
เปิดประวัติฮาตาริ (HATARI) พัดลมแบรนด์ไทย รายได้หลักพันล้านบาทต่อปี และการปรับโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 34 ปี
“พัดลม” อุปกรณ์คลายร้อนประจำบ้านที่มีในทุกครัวเรือนของไทย และ “ฮาตาริ (HATARI)” มักเป็นหนึ่งในแบรนด์พัดลมที่อยู่ประจำบ้าน ร้านค้า ร้านอาหาร และอยู่ในใจของใครหลายคน ด้วยรูปแบบและดีไซน์ที่หลากหลาย
ขณะเดียวกัน “ฮาตาริ” ซึ่งโลดแล่นอยู่ในตลาดพัดลมเมืองไทยมานาน 34 ปีแล้ว ตัดสินใจรีแบรนด์ใหญ่ ทั้งแนวคิดการพัฒนา จนถึงดีไซน์ของสินค้า แม้จะครองตำแหน่งเบอร์ 1 ของตลาดพัดลมแล้วก็ตาม
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักแบรนด์พัดลมสัญชาติไทยแบรนด์นี้ให้มากขึ้น
จุดเริ่มต้น “ฮาตาริ”
จุดเริ่มต้นของ “ฮาตาริ” เริ่มต้นจาก นายจุน วนวิทย์ ซึ่งผ่านการทำงานหลากหลาย ตั้งแต่การเป็นลูกจ้าง ช่างทำทอง ช่างทำแม่พิมพ์สำหรับฉีดพลาสติก และได้ต่อยอดความรู้การฉีดพลาสติก สู่การผลิตโครงพัดลมพลาสติก เสนอขายให้โรงงานผลิตพัดลม ซึ่งในอดีตยังใช้โครงพัดลมแบบอะลูมิเนียม
ต่อมาได้ไปเรียนรู้การพันมอเตอร์ที่ไต้หวัน จึงต่อยอดองค์ความรู้ เป็นผู้ผลิตพัดลมที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกทั้งหมด และออกจำหน่ายของตัวเอง โดยช่วงแรกใช้ยี่ห้อว่า K และ TORY
ปี 2533 จุน วนวิทย์ และสุนทรี วนวิทย์ เปิดบริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด เพื่อผลิตพัดลมภายใต้แบรนด์ “ฮาตาริ (HATARI)” ที่คนไทยหลายคนคุ้นเคยจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ฮาตาริอยู่ภายใต้การบริหารหลักของทายาทรุ่นที่ 2 คือ ศิริวรรณ พานิชตระกูล และวิทยา พานิชตระกูล พร้อมด้วยทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งพัฒนาทั้งดีไซน์ สีสัน จนถึงการสื่อสารการตลาด จนทำให้ฮาตาริเป็นที่รู้จักของหลาย ๆ ครัวเรือน
โดยปัจจุบัน ฮาตาริมีสินค้าพัดลมให้ความเย็นทั้งแบบใช้ภายในอาคาร ที่พักอาศัย และใช้งานในระดับอุตสาหกรรม พัดลมระบายอากาศ เครื่องฟอกอากาศ และพัดลมไอเย็น Air Cooler
ขณะที่ข้อมูลเมื่อปี 2566 ระบุว่า ตลาดพัดลมในไทยเมื่อปี 2566 มีขนาดประมาณ 10 ล้านตัวต่อปี โดยฮาตาริมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 70% หรือคิดเป็นยอดขาย 7-7.5 ล้านตัว/ปี
ความต้องการพัดลมเปลี่ยนแปลงไป
ชัญญา พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการขายและการตลาด บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด เปิดเผยว่า แม้จะครองส่วนแบ่ง 70% แต่ทีม R&D ที่วิจัยและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงเทรนด์ต่าง ๆ ในตลาดพบว่า ความต้องการพัดลมมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในหลายด้าน ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เช่น ดีไซน์ของพัดลม การใช้งาน คุณภาพ
เมื่อรวมกับการครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 70% ทำให้การเติบโตในรูปแบบเดิม ๆ เริ่มท้าทายมากขึ้น จึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะรีแบรนด์ใหม่ ให้สอดคล้องกับดีมานด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมกับเปิดตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว
โดยการรีแบรนด์ครั้งนี้ ชัญญาให้รายละเอียดว่า จะพลิกโฉมสินค้าทั้ง 70 SKU ในพอร์ตโฟลิโอ พร้อมเปิดตัวสินค้าใหม่ที่แบรนด์ไม่เคยมีมาก่อน ในราคาที่ยังจับต้องง่าย
