ซอสภูเขาทอง รวยแค่ไหน ? มูลค่ากิจการกว่าหมื่นล้าน

ซอสภูเขาทอง รวยแค่ไหน ? มูลค่ากิจการกว่าหมื่นล้าน จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยมานานกว่า 28 ปี

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ถ้าให้เอ่ยชื่อแบรนด์เครื่องปรุงรสในครัวเรือนไทยของทุกบ้าน เชื่อว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อ “ภูเขาทอง” ที่ทุกคนต้องแย่งกันตอบแน่นอน

และรู้หรือไม่ว่าแบรนด์ภูเขาทองนั้น อยู่กับครัวเรือนไทยมานานเกือบ 70 ปีแล้ว หรือตั้งแต่ปี 2497 โดยที่คุ้นเคยและรู้จักกันดีคือ “ซอสปรุงรสฝาเขียว” ตราภูเขาทอง ที่แทบทุกบ้านต้องมีติดไว้ ซึ่งปัจจุบันผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อยู่ภายใต้บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) โดยมีเจ้าของคือตระกูล “วิญญรัตน์”

ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยมานานกว่า 28 ปีแล้ว โดยเข้าไอพีโอตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2538 โดยใช้ชื่อย่อหุ้นว่า SAUCE

ปัจจุบันได้ขยายอาณาจักรผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหาร ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ภูเขาทอง” ทั้งซอสปรุงรส ซอสพริก น้ำส้มสายชูกลั่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริกผสมมะเขือเทศ ซอสหอยนางรม ซีอิ๊วขาว ซอสผง ซีอิ๊วผง ซอสพริก ตราศรีราชาพานิช และซีอิ๊วญี่ปุ่น ตรา คินซัน จนสร้างรายได้หลายพันล้านต่อปี มีมูลค่ากิจการหรือขนาดมาร์เก็ตแคปกว่า 11,970 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 2 พ.ค. 2566)

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” จะพาไปส่องงบการเงินของ “ไทยเทพรส” ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) ว่ามีอัตราการเติบโตและมีความแข็งแกร่งแค่ไหน

รายได้ปีละ 2-3 พันล้าน

โดยอ้างอิงข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา SAUCE มีรายได้ประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อปี

  • ปี 2561 มีรายได้ 2,864 ล้านบาท
  • ปี 2562 มีรายได้ 2,929 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้ 2,960 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีรายได้ 3,134 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีรายได้ 3,303 ล้านบาท

กำไรปีละ 400-600 ล้าน

และพบว่ามีการเติบโตของกำไรแทบทุกปี หรือมีกำไรประมาณ 400-600 ล้านบาทต่อปี

  • ปี 2561 มีกำไร 437 ล้านบาท
  • ปี 2562 มีกำไร 445 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีกำไร 543 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีกำไร 618 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีกำไร 632 ล้านบาท

ยอดขายในประเทศกว่า 2.5 พันล้าน

โดยปี 2565 ที่ผ่านมามีกำไรเติบโตขึ้น 2.12% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยมียอดขายในประเทศปี 2565 อยู่ที่ 2,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.57 ล้านบาท หรือ +4.33% ส่วนใหญ่จากในช่องทางการจัดจําหน่ายจากผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) เพิ่มขึ้น 32.11 ล้านบาท หรือ +2.92% โมเดิร์นเทรด เพิ่มขึ้น 63.83 ล้านบาท หรือ +7.47% การเติบโตมีผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุผลนี้จึงทําให้ยอดขายรวมสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 3,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 143.41 ล้านบาท หรือ +4.62% YOY โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ออกรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ร้านอาหารส่วนใหญ่เปิดบริการเพิ่มขึ้น มีทั้งร้านค้าที่เปิดใหม่และมีร้านค้ากลับมาเปิดกิจการหลังช่วงโควิด มีผลทําให้ยอดขายสูงขึ้น

ด้านมูลค่าการจําหน่ายต่างประเทศในปี 2565 อยู่ที่ 384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.79 ล้านบาท หรือ +0.73% ขบวนการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศมีความสะดวกมากกว่าปี 2564 ที่เศรษฐกิจ เงินเฟ้อต่างประเทศและค่าเงินของประเทศไทยมีความผันผวน ส่งผลให้ธุรกิจส่งออกไม่เติบโต

ส่วนมูลค่าการจําหน่ายกับบริษัทร่วมในปี 2565 อยู่ที่ 56 ล้านบาท มียอดการจําหน่ายสินค้าให้กับ บริษัท เอ็กซ์เตอร์ (ประเทศไทย) จํากัด สูงกว่าปี 2564 จํานวน 16.65 ล้านบาท +41.87% สาเหตุที่บริษัท เอ็กซ์เตอร์ (ประเทศไทย) มียอดซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจของประเทศคู่ค้ามีการขยายตัว

ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 7.45% จาก 62.96% ของยอดขายในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 64.67% ของยอดขายในปี 2565 เนื่องจากวัตถุดิบหลักกลุ่มโปรตีนธัญพืช พริก กระเทียม บรรจุภัณฑ์ ทั้งขวดแก้วและในกลุ่มพลาสติกและกล่องมีการปรับราคาต้นทุนสูงขึ้น

และต้นทุนในการจัดจําหน่ายเพิ่มขึ้น 1.68 ล้านบาท จาก 269.27 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 270.95 ล้านบาท ในปี 2565 มีการบริหารค่าใช้จ่ายทางการตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนใหญ่มาจากค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

และค่าใช้จ่ายในการบริหาร เพิ่มขึ้น 2.92 ล้านบาท จาก 144.88 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 149.11 ล้านบาท ในปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและมีเครื่องจักรที่เสื่อมสภาพ ยกเลิกการใช้งาน

หนี้สินต่อทุนต่ำ

นอกจากนี้ด้านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ SAUCE ในปี 2565 ยังรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับ 0.107 เท่า ลดลงจากปี 2564 ที่ระดับ 0.113 เท่า สอดรับนโยบายการบริหารการเงินแบบความเสี่ยงตํ่า

ปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 3,166 ล้านบาท มีส่วนทุน (ส่วนของผู้ถือหุ้น) จำนวน 2,859 ล้านบาท และมีหนี้สิน จำนวน 306 ล้านบาท โดย SAUCE ไม่มีหนี้สินจากการกู้ยืม โดยบริษัทใช้โครงสร้างเงินทุนส่วนใหญ่จากส่วนของผู้ถือหุ้น

ไม่มีหนี้กู้ยืม

ทั้งนี้ SAUCE ถือนโยบายบริหารการเงินอย่างเคร่งครัด จะเห็นว่ามีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสูง ไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง สิ้นปี 2565 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดกว่า 583 ล้านบาท และยังมีวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี ที่ยังไม่ได้ใช้จากธนาคารขนาดใหญ่อีกกวา 97 ล้านบาท เพื่อรองรับความจําเป็นในการใช้เงินทุนกรณีฉุกเฉิน

และเนื่องจากบริษัทไม่มีการกู้ยืม มีแต่หนี้สินหมุนเวียน จากเจ้าหนี้การค้า และค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ซึ่งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการค้าตามข้อตกลงแต่ละราย เป็นลูกหนี้ที่ดี จ่ายชําระหนี้ตรงตามเงื่อนไข

มีนโยบายในการกำหนดระยะเวลา การให้สินเชื่อการค้า (เครดิตเทอม) แบ่งประเภทการขายคือ 1.ขายเงินสด 2.ขายเครดิต สำหรับผู้ค้าส่งทั่วไป (ยี่ปั๊ว) และขายต่างประเทศ ให้เครดิต 30-45 วัน ส่วนโมเดิร์นเทรด, อุตสาหกรรม ให้เครดิต 60 วัน

ตระกูล “วิญญรัตน์” ถือหุ้นใหญ่ 73.04%

ปัจจุบันตามข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 อันดับแรกของผู้ถือหุ้นใหญ่ พบว่า อันดับ 1-8 ถือโดยตระกูล “วิญญรัตน์” รวมกันจำนวน 73.04% และอันดับ 9 ถือหุ้นโดยบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 3.18% และอันดับ 10 ถือโดยนางจารุดา โพธิอินทะ สัดส่วน 1.57%

ราคาหุ้นรอบ 1 ปี เพิ่มขึ้น 9%

สำหรับราคาหุ้น SAUCE ตั้งแต่ต้นปีถึง 28 เม.ย. 2566 พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.93% มาอยู่ที่ระดับราคา 32.75 บาท โดยปรับตัวขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 33.25 บาท เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 และลงไปทำราคาต่ำสุดที่ 29 บาท เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2566

ทั้งนี้ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น SAUCE ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากว่า 9.09% และใน 5 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น SAUCE ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากว่า 41.92%