“โซนี่” ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ สลัดทิ้งธุรกิจการเงิน โฟกัสเกม-กล้อง

โซนี่
คอลัมน์​ : Market Move

แม้โซนี่จะเป็นที่รู้จักจากธุรกิจแนวเทคโนโลยี อย่างเครื่องเล่นเทปวอล์คแมน ทีวีสีไตรนิตรอน เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นหรือกล้องถ่ายรูปอัลฟ่า

แต่โซนี่เป็นหนึ่งแบรนด์ที่มีธุรกิจหลากหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการเงิน เช่น ประกัน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 หรือกว่า 33 ปีมาแล้ว และมีส่วนสำคัญที่ช่วยพาโซนี่ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่เมื่อปี 2551 มาได้ และสร้างกำไรในสัดส่วน 20% ของกำไรรวมทุกธุรกิจ

ล่าสุด ความเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ตัดสินใจว่าถึงเวลาปรับโครงสร้างธุรกิจ และแยกธุรกิจการเงินออกจากกลุ่มบริษัทหลักเพื่อเปิดช่องให้นำเงินทุนรวมถึงทรัพยากรที่มีไปโฟกัสกับธุรกิจที่สร้างรายได้ได้ดีกว่า เพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น ๆ บนเวทีโลก

สำนักข่าว นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า โซนี่มีความเคลื่อนไหวในการเตรียมแยก Sony Financial Group หรือธุรกิจการเงินออกจากเครือบริษัทหลัก และนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

“ฮิโรคิ โทโทคิ” ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของโซนี่ อธิบายการตัดสินใจนี้ว่า บริษัทพยายามจะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และการต้องจัดสรรงบประมาณของ 3 ธุรกิจระหว่างธุรกิจการเงินที่ไม่ค่อยเติบโตกับอีก 2 ธุรกิจที่เติบโตดี อย่างธุรกิจบันเทิงและธุรกิจผลิตเซ็นเซอร์กล้องดิจิทัล

ธุรกิจการเงินของโซนี่มีประวัติที่น่าสนใจ โดย “อะคิโอ โมริตะ” ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี่ ตั้งหน่วยธุรกิจการเงินนี้ขึ้นเมื่อปี 2522 หรือเมื่อ 33 ปีก่อน และเริ่มให้บริการด้านประกันชีวิต ก่อนจะขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์และบริการไปยังประกันภัยและธนาคารในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มต้นไม่สวยนัก แต่ ณ จุดหนึ่งธุรกิจการเงินกลับกลายเป็นเครื่องจักรที่สร้างรายได้อย่างมั่นคงให้โซนี่ และช่วยพยุงเครือยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ในช่วงที่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ประสบปัญหาหนักในช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อช่วงปี 2553

ธุรกิจนี้เคยซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นมาก่อนจนถึงเมื่อปี 2563 ซึ่งโซนี่ทุ่มเงินถึง 4 แสนล้านเยน หรือหากเทียบเป็นค่าเงินปัจจุบันจะสูงถึง 9.98 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นคืนเพื่อนำธุรกิจออกจากตลาด เนื่องจาก “เคนอิจิโระ โยชิดะ” ประธานบริษัทในขณะนั้นวางโพซิชั่นให้ธุรกิจการเงินเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของบริษัท

ปัจจุบันธุรกิจการเงินกลับไปมีผลงานไม่ดีนักอีกครั้ง โดยปีงบฯที่ผ่านมารายได้ลดลง 5% เป็น 1.45 ล้านล้านเยน ส่วนกำไรจากการดำเนินงานแม้จะเติบโตสูงถึง 49% มาอยู่ที่ 2.23 แสนล้านเยน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของกำไรรวมของกลุ่มบริษัท แต่เป็นผลจากการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้พิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ไม่ใช่ผลจากการดำเนินงานปกติ

นอกจากนี้ ในขณะที่ธุรกิจการเงินต้องการเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในแต่ละปี เนื่องจากจำเป็นต้องอัพเกรดระบบไอทีในขณะที่ต้องรักษาความมั่นคงของธุรกิจไปพร้อมกัน แต่กลับไม่สามารถหาจุดร่วมหรือสร้างความร่วมมือกับธุรกิจอื่นในเครือ อย่างธุรกิจบันเทิงหรือธุรกิจผลิตเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องดิจิทัล

แนวคิดการแยกธุรกิจการเงินออกจากกลุ่มธุรกิจเคยมีการเสนอมาหลายครั้งในช่วงปี 2545-2546 แต่แผนถูกพับไปก่อน แต่ขณะเดียวกันโซนี่ลดสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจการเงินลงนับตั้งแต่นำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อปี 2550 ก่อนจะทยอยซื้อหุ้นกลับมาอีกครั้งจนถึงจุดที่สามารถนำออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯได้ หวังช่วยหนุนแผนรุกธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน

ตามแผนธุรกิจในปัจจุบัน โซนี่ไม่เน้นการประสานความร่วมมือแบบข้ามหน่วยธุรกิจแล้ว พร้อมหันเน้นโฟกัสการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในแต่ละหน่วยธุรกิจแทน สะท้อนจากระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานของ “เคนอิจิโระ โยชิดะ” ช่วงปี 2561-2565 โซนี่ลงทุนมากถึง 1.2 ล้านล้านเยนไปในด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น วิดีโอเกม ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งรวมถึงการผลิตเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องดิจิทัล ขณะเดียวกันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมายังย้ายการปฏิบัติงานด้านวิจัยพัฒนาจากส่วนกลางไปอยู่กับแต่ละหน่วยงานแทน

ตัวอย่างความสำเร็จของการลงทุนนี้ เช่น ธุรกิจบันเทิงที่ประสบความสำเร็จสูงทั้งเกมและภาพยนตร์โทรทัศน์ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง The Last of Us ที่ดัดแปลงจากเกมชื่อเดียวกันซึ่งได้รับการตอบรับล้นหลามเมื่อฉายผ่านสตรีมมิ่ง HBO และธุรกิจผลิตเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องดิจิทัลที่มีดีมานด์จากทั้งลูกค้าภายนอกและธุรกิจกล้องของโซนี่เอง

การตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางนี้เชื่อว่าเป็นผลจากความสามารถในการแข่งขันที่แม้จะสูงสำหรับบริษัทญี่ปุ่น แต่ยังตามหลังคู่แข่งต่างชาติอยู่มาก เห็นได้จากรายได้ที่แม้โซนี่จะทำรายได้รวมทั้งกลุ่มถึง 11 ล้านล้านเยน แต่ซัมซุงของเกาหลีใต้ และไมโครซอฟท์ของสหรัฐต่างทำรายได้สูงกว่าโซนี่เกิน 2.5 เท่า

อีกหนึ่งปัจจัยหนุนการตัดสินใจปรับโครงสร้างนี้มาจากกฎหมายภาษีใหม่ของญี่ปุ่นซึ่งเริ่มใช้เมื่อปีงบฯ 2566 ที่อนุญาตให้บริษัทเอกชนสามารถใช้การแยกหน่วยธุรกิจออกไปเป็นบริษัทย่อย มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ หากบริษัทถือหุ้นในบริษัทย่อยที่แยกออกไปต่ำกว่า 20% แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อบริษัทแม่ไม่ถือหุ้นบริษัทย่อยเลยเท่านั้น

หากแผนแยกธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ โซนี่จะเป็นบริษัทแรกในญี่ปุ่นที่ใช้สิทธิตามกฎหมายใหม่นี้