บริษัทจีน ป่วนตลาดโลก จดเครื่องหมายการค้า…ดักหน้าคู่แข่ง

คอลัมน์ MARKET MOVE

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อสิทธิ์ในการใช้ชื่อแบรนด์ นับเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะรายที่ต้องการขยายตลาดออกนอกประเทศบ้านเกิด ทำให้ที่ผ่านมาแบรนด์สินค้า-บริการมักยื่นจดทะเบียนในตลาดหลัก ๆ ของโลกอย่าง ยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน ไว้ล่วงหน้าเพื่อรักษาสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวล่าสุด ธุรกิจจีนจำนวนมากแห่ยืนจดทะเบียนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 4-8 เท่าตัว ได้สร้างความกังวลให้กับหน่วยงานและผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งด้านการรับมือกับคำขอจำนวนมากในเวลาสั้น ๆ และเจตนาที่แท้จริงของผู้ยื่นขอ ซึ่งยังเป็นที่น่าสงสัย

สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้ประกอบการจีนจำนวนมากแห่ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป เพิ่มขึ้นในระดับ 4-8 เท่าตัว สร้างความตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ซึ่งต้องรับมือกับจำนวนคำขอมหาศาล

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐที่ได้รับคำขอจดทะเบียนกว่า 50,000 รายการ ในช่วง 9 เดือนของปี 2560 เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากปี 2557 เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป ซึ่งปี 2560 มีการขอจดทะเบียนจากผู้ประกอบการจีนเพิ่มขึ้น 4 เท่า ส่วนญี่ปุ่นได้รับคำขอจำนวน 8,464 ราย เพิ่มขึ้น 5 เท่า ทำให้จีนขึ้นแท่นประเทศที่ยื่นขอจดทะเบียนมากที่สุดในปีที่แล้ว

เป็นผลจากนโยบายใหม่ของรัฐบาลจีนที่บังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2560 ซึ่งหนุนให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกประเทศ ด้วยการสนับสนุนค้าใช้จ่ายบางส่วนให้ โดยในมณฑลเจ้อเจียง จำนวนเงินที่ผู้ประกอบการสามารถเบิกได้คิดเป็น 50% ของค่าใช้จ่ายสำหรับจดทะเบียนในสหรัฐ หรืออียู และ 70% สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่

คลื่นคำขอจดทะเบียนที่ถาโถมเข้าสู่หลายประเทศนี้ สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการและนักวิเคราะห์ซึ่งมองว่า นอกจากจะเป็นการฉายแววถึงการแข่งขันดุเดือดในอนาคตแล้ว นี่ยังอาจเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่มาสร้างความปั่นปวนให้ตลาด และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศ เนื่องจากในอดีตผู้ประกอบการจีนเคยใช้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องมือกีดกันแบรนด์ต่างชาติ ด้วยการชิงตัดหน้าจดทะเบียนชื่อหรือเครื่องหมายการค้าไปก่อน เช่น กรณีแบรนด์ผ้าเช็ดตัว “อิมะบาริ” (Imabari) จากญี่ปุ่น ที่ไม่สามารถจดทะเบียนในจีนได้ เนื่องจากมีผู้ใช้ชื่อนี้แล้ว

นอกจากนี้ นโยบายนี้ได้สร้างปัญหาให้ประเทศปลายทางหลายด้าน โดยเฉพาะความล่าช้าจากปริมาณงานที่พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด และยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจผิดเพี้ยนไป เพราะจากการตรวจสอบของหลายประเทศ เช่น สหรัฐ พบว่าคำขอจำนวนมากมาจากธุรกิจขนาดเล็ก หรือผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่ไม่มีตัวตนจริง เห็นได้จากหลายรายใช้ภาพผลิตภัณฑ์ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นความพยายามของผู้ประกอบการที่เล็งเบิกเงินอุดหนุนก้อนนี้จากรัฐบาลจีน มากกว่าจะเข้ามาทำธุรกิจจริง

ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้จะได้เห็นคลื่นการรุกตลาดต่างประเทศของแบรนด์จีนครั้งใหญ่หรือไม่ และผู้ประกอบการรวมถึงหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศจะรับมืออย่างไร