เซ็น กรุ๊ป เผย “ลาวญวนโฉมใหม่”-แผนปูพรมสาขา หนุนยอดทานอาหารในร้าน ด้านธุรกิจค้าปลีกไม่น้อยหน้าโตกระฉูด 40% แซงทุกบียู หลังคิง มารีน ฟู้ดส์ ขยายคลังโกยออร์เดอร์เพิ่ม ดันรายได้รวมปี 2566 โต 532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เป็น 3,945 ล้านบาท
วันที่ 6 มีนาคม 2567 ยุพาพรรณ เอกสิทธิกุล กรรมการบริหารและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 3,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 532 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 16% จากปี 2565 และบริษัทมีกำไรสุทธิรวมทั้งกลุ่มบริษัท 177 ล้านบาท หลังช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้รวม 1,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116 ล้านบาท หรือ 12% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุของการเติบโตนี้มาจาก 2 ปัจจัยคือ การเพิ่มขึ้นของรายได้จากช่องทางรับประทานอาหารที่ร้าน และรายได้จากธุรกิจค้าปลีก
รีแบรนด์ลาวญวนได้ผล
โดยการเปิดร้านอาหารสาขาใหม่ และการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ลาวญวนตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายสำหรับร้านอาหารในเครือ ทำให้มีจำนวนลูกค้าเข้ามารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น ผลักดันรายได้จากช่องทางนี้เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งในไตรมาส 4 ปี 2566 ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2565 จำนวน 59 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8% และรายได้ทั้งปี 2566 เพิ่มขึ้น 474 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19%
สำหรับช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 บริษัทเปิดร้านอาหารใหม่รวม 24 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 18 สาขา สาขาแฟรนไชส์ในประเทศ 5 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ต่างประเทศ 1 สาขา หากนับรวมทั้งปี 2566 บริษัทเปิดร้านอาหารใหม่จำนวนทั้งหมด 57 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 38 สาขา สาขาแฟรนไชส์ในประเทศ 17 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ต่างประเทศ 2 สาขา
ทำให้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทมีสาขาร้านอาหารทั้งสิ้น 341 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง 182 สาขา สาขาแฟรนไชส์ในประเทศ 149 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ต่างประเทศ 10 สาขา
ค้าปลีกอาหารรายได้พุ่ง
ส่วนธุรกิจค้าปลีกเครื่องปรุงรสและธุรกิจค้าปลีกอาหารทะเลแช่แข็งและวัตถุดิบในการปรุงอาหารเติบโตโดดเด่น เนื่องจากบริษัท คิง มารีน ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ขยายคลังสินค้าเพื่อรองรับยอดสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากฐานลูกค้าที่ขยายมากขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนเพิ่มกำลังผลิต ทำให้ไตรมาส 4 ธุรกิจค้าปลีกเติบโตขึ้นกว่า 72% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนทั้งปี 2566 ธุรกิจค้าปลีกมีรายได้เพิ่มขึ้น 156 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 40%
การเติบโตของทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจนี้ทำให้สินปี 2566 สัดส่วนรายได้ของบริษัทแบ่งเป็น
- ช่องทางรับประทานอาหารที่ร้าน 2,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 474 ล้านบาท หรือ 19%
- ธุรกิจอาหารค้าปลีก 546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156 ล้านบาท หรือ 40%
- การขายวัตถุดิบให้กับแฟรนไชส์ 127 ล้านบาท ลดลง 27 ล้านบาท หรือ -18%
- ช่องทางให้บริการจัดส่งอาหาร 176 ล้านบาท ลดลง 76 ล้านบาท หรือ -30%
- การให้สิทธิแฟรนไชส์ 83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 ล้านบาท หรือ 6%