“มาม่า-ปุ้มปุ้ย”ปรับสูตรอุตลุด ลดโซเดียมหนีภาษีความเค็ม

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป-ปลากระป๋อง ตื่นภาษีความเค็ม หลังสรรพสามิตปิ๊งไอเดียรีดภาษีเพิ่ม พร้อมทยอยเรียกผู้ประกอบการรับทราบอัตราโซเดียมใหม่ ด้าน “มาม่า” อยู่ระหว่างปรับสูตร แต่ถ้ารสชาติไม่ได้ก็ต้องยอมเสียภาษี ส่วน “ปุ้มปุ้ย” ก็เร่งปรับสูตรปลากระป๋องรับมือลดความเค็มตามเกณฑ์ที่กำหนด

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวถึงการเรียกเก็บภาษีความเค็มว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขั้นตอนขณะนี้ กรมกำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของ”ความเค็ม” หรือตามปริมาณ “โซเดียม” หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง การเก็บภาษีจะต้องบังคับใช้ทั้งกับสินค้าที่ผลิตในประเทศและสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้

สำหรับสินค้าที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีความเค็ม ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารแช่แข็ง, อาหารกระป๋อง, ขนมขบเคี้ยว, ผงปรุงรส ส่วนน้ำปลา-ซีอิ๊วยังไม่ถูกจัดเก็บภาษี เนื่องจากจัดอยู่ในประเภทผงปรุงรส รวมถึง ร้านขายอาหารตามสั่ง-ก๋วยเตี๋ยว-ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชน ก็ยังไม่เข้าข่ายที่จะเสียภาษีเช่นกัน “เมื่อภาษีความเค็มเริ่มบังคับใช้แล้ว เราก็จะต้องให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวเหมือนกับภาษีความหวานในสินค้าเครื่องดื่มก่อนหน้านี้ที่เริ่มเก็บจากอัตราต่ำ ๆ ในปีแรกก่อน ซึ่งแทบไม่มีผลกระทบ พอปีต่อ ๆ ไปก็ว่ากันไป หากผู้ผลิตในประเทศปรับสูตรผลิตสามารถลดความเค็มลงได้ก็จะเสียภาษีถูกลง ส่วนสินค้านำเข้าจะมีโอกาสเสียภาษีมากกว่าเพราะส่วนใหญ่ค่าความเค็มจะสูง” นายณัฐกรกล่าว

ก่อนหน้านี้ทางกรมสรรพสามิตระบุว่าภาษีความเค็มจะพิจารณาเก็บภาษีจาก “ค่าโซเดียมบนฉลากอาหาร” ซึ่งยังพิจารณากันอยู่ว่า จะกำหนดค่ามาตรฐานความเค็มที่ปริมาณ 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือ 2,400 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่มาตรฐานความเค็มที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 มิลลิกรัม/วัน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยส่วนใหญ่ 60% มีปริมาณความเค็ม “เกินกว่า”ค่ามาตรฐานของ WHO ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทของขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นรสแซ่บจะมีค่าความเค็มเกินกว่ามาตรฐาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีส่วนผสมของโซเดียมด้วย

ทั้งนี้ โซเดียมในอาหารจะมีอยู่ 2 ประเภทคือโซเดียมที่เป็นสารช่วยยืดระยะเวลาของอายุอาหารมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 20% ในส่วนนี้กรมสรรพสามิตจะไม่เก็บภาษีเพราะถือว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้ยืดอายุอาหาร ส่วนโซเดียมที่ใส่ในอาหารแล้วทำให้รสชาติดีขึ้นซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 80% ในส่วนนี้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้และกรมสรรพสามิตจะเรียกเก็บภาษีความเค็มในโซเดียมส่วนนี้

“มาม่า-ปุ้มปุ้ย” เร่งปรับสูตร

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาม่าได้ส่งทีมงานเข้าไปประสานงานกับกรมสรรพสามิตเพื่อศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีความเค็มและหากมีการบังคับใช้จริง “มาม่า” ก็พร้อมให้ความร่วมมือ โดยก่อนหน้านี้มาม่าได้ปรับสูตรเพื่อลดปริมาณโซเดียมลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายอยู่พอสมควร เนื่องจากโซเดียมหาสารทดแทนได้ยากไม่เหมือนกับ “ความหวาน” ที่มีสารทดแทนหลากหลาย

ในปัจจุบันมาม่าทั้งชนิดน้ำและชนิดแห้งมีโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งอยู่ในระดับมาตรฐานการบริโภค แต่ก็ยังมีบางสินค้าที่มีโซเดียมสูงกว่า เช่น มาม่ารสซุปเข้มข้นมีโซเดียมสูงกว่า 2,000 มิลลิกรัม เนื่องจากเป็นน้ำซุปที่เอามาละลายในน้ำและหากมีกฎหมายภาษีความเค็มออกมากำหนดปริมาณโซเดียมแล้ว ทางบริษัทก็จะพยายามปรับลดปริมาณโซเดียมลงให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากปรับสูตรแล้วรสชาติไม่อร่อยหรือไม่ถูกปากผู้บริโภค ทางบริษัทก็ต้องยอมเสียภาษีเพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้รสชาติที่ถูกปากผู้บริโภค

“ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีนโยบายออกมากำหนดภาษีความเค็ม ทำให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียมผสมในอาหารลงเพื่อให้ประชาชนบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ถ้าจะให้ดีต้องกำหนดทุก กลุ่มธุรกิจอาหาร ไม่เฉพาะเพียงกลุ่มบะหมี่สำเร็จรูปหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าเจาะจงเฉพาะกลุ่มจะทำให้สินค้ากลุ่มนี้ขายไม่ได้” นายเวทิตกล่าว

ด้านนายไกรฤทธิ์ โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋อง “ปุ้มปุ้ย” กับ “ปลายิ้ม” กล่าวว่า บริษัทได้รับทราบการจัดเก็บภาษีความเค็มของกรมสรรพสามิตแล้ว คาดว่ามาตรการเก็บภาษีจะถูกบังคับใช้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยสินค้าของบริษัทที่เข้าข่ายจะถูกเก็บภาษีมีทั้งกลุ่มปลากระป๋องและอาหารพร้อมทาน จึงต้องเตรียมรับมือเพื่อพัฒนาทดลองปรับเปลี่ยนสูตรด้วยการลดเกลือและซีอิ๊วลง “ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการทดลองภายในยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก เพราะการหาสารอื่นมาทดแทนโซเดียมเป็นเรื่องยาก เราอาจต้องปรับเปลี่ยนรสชาติใหม่ไปเลยเพื่อให้ความเค็มอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและที่สำคัญการปรับลดโซเดียมลงต้องคำนึงถึงรสชาติให้อร่อยถูกปากผู้บริโภคด้วย” นายไกรฤทธิ์กล่าว

7 เมนู CPF โซเดียมต่ำ

นางสาวชลิตา กลัดนิ่ม รองกรรมการผู้จัดการ สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับตัวรับกับแนวโน้มของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้นจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมกับร่างกายต่อวันไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม

“เราใช้ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร(CPF Food Research and Development Center) ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ “CP Balance” ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่ให้คุณค่าโภชนาการครบ 5 หมู่ ไม่ หวาน มันเค็ม แคลอรี่ต่ำ และมีใยอาหาร (ไฟเบอร์) สูง ปริมาณโซเดียมและไขมันอิ่มตัวต่ำ ขณะนี้พัฒนาออกมาแล้ว 7 เมนู ได้แก่ ข้าวกล้องแกงส้มปลาแพนกาเซียสดอร์รี่,ข้าวกล้องปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ผัดพริก, ราเมนโฮลวีตผัดขี้เมาอกไก่, ข้าวกะเพราอกไก่นุ่ม มีปริมาณโซเดียม 620 มิลลิกรัม รวมถึงข้าวน้ำพริกอกไก่, ข้าวกล้องต้มทรงเครื่อง และข้าวอบธัญพืชและไก่ มีปริมาณโซเดียมเพียง 470 มิลลิกรัมเท่านั้น”

และ CPF ยังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำโครงการมาตรการการปรับลดปริมาณเกลือ/โซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร โดยร่วมกันรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้หลักปฏิบัติในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น หรือ CPF Healthier Choice Principles

ส.อาหารแนะให้ความรู้

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรเรียกเก็บภาษีความเค็ม “แต่ควรที่จะให้ความรู้แก่ผู้บริโภคมากกว่า” เพราะหากมีการเรียกเก็บจริงอาจจะมีผลต่อต้นทุนของผู้ส่งออกและเป็นการลดขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยประกอบกับผู้ประกอบการอาหารหลายรายเริ่มมีการผลิตอาหารในกลุ่มที่ลดปริมาณโซเดียมมากขึ้นไม่เพียงเฉพาะในกลุ่มอาหาร แต่รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ เครื่องดื่มนอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเพิ่มข้อมูลฉลากข้างกล่องหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีการตรวจสอบชิ้นส่วนผสม ว่ามีอะไรบ้างก่อนการตัดสินใจซื้อ