
แม้ภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวไทยปี 2568 อาจเติบโตชะลอตัวเพียง 2-4% จากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันสูง แต่ “เป๊ปซี่โค ประเทศไทย” ยังมั่นใจในศักยภาพ พร้อมเดินหน้าจัดแคมเปญใหญ่ “Master of Joy” ฉลองครบรอบ 30 ปีแบรนด์ “เลย์” ด้วยกลยุทธ์ Hyper-Personalization ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม พร้อมเปิดตัวรสชาติยอดนิยม “ลาบทอด-กะเพรากรอบ” หวนคืนตลาด
ขณะที่แบรนด์ “ตะวัน-ซันไบทส์-ชีโตส-โดริโทส-ทวิสตี้” ก็ยังคงมุ่งสร้างความแปลกใหม่ในตลาดต่อเนื่อง ไม่หวั่นแม้จะมีปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจ แข่งขันสูง ภาษีความเค็ม ฯลฯ แต่เชื่อมั่นว่าทุกปีจะมีอัตราการเติบโตเหนือกว่าตลาด
บูม 30 ปี “เลย์ ประเทศไทย”
“ชลกร อภิชาติธรรม” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยว บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือเป๊ปซี่โค ประเทศไทย เผยว่า ภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยในปี 2568 อาจจะเติบโตชะลอตัว โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปีนี้ตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตลดลงอยู่ที่ 2-4% จากปีก่อนหน้ามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6%
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาสินค้าที่ให้ความคุ้มค่ามากขึ้น โดยเฉพาะการมองหาสินค้าที่มีโปรโมชั่น ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจำนวนผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาในตลาด จึงทำให้ภาพรวมตลาดอาจจะมีการชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ “เป๊ปซี่โค ประเทศไทย” ยังคงมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ โดยในปี 2568 ถือเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะแบรนด์ “เลย์” ที่ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์หลักของบริษัท ที่ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยครบรอบ 30 ปี
บริษัทจึงวางแผนจัดแคมเปญทางการตลาดต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทำการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพนักงาน คู่ค้า และเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งให้กับบริษัทด้วยเช่นกัน
นำ 2 รสชาติเก่าหวนคืนตลาด
โดยธีมหลักของการดำเนินงานด้านผลิตภัณฑ์ในปีนี้ของ “เลย์” เบื้องต้นจะเน้นชูจุดแข็งในเรื่องของรสชาติที่อร่อยถูกปากผู้บริโภค โดยเน้นการรับฟังเสียงของผู้บริโภคเป็นหลัก พร้อมทั้งจะมุ่งเน้นการทำตลาดแบบ Hyper-Personalization หรือการเข้าถึงผู้บริโภคในระดับที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการสื่อสารและผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม
“ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราก็ได้มีการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ด้วยการเปิดโหวตรสชาติเลย์ที่คิดถึงมากที่สุด ซึ่งผลสำรวจพบว่า 2 รสชาติที่ถูกโหวตมากที่สุดคือ รสไข่เค็ม และรสชีสและหัวหอม ทำให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงได้มีการนำเอา 2 รสชาตินี้กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้งตามคำเรียกร้องของผู้บริโภค ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”
ล่าสุด “เลย์” ยังคงเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จด้วยการเปิดตัวแคมเปญ “Master of Joy” ที่ถือเป็นซีรีส์ต่อจากแคมเปญ “Master of Flavor” ในการนำเอารสชาติที่ทุกคนต่างถามถึงในโซเชียลมีเดีย อย่าง “รสลาบทอด” และ “รสกะเพรากรอบ” กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 เมษายน 2568 โดยจะใช้งบฯการตลาดประมาณ 50% ของงบฯการตลาดทั้งหมด
โดยแคมเปญใหม่นี้จะเน้นการสร้างความสุขให้กับผู้บริโภคทุกเจเนอเรชั่น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่ถือเป็นหนึ่งกลุ่มสำคัญที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการทำการตลาด ผ่านกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งออนไซต์และออนไลน์
รวมถึงการให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการสะสมแต้มจากการสแกนคิวอาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์เลย์ เพื่อแลกรับของรางวัลสุดเอ็กซ์คลูซีฟจากเลย์และ B21 หนึ่งในแคแร็กเตอร์ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในไลน์ ซึ่งจะดำเนินไปเป็นระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน
“เราเรียนรู้จากผู้บริโภคว่าพวกเขาต้องการที่จะได้รับความสุขและมีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้บ่อยครั้ง มากกว่าที่จะรอคอยรางวัลใหญ่เพียงไม่กี่รางวัลในช่วงสิ้นปี ดังนั้นแคมเปญของเราในปีนี้จึงเน้นการมอบความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคในระยะยาว”
ขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ในเครือเป๊ปซี่โค ประเทศไทย เช่น ตะวัน เบื้องต้นในปีนี้จะเน้นนำเสนอรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค เช่น รสน้ำพริกหนุ่ม รสยำแซลมอน รสกุ้งกรอบ และรสปลาหมึก
ส่วน “ซันไบทส์” จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ด้วยผลิตภัณฑ์อบกรอบที่ไม่ทอดและมีโซเดียมลดลง ขณะที่ ชีโตส โดริโทส และทวิสตี้ จะยังคงเป็นแบรนด์หลักที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทีน โดยเฉพาะโดริโทส ที่เน้นความแปลกใหม่และความตื่นเต้น
ตั้งรับ “ภาษีความเค็ม” นานแล้ว
“ชลกร” บอกด้วยว่า สำหรับความท้าทายในส่วนของผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีความเค็มนั้น เบื้องต้นมองว่าบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของเราไม่ได้มีปริมาณโซเดียมเกินเกณฑ์ที่กำหนด
และยังมีทางเลือกเพื่อสุขภาพอย่าง เลย์ไลท์ ซันไบทส์ และแครกเกอร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อบ ไม่ทอด และมีโซเดียมลดลง ดังนั้นจึงไม่ได้มีความกังวลมากนักกับการที่จะปรับขึ้นภาษีความเค็ม
รวมถึงจากการที่บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนภาคการผลิตและเกษตรกรไทย โดย 70% ของมันฝรั่งที่ใช้ในการผลิตมาจากเกษตรกรไทย ทำให้ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับราคาวัตถุดิบที่จะปรับขึ้น โดยในปีนี้ยังคงยืนยันที่จะไม่ปรับขึ้นราคา
มั่นใจเติบโตได้สูงกว่าตลาดทุกปี
สำหรับแนวโน้มในระยะยาวนั้น “ชลกร” บอกว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และช่องทางการส่งออก ที่ปัจจุบันมีการส่งออกไปยัง 14 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์
และผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกส่วนใหญ่คือ เลย์ สแตคส์ และตะวัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีในตลาดต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพอร์ตโฟลิโอ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น
โดยในปี 2568 แม้จะมีปัจจัยด้านการแข่งขัน และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่มองว่าด้วยความแข็งแกร่งของแบรนด์เลย์ และแบรนด์อื่น ๆ ในเครือ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำตลาดและสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตให้สูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดโดยรวมในทุก ๆ ปี