คาเฟ่อเมซอนลุยขยายสาขาไม่ยั้ง ปูพรมแฟรนไชส์โตนอกปั๊ม

“คาเฟ่ อเมซอน” มั่นใจตลาดกาแฟสดอนาคตสดใส เตรียมเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอีกเบาะ ๆ 400-450 สาขา บุกทั้งไทย-ต่างประเทศ เน้นขายแฟรนไชส์นอกปั๊ม มุ่งสร้างความแตกต่างรับมือร้านกาแฟแข่งดุ ส่วนต่างประเทศประกาศจุดขายความเป็นกาแฟพันธุ์ไทย คุณภาพคับแก้วราคาสบายกระเป๋า พร้อมขนสารพัดเมนูเครื่องดื่มที่เน้นความเป็นไทย-ขนมสไตล์ไทย เสิร์ฟลูกค้าต่างประเทศ มั่นใจสิ้นปียอดขายโต 10%

นายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ฉายภาพตลาดกาแฟและทิศทางปี 2563 ของร้านกาแฟ “อเมซอน” ว่า ตลาดกาแฟโดยเฉพาะกาแฟสดยังมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากขณะนี้อัตราการบริโภคกาแฟสดของคนไทยที่ยังต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ คือ มีอัตราการบริโภคโดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ต่ำกว่าคนในยุโรปที่ตัวเลขอัตราการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่คนในประเทศญี่ปุ่นมีการบริโภคกาแฟอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากตัวเลขนี้สะท้อนว่าตลาดกาแฟสดยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้มาก และอาจจะมีตัวเลขถึงปีละ 10% แน่นอนว่าการแข่งขันยังดุเดือดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เพราะมีคู่แข่งจำนวนมาก

ดังนั้น ปีหน้าสำหรับอเมซอนจึงยังเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องประมาณ 400-450 สาขา ใกล้เคียงกับปี 2562 นี้ ที่คาดว่าจะมีสาขารวมทั้งหมดประมาณ 3,200 สาขา สำหรับตลาดในประเทศนโยบายหลักจะมุ่งไปที่การขายเน้นแฟรนไชส์ในทำเลนอกปั๊มน้ำมัน ปตท.ให้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็จะเน้นการสร้างเอกลักษณ์ทั้งของสาขาที่จะมีธีม-คอนเซ็ปต์แตกต่างกัน เช่น Cafe” Amazon for Chance ที่ให้บริการโดยผู้พิการทางการได้ยิน หรือสาขาหาดเตยงาม จังหวัดชลบุรี ที่มีทหารผ่านศึกเป็นบาริสต้า รวมถึงสาขาต้นแบบเซอร์คูลาร์ ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปต์ เน้นการนำวัสดุที่ใช้แล้วภายในร้านและโรงคั่วกาแฟมาผลิตเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องแบบพนักงาน พร้อมกระตุ้นการรับรู้และดึงดูดลูกค้าด้วยเมนูใหม่ ๆ และการควบคุมคุณภาพให้ดีขึ้น โดยจะมีการเทรนด์บาริสต้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอเมซอนมีบาริสต้ากว่า 1.5 หมื่นราย

ส่วนตลาดในต่างประเทศจากนี้ไป อเมซอนจะโฟกัสการขยายสาขาใน 3 พื้นที่ คือ ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และตะวันออกกลาง ซึ่งที่่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีและเติบโตต่อเนื่อง จากเดิมที่ผ่านมามีสาขาในต่างประเทศประมาณ 200 สาขา ใน 9 ประเทศ คือ ลาว, กัมพูชา, เมียนมา, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, จีน, ญี่ปุ่น และโอมาน โดยการเปิดสาขาในต่างประเทศ บริษัทจะมีโมเดลหลากหลายและเปิดกว้าง ทั้งการเปิดร้านในและนอกปั๊ม อาจจะเป็นการลงทุนเอง-จับมือพันธมิตร

ADVERTISMENT

นายสุชาติกล่าวว่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตลาดเวียดนาม คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ ส่วนในตะวันออกกลางจะขยายไปยังประเทศข้างเคียงของโอมานที่สาขาในปั๊มน้ำมัน ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับการตอบรับดี ขณะเดียวกัน ก็จะชูกลยุทธ์ในแง่ของความเป็นกาแฟแบรนด์ไทยที่มีคุณภาพ แต่มีระดับราคาปานกลางด้วยไลน์อัพสินค้าทั้งเครื่องดื่มเมนูพิเศษตามแต่ละ

ประเทศที่ใส่เอกลักษณ์ของไทยลงไป เช่น กาแฟที่มีส่วนผสมของน้ำมะพร้าว รวมถึงการนำขนมไทยต่าง ๆ เข้าไปวางจำหน่ายในร้าน เป็นต้น

ADVERTISMENT

“การขยายสาขาทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่องดังกล่าว มั่นใจว่าจะช่วยให้รายได้ปี 2563 เติบโตประมาณ 10% ใกล้เคียงกับการขยายตัวของตลาด” นายสุชาติกล่าว

สำหรับเงื่อนไขแฟรนไชส์ร้านกาแฟอเมซอนนั้น แบ่งเป็นรูปแบบสแตนด์อะโลนและในอาคาร โดยแบบสแตนด์อะโลนจะต้องมีพื้นที่รวมสวนหย่อม 100-200 ตร.ม.ขึ้นไป สามารถมองเห็นได้ง่ายสำหรับค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 2.64-4.2 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง-ตกแต่ง-งานระบบ 1.5-3 ล้านบาท ค่าออกแบบ 4 หมื่น-1 แสนบาท ค่าอุปกรณ์ในร้าน 7.79 แสนบาท ค่าประกันแบรนด์ 1 แสนบาท ค่าดำเนินการก่อนเปิดร้าน เช่น อบรม, สำรวจพื้นที่ 8 หมื่นบาท ค่าแฟรนไชส์ 1.5 แสนบาท

โดยมีค่ารอยัลตี้และค่าการตลาด 6% ของยอดขาย และค่าเช่าเครื่อง POS อีก 2.4 หมื่นบาทต่อปีส่วนโมเดลในอาคารจะต้องมีพื้นที่ 40 ตร.ม.ขึ้นไป และค่าใช้จ่ายบางส่วนต่ำกว่า เช่น ค่าก่อสร้าง-ตกแต่ง-งานระบบ 1.2 -2.5 ล้านบาท ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมเหลือประมาณ 2.34-3.7 ล้านบาท