“เซ็น กรุ๊ป” กางแผนขยายสาขาปักหมุดเมืองท่องเที่ยว

ร้านอาหาร

“เซ็น กรุ๊ป” ทุ่มงบฯ เร่งสปีดเปิดสาขาเพิ่ม ลุยทั้งลงทุนเอง-แฟรนไชส์ ทั้งไทยและต่างประเทศ เดินเกมบุกเมืองท่องเที่ยว “สมุย-ภูเก็ต-หัวหิน” พร้อมโฟกัสธุรกิจค้าปลีกเชิงพาณิชย์ ลุยการรับจ้างผลิต-เพิ่มดีกรีนำเข้าวัตถุดิบอาหาร ช่วยลดต้นทุน-ขยายฐานเจาะลูกค้าสายการบิน-โฮเรก้า

นางยุภาพรรณ เอกสิทธิ์กุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบัญชีและการเงิน ร่วมกับนางนฤมล กิตติโชติรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเซ็น กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น อาทิ เซ็น, อากะ, ออนเดอะเทเบิ้ล ร้านอาหารไทย ตำมั่ว ลาวญวน เขียง ฯลฯ เปิดเผยในงาน Opportunity Day (23 มิ.ย.)

ถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 913 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากการขยายสาขาและการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารและรายได้จากธุรกิจค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น 41% และ 58% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของบริษัทหลัก ๆ มาจากธุรกิจร้านอาหาร 77% รองลงไปคือธุรกิจค้าปลีกเชิงพาณิชย์ 11% ธุรกิจแฟรนไชส์ 6% และธุรกิจดีลิเวอรี่ 5% และไตรมาส 1/2566 ได้เปิดร้านอาหารใหม่ 5 สาขา เป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 2 สาขา และแฟรนไชส์ 3 สาขา ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 มีจำนวนสาขาร้านอาหารรวม 339 สาขา เป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของ 157 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 182 สาขา หรือคิดเป็นสัดส่วน 46/54

สำหรับแนวทางการดำเนินงานจากนี้ไป สำหรับธุรกิจร้านอาหาร หลัก ๆ จะยังมุ่งขยายสาขาของแบรนด์ต่าง ๆ ในเครืออย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบประมาณ 230-250 ล้านบาท โดยทั้งปีตั้งเป้าเปิดสาขาที่เป็นการลงทุนเองประมาณ 40 สาขา และแฟรนไชส์ประมาณ 15-20 สาขา จากตอนนี้ (มิ.ย.) ที่เปิดไปแล้วประมาณ 14 สาขา เป็นการลงทุนของบริษัท 7 สาขา และแฟรนไชส์ 7 สาขา

Advertisment

โดยเฉพาะการขยายไปใน strategic locations เช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ต เชียงใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวหลังจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น การเปิดร้านอาหารที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พัทยา ที่มีแผนจะเปิด 5 แบรนด์ ด้วยงบประมาณ 25 ล้านบาท, มหาชัยจะเปิด 3 แบรนด์ ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล ด้วยงบฯราว ๆ 20 ล้านบาท

เช่นเดียวกับราชพฤกษ์ ที่จะเปิดในศูนย์การค้าเซ็นทรัล 3 แบรนด์ ด้วยงบฯ 20 ล้านบาท ขณะที่สมุย (สุราษฎร์ธานี) ภูเก็ต และหัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) มีแผนที่จะเปิด 1 สาขา นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับโมเดลการเปิดร้าน ด้วยการเปิดเป็นร้านที่มีขนาดเล็กลง เพื่อให้เหมาะกับการเปิดให้บริการในอาคารสำนักงาน หรือคอมมิวนิตี้มอลล์

ส่วนอากะที่เป็นแบรนด์หลัก ตั้งเป้าภายในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 14 สาขา โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะเปิดอีก 10 สาขา จากช่วงครึ่งปีแรกที่เปิดไปแล้ว 4 สาขาคือ โลตัส คลองหลวง, โลตัส อมตะ, เซ็นทรัล ระยอง และซีคอน บางแค ขณะที่ร้านอาหารเซ็น จะเน้นการให้บริการทั้งในลักษณะที่เป็นไฮบริด มีทั้งบริการที่เป็นอะลาคาร์ต และบุฟเฟต์

หรือในส่วนของร้านออนเดอะเทเบิ้ล การเปิดร้านใหม่จะมีการเปิดร้านชา (Tea Bar) เสริมเข้าไป เพื่อตอบโจทย์และเพิ่มความหลากหลาย ขณะเดียวกัน ทีบาร์ก็ยังช่วยในแง่ของการเพิ่มการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (same store sales growth & SSSG) ได้ด้วย

Advertisment

ขณะที่แบรนด์อื่น ๆ เช่น ตำมั่ว ที่ผ่านมาเปิดแฟรนไชส์ในมาเลเซียเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ลูกค้าชาวมาเลเซียให้การตอบรับที่ดี นอกจากนี้ ก็มีการ collaborate กับ CP และเซเว่นอีเลฟเว่น นำไก่ทอดโบราณสูตรแม่น้อย เมนูยอดนิยมของร้านตำมั่ว “ซีพี ชิคเก้นริบโบราณ สูตรแม่น้อย” วางจำหน่ายในร้านเซเว่นฯ

ส่วนลาว ญวณจะมีการรีเฟรชแบรนด์ใหม่ ปีนี้คาดว่าจะเห็นการเติบโตมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและต้นปีหน้า ขณะที่เขียง ช่วงนี้อยู่ระหว่างการปรับรูปให้สอดรับกับสถานการณ์ เนื่องจากที่ผ่านมายอดดีลิเวอรี่อาจจะลดลง ขณะที่สาขาที่เปิดในอาคารสำนักงานสามารถทำยอดได้ดีจากการกลับมาทำงานของพนักงานออฟฟิศ

หลังจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เปิดร้านออนเดอะเทเบิ้ล ที่เป็นแฟรนไชส์ที่กัมพูชาก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดเขียง ที่มาเลเซีย (แฟรนไชส์) ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 หรือ 4 นี้ และจากนี้ไปจะขยายไปต่างประเทศมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็คือ การพัฒนา ready to cook เพื่อที่จะตอบโจทย์ให้กับการดำเนินงานหลังบ้านให้กับแฟรนไชส์เพื่อที่จะให้สะดวกในแง่ของการดำเนินงานมากขึ้น และโปรดักต์ก็จะมีความเป็นสแตนดาร์ดมากขึ้น

“ส่วนธุรกิจค้าปลีกเชิงพาณิชย์ จะโฟกัสการรับจ้างผลิตเพื่อการส่งออก ผ่านบริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด โดยเน้นการผลิตพวกซอสต่าง ๆ ให้กับเซ็น กรุ๊ป เพื่อที่จะลดต้นทุน เช่นเดียวกับ บริษัท คิง มารีน ฟู้ดส์ จำกัด ผู้นำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ปลาแซลมอน หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์

หลังจากที่ทำแวร์เฮาส์และห้องแช่เย็นเสร็จแล้ว ก็จะทำให้มี facility มากขึ้น และช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น และคาดว่าจะมีลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มทั้งในส่วนของสายการบินและกลุ่มโฮเรก้า ขณะเดียวกัน ก็จะมองหาธุรกิจใหม่ที่บริษัทจะเข้าไป M&A เพื่อมาช่วย synergy และสร้างการเติบโตให้กับบริษัท”