โดยสินค้าใหม่จากนี้ รวมถึงสินค้าที่จะปรับดีไซน์ใหม่ เน้นจุดเด่นที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค Gen Y และ Gen Z ทั้งด้านดีไซน์มินิมอล และสีสันที่เน้นความเรียบหรู เช่น ขาว-ดำ และพาสเทล เข้ากับสไตล์การตกแต่งบ้านในปัจจุบัน และฟังก์ชั่นซึ่งเน้นความสะดวกในการใช้งาน และสามารถใช้งานได้หลายสถานการณ์
รวมถึงเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ เช่น เปลี่ยนแผ่นปิดใต้ฐานพัดลมจากวัสดุเดิมซึ่งรีไซเคิลไม่ได้เป็นพลาสติก เป็นต้น จนถึงสินค้าอื่น ๆ ซึ่งฮาตาริจะทยอยเปิดตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2569
พัฒนาสินค้าภายใต้ Design Value
ชัญญากล่าวว่า การพัฒนาสินค้าจะอยู่ภายใต้ Design Value 4 ส่วน ประกอบด้วย “Form” รูปลักษณ์ภายนอก, “Details” รายละเอียดผลิตภัณฑ์, “CMF” (Colour, Material and Finish) สีและวัสดุ, และ “Interaction” ความรู้สึกที่ผู้บริโภคมีต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพในราคาเข้าถึงทุกครอบครัว
ก่อนหน้านี้ ฮาตาริ ร่วมมือกับ Habits Design Studio สตูดิโอชั้นนำจากอิตาลี ในการพัฒนาดีไซน์พัดลม ให้ตอบโจทย์ Modern Living มาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี โดยสะท้อนผ่าน 4 แกนหลัก ได้แก่ รูปร่าง, การออกแบบที่ใส่ใจรายละเอียด, คัดสรรวัสดุ, สี, การประกอบ และตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ดังนี้
FORM (พัฒนารูปร่าง)
- Sturdy Elegance : ปรับเปลี่ยนภาพรวมของพัดลมให้ดูสวยงาม โมเดิร์น และทรงพลังขึ้น
- Soften Geometry : เพิ่มความโค้งมนให้กับทุกรายละเอียด ทั้งเรื่องตัวพัดลม ใบพัด หรือแม้กระทั่งปุ่ม
- Sculpted Purpose : ทำมาเพื่อให้เข้ากับทุกสไตล์ของบ้าน และตอบโจทย์ Modern Living
DETAIL (ใส่ใจรายละเอียด)
- Honest Construction : รวมวิศวกรรมเข้ากับดีไซน์ เพื่อสร้างความสุขทุกการใช้งาน
- Powerful Potential : เพิ่มศักยภาพแรงลมด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เราภูมิใจ
CMF : COLOR MATERIAL FINISH (คัดสรรวัสดุ, สี, การประกอบ)
- Lively Precision : โดดเด่นไม่ว่าจะวางในตำแหน่งไหนของบ้าน
- Calm Precision : พรีเมี่ยมด้วยสี รูปทรง และผิวสัมผัส ไม่ต่างจากงานศิลปะชั้นเอก
- Precise Utility : ทุกเฉดสีคิดมาเพื่อเข้ากับทุกสภาพแวดล้อม
INTERACTION (ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน)
- Delightful Reassurance : สร้างความสุขทุกครั้งที่ใช้ ผ่านอินเตอร์เฟซการสัมผัส ฟังก์ชั่น และเพอร์ฟอร์แมนซ์ของพัดลม เพื่อตอบโจทย์ Modern Living ของคนรุ่นใหม่ และทุกเจเนอเรชั่น
นอกจากการปรับดีไซน์ใหม่แล้ว ฮาตาริจะยังมีสินค้าในรูปแบบเดิมเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าเดิมด้วยเช่นกัน โดยจะวางจำหน่ายในช่องทางร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบดั้งเดิม และไฮเปอร์มาร์เก็ต
เปิดรายได้ธุรกิจ “ฮาตาริ”
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด ประกอบธุรกิจการขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือน เช่น พัดลม เครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้า จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2533 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 5,000,000 บาท
โดยผลประกอบการในช่วงปี 2562-2566 เป็นดังนี้
ปี 2562
- รายได้รวม 6,520,769,360.94 บาท
- รายจ่ายรวม 6,442,780,091.36 บาท
- กำไรสุทธิ 58,595,485.60 บาท
ปี 2563
- รายได้รวม 6,240,236,344.24 บาท
- รายจ่ายรวม 6,145,447,195.90 บาท
- กำไรสุทธิ 73,837,658.72 บาท
ปี 2564
- รายได้รวม 6,336,193,438.58 บาท
- รายจ่ายรวม 6,249,441,818.67 บาท
- กำไรสุทธิ 65,821,884.79 บาท
ปี 2565
- รายได้รวม 6,008,205,227.02 บาท
- รายจ่ายรวม 5,945,666,128.51 บาท
- กำไรสุทธิ 45,859,142.20 บาท
ปี 2566
- รายได้รวม 7,105,220,195.07 บาท
- รายจ่ายรวม 7,053,583,342.32 บาท
- กำไรสุทธิ 37,662,964.57 บาท
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับพัดลมฮาตาริ คือ
บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2528 ประกอบธุรกิจการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทผลิตความร้อนด้วยไฟฟ้า ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 400,000,000 บาท
ปี 2562
- รายได้รวม 4,857,811,530.30 บาท
- รายจ่ายรวม 4,340,135,166.07 บาท
- กำไรสุทธิ 402,108,825.18 บาท
ปี 2563
- รายได้รวม 5,270,406,291.32 บาท
- รายจ่ายรวม 4,509,173,143.53 บาท
- กำไรสุทธิ 603,899,494.51 บาท
ปี 2564
- รายได้รวม 5,774,766,880.63 บาท
- รายจ่ายรวม 4,960,602,582.42 บาท
- กำไรสุทธิ 645,645,044.65 บาท
ปี 2565
- รายได้รวม 5,519,250,519.12 บาท
- รายจ่ายรวม 4,946,072,700.94 บาท
- กำไรสุทธิ 445,709,268.08 บาท
ปี 2566
- รายได้รวม 5,641,536,052.69 บาท
- รายจ่ายรวม 5,134,175,089.89 บาท
- กำไรสุทธิ 385,647,069.49 บาท
บริษัท ฮาตาริ อีคอมเมิร์ซ จำกัด
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ประกอบธุรกิจการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต สินค้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้เเละอุปกรณ์ไฟฟ้า เเละอื่น ๆ ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 2,000,000 บาท
ปี 2562
- รายได้รวม 746.28 บาท
- รายจ่ายรวม 192,323.82 บาท
- ขาดทุนสุทธิ 191,577.54 บาท
ปี 2563
- รายได้รวม 10,786,251.34 บาท
- รายจ่ายรวม 9,111,636.96 บาท
- กำไรสุทธิ 1,496,978.62 บาท
ปี 2564
- รายได้รวม 7,805,204.84 บาท
- รายจ่ายรวม 6,051,429.60 บาท
- กำไรสุทธิ 1,535,561.79 บาท
ปี 2565
- รายได้รวม 5,946,630.48 บาท
- รายจ่ายรวม 4,533,810.36 บาท
- กำไรสุทธิ 1,245,842.74 บาท
ปี 2566
- รายได้รวม 6,410,372.04 บาท
- รายจ่ายรวม 5,129,834.29 บาท
- กำไรสุทธิ 1,132,991.91 บาท
เป้าหมายต่อไป “ฮาตาริ” โกอินเตอร์
นอกจากการรีแบรนด์ใหม่ของฮาตาริ ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้แล้ว ฮาตาริยังเตรียมขยายตลาดส่งออกมากขึ้น ราว 10% โดยโฟกัสประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เป็นต้น
เนื่องจากปัจจัยทางภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าทุกปี และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงกันกับไทย รวมถึงความชื่นชอบและเชื่อถือสินค้าแบรนด์ไทยที่สูง ล้วนส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตทางธุรกิจ
ขณะเดียวกัน ฮาตาริจะปรับการทำตลาดให้แอ็กทีฟขึ้น ผ่านแคมเปญสื่อสารองค์กร “Shaped By Wind #พัดไทยให้ไกลกว่าเดิม” ผ่านฮีโร่ของคนไทยในหลากหลายสาขาอาชีพ โดยฮาตาริเชื่อว่าการรีแบรนด์และทัพสินค้าดีไซน์ใหม่ รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาดที่แอ็กทีฟขึ้น จะทำให้ปี 2567 มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นราว 10% เมื่อเทียบกับยอดขายเมื่อปี 2566