‘ติวเตอร์กองทัพมด’ อู้ฟู่พันล้าน แยกวงตั้ง 100 สำนักติวกลุ่มย่อย

ติวเตอร์รายย่อยปาดหน้าโรงเรียนกวดวิชา ใช้ช่องว่างกฎหมายเปิดบริษัทผลิตสื่อการเรียนการสอนกว่า 100 ราย ฟันรายได้หลักแสนถึง 1 ล้านบาท/เดือน จูงใจราคาถูก สอนที่ไหนก็ได้ จัดคอร์สตามใจลูกค้า รายใหญ่ตามจีบช่วยสอน-ออกแบบคอร์ส พร้อมทำการตลาดให้ยกเซต คาดมูลค่าตลาดนี้ขยายถึงพันล้านในอนาคต

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ธุรกิจการศึกษาจะแข่งขันสูงอย่างต่อเนื่องในหลายปีผ่านมา เนื่องจากผลพวงของประชากรเกิดใหม่ที่มีจำนวนลดลง จึงทำให้นักเรียนในระบบลดลงตามไปด้วย แต่ในมุมกลับกัน ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชากลับยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ติวเตอร์รายย่อย” ที่มาในรูปของ “บริษัทผลิตสื่อการเรียนการสอน” เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจกวดวิชา

พร้อมกับเดินหน้าโดยใช้กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” ด้วยการ “ตีตลาด” ในพื้นที่ต่างจังหวัดก่อน เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับ หลังจากนั้นจึงจะเข้ามาขยายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตามเป้าหมายต่อไป ดังนั้น เมื่อสำรวจตลาดโรงเรียนกวดวิชาในเบื้องต้น ปรากฏว่ามีการจัดตั้งบริษัทผลิตสื่อการเรียนการสอนมากกว่า 100 ราย (รวมทุกรายวิชา) ส่วนหนึ่งเคยเป็นติวเตอร์ให้กับโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงมาก่อน อาทิ โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์, เคมี อ.อุ๊, ออนดีมานด์ และเดอะเบรน เป็นต้น

ติวเตอร์ฟันรายได้หลักล้าน/เดือน

เหตุผลที่ติวเตอร์รายย่อยเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาดกวดวิชา คือ 1) ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า เฉลี่ยอยู่ที่ 600 บาทต่อชั่วโมง (จากเดิมในปี 2012 อยู่ที่ 450 บาท/ชั่วโมง) แม้ว่าจะปรับค่าตอบแทน

ให้แล้วก็ตาม แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้น ยังมีแบ่งการสอนแบบกลุ่มอยู่ที่ 500-800 บาทต่อชั่วโมง สอนแบบเดี่ยวอยู่ที่ 500-700 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่หากเป็นครูที่มีชื่อเสียง

จะได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่าติวเตอร์ธรรมดา และถ้าดังมากจะได้รับค่าตอบแทนในรูปของการเป็น “ผู้ถือหุ้น” อีกด้วย ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาสามารถปรับราคาคอร์สเรียนตามภาวะเศรษฐกิจ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ค่าตอบแทนติวเตอร์กลับไม่มีการปรับขึ้นให้อย่างเหมาะสม ดังนั้น เมื่อพวกเขาผันตัวมาเป็นติวเตอร์รายย่อย จึงทำรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 แสนบาท-1 ล้านบาทต่อเดือน

2) มองเห็นโอกาสตลาดกวดวิชาจากความต้องการ พฤติกรรม และทัศนคติของผู้เรียนที่ว่า การเรียนในระบบปกติไม่เพียงพอสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการ 3) การเปิดเป็นบริษัทผลิตสื่อการเรียนการสอน แทนการจดทะเบียนเป็นโรงเรียนกวดวิชา ทำให้คล่องตัว และบริหารต้นทุนได้ดีกว่า เพราะโรงเรียนกวดวิชาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา เช่น จัดส่งรายละเอียดอัตราค่าเล่าเรียนให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อาคารสถานที่ใน

การสอนมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ตารางเมตร การคมนาคมสะดวก ตั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีกรรมสิทธิ์ในอาคาร หรือมีสัญญาเช่าไม่น้อยกว่า 3 ปี ฯลฯ ถือเป็นต้นทุนสูง และติวเตอร์รายย่อยเป็นกิจการเล็ก ๆ แบกรับต้นทุนเหมือนกวดวิชาไม่ได้

“เมื่อประมาณการจากจำนวนของติวเตอร์รายย่อยที่เข้ามาตอนนี้ต้องบอกว่าปูพรมไปทั่วประเทศแล้ว หากคำนวณคร่าว ๆ ของติวเตอร์ที่เข้ามาตลาดสัก 10 ราย มูลค่าของเม็ดเงินก็จะมากกว่า 50 ล้านบาทแล้ว โดยปัจจุบันมีติวเตอร์รายย่อยมากกว่า 100 ราย ส่งผลให้ตลาดรวมมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ไปได้ไกลถึง 1,000 ล้านบาทได้ โดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ต่างจังหวัด”

ครูดังผันตัวเปิดกวดวิชาเอง

สำหรับบรรดาครูดังที่เคยเป็นติวเตอร์แบบมีสังกัดแล้วผันตัวเองมาเปิดในรูปแบบบริษัทสื่อการเรียนการสอน ได้แก่ อาจารย์อดัม (Adam Bradshaw) เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ “Hollywood Learning Center” แม้จะเปิดโรงเรียนเองแล้ว อาจารย์อดัมยังคงเป็นติวเตอร์ (รับเชิญ) ภาษาอังกฤษให้กับโรงเรียนกวดวิชา และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 10 ปี คือ สถาบัน EPA (Excellent Preparatory Academy) ที่มีครูเอ “พรเทