรรณ หรือสุขุมวิท 50 และก่อตั้งขึ้นบนความตั้งใจที่อยากมีซอสปรุงรสแบรนด์ไทย แต่มาตรฐานสากล

ก่อนจะเริ่มก่อร่าง สร้างเป็น “ไทยเทพรส” อย่างที่คุ้นเคยนี้

กระทั่งวันที่ 26 มกราคม 2530 ยุคของ “ปริญญา วิญญรัตน์” ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการคนปัจจุบัน ได้จดทะเบียนเป็น “บริษัท ไทยเทพรสผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ก่อนจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และแปรสภาพเป็นบริษัท มหาชน จำกัด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536

ปัจจุบัน ไทยเทพรส มีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ และมีสินค้าในมือครอบคลุมการปรุงรสอาหารของคนไทย ตั้งแต่การทำอาหาร จนถึงการเหยาะจิ้ม

เข้าซื้อ “ศรีราชาพานิช”

สำหรับใครที่เป็นคอซอสพริก หรือนิยมชมชอบการบริโภคซอสพริก อาจคุ้นเคยกับ “ซอสพริกศรีราชา” ซอสพริกที่มีสูตรการปรุงรสแบบฉบับชาวศรีราชา หนึ่งในนั้นคือ ศรีราชาพานิช” แบรนด์ซอสพริกศรีราชาที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 80 ปี

ส่วนเรื่องราวของ ไทยเทพรส กับ ศรีราชาพานิช เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2527 บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการ “ศรีราชาพานิช” และนำมาจัดจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งในประเทศไทยและส่งออกไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

สำหรับซอสพริก “ศรีราชาพานิช” มีจุดเริ่มต้นที่ ตรอกแหลมฟาน ในตัวอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี จากการเป็น “น้ำพริก” ฝีมือของคุณแม่ถนอม จักกะพาก ซึ่งเป็นน้ำพริกสูตรลับเพื่อรับประทานคู่กับอาหารทะเลไว้กินกันภายในครอบครัว และส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น

ก่อนที่จะแบ่งปันไปให้เพื่อนบ้านลองทานคู่กับอาหารแล้วติดใจในรสชาติ กลายมาเป็นซอสพริก “ศรีราชาพานิช” ที่เป็นเจ้าแรก ๆ ของศรีราชา และได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สูตรของซอสพริกศรีราชาพานิช จะให้ความสำคัญกับส่วนประกอบ และคัดสรรวัตถุดิบมาเป็นอย่างดี ผ่าน 5 ส่วนประกอบสำคัญ

  • พริกชี้ฟ้า (ต้องเป็นพันธุ์มันดำ สีแดง สด ผิวเกลี้ยง และมีขนาดเท่า ๆ กัน)
  • กระเทียมไทย (ผ่านการดองแล้ว 7 วัน)
  • น้ำตาลทรายขาว
  • น้ำส้มสายชู
  • เกลือทะเล

ทั้งหมดผ่านกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันตามแบบภูมิปัญญาไทยที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงกรรมวิธีเฉพาะที่ต้องหมักพริกให้ได้ที่นานถึง 3 เดือน ก่อนจะนำมาปรุงรส เพื่อให้ได้รสชาติเข้มข้น จัดจ้าน มีรสสัมผัส รสสัมผัส “เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน” เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ซอสพริก ศรีราชาพานิช
ภาพจาก ศรีราชาพานิช

อย่างไรก็ดี แม้จะมีซอสพริก “ศรีราชาพานิช” อยู่ในมือแล้ว แต่ภูเขาทอง ยังผลิตซอสพริกภายใต้แบรนด์ของตัวเองด้วยเช่นกัน ทั้งแบรนด์ “ภูเขาทอง” และแบรนด์ “อีซี่”

เปิดไลน์อัพ “ซอสภูเขาทอง”

สำหรับ ผลิตภัณฑ์ ปรุงรสของ ไทยเทพรส มีทั้งหมด 4 แบรนด์ คือ ภูเขาทอง คินซัน อีซี่ และศรีราชาพานิช ครอบคลุมทั้งซอสปรุงรสอาหาร และซอสสำหรับเหยาะหรือจิ้ม

ซอสปรุงรส-ซีอิ๊ว หลากสี

ผลิตภัณฑ์กลุ่มซอสปรุงรส และซีอิ๊ว ของไทยเทพรสมีหลากหลายแบบ ทั้งซอสปรุงรส และซีอิ๊ว โดยซอสปรุงรส นอกจากซอสปรุงรสฝาเขียว ที่เป็นสินค้าเรือธงของแบรนด์ “ภูเขาทอง” แล้ว ยังมีซอสปรุงรสแบบอื่น ๆ โดยปรับให้แตกต่างกันทั้งส่วนผสมและการใช้กับเมนูอาหาร ดังนี้

ประเภท
ซอสปรุงรส
ปริมาณถั่วเหลือง ปริมาณน้ำตาล ปริมาณเกลือ เหมาะกับเมนูไหน
ซอสปรุงรสฝาเขียว 75% 5% 4% เหยาะ ผัด หมัก ต้ม และตุ๋น
ซอสปรุงรสฝาเหลือง 84% 5% 3% เหยาะจิ้มเพิ่มรสชาติ
ซอสปรุงรสฝาแดง 88% 5% 2% เมนูตุ๋น หรือ ต้ม เพิ่มความหอมให้น้ำซุป
ซอสปรุงรสฝาน้ำตาล 63% 7% 6% สำหรับกลุ่มร้านอาหารที่เน้นเรื่องต้นทุน
ซอสปรุงรสอาหาร (ฝาส้ม) 58% 9% 6% เหมาะกับเมนูผัด และปรุงรสเมนูไข่ต่าง ๆ

 

และนอกจาก “ซอสปรุงรสฝาเขียว” ที่เป็นเรือธงของแบรนด์นี้แล้ว “ซอสปรุงรสอาหาร (ฝาส้ม)” หรือที่เราเคยได้ยินว่า “ซอสลุงหนวด” ก็เป็นอีกสินค้าเรือธงที่ภูเขาทอง ทำการตลาดอย่างมาก โดยการชูจุดเด่นที่ช่วยเพิ่มรสชาติให้กับเมนูอาหารประเภทผัด

ซอสปรุงรส ภูเขาทอง
กลุ่มผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรส

ขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มซีอิ๊ว มีทั้งซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วถั่วเหลือง ซีอิ๊วดำสูตรมืออาชีพ ภายใต้ตรา “ภูเขาทอง” และซีอิ๊วญี่ปุ่น ภายใต้ตรา “คินซัน”

ผลิตภัณฑ์ปรุงรสอื่น ๆ

นอกจากซอสปรุงรสที่มีถึง 5 แบบแล้ว ซอสเครื่องจิ้ม อย่างซอสพริกของภูเขาทอง ยังมีถึง 3 แบบ คือ ซอสพริกเผ็ดน้อย ซอสพริกเผ็ดมาก ซอสพริกผสมมะเขือเทศ และยังมีซอสพริก ตรา “อีซี่” โดยมีส่วนผสมต่างกัน ดังนี้

ประเภท
ซอสพริก
พริกชี้ฟ้าแดง น้ำตาล น้ำส้มสายชูกลั่น กระเทียม เกลือ เนื้อมะเขือเทศ
ซอสพริก สูตรเผ็ดน้อย 25% 20% 20% 7% 7%
ซอสพริก สูตรเผ็ดมาก 50% 25% 10% 10% 5%
ซอสพริกผสมมะเขือเทศ 25% 30% 10% 5% 4% 20%
ซอสพริก ตรา อีซี่ 28%
20%
16%
15%
3%

 

ขณะที่ ซอสพริก ตรา “ศรีราชาพานิช” มีถึง 4 แบบ คือ ซอสพริกศรีราชา สูตรเผ็ดกลาง, ซอสพริกศรีราชา สูตรเผ็ดมาก, ซอสสไปซี่ มาโย และซอสพริกเหลืองศรีราชา

นอกจากซอสพริกแล้ว ยังมีซอสและเครื่องปรุงรสอื่น ๆ ทั้งซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มไก่ และน้ำส้มสายชูกลั่น

รายได้ทะลุ 3 พันล้าน

ทีมข่าวการเงิน “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลรายได้และผลประกอบการของ บมจ.ไทยเทพรส (SET: SAUCE) ตั้งแต่ปี 2561-2565 สรุปได้ดังนี้

  • ปี 2561 รายได้ 2,864 ล้านบาท กำไร 437 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 2,929 ล้านบาท กำไร 445 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 2,960 ล้านบาท กำไร 543 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 3,134 ล้านบาท กำไร 618 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 3,303 ล้านบาท กำไร 632 ล้านบาท

และนอกจากนี้ บมจ.ไทยเทพรส ยังมีบริษัทร่วม คือ บริษัท เอ็กซ์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งไทยเทพรส ถือหุ้นในบริษัทนี้ 60% ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร (Reaction flavour) ภายใต้เครื่องหมายการค้า ตรา “เอ็กซ์เตอร์” ส่งออกสหภาพยุโรปและภูมิภาคเอเซียอาคเนย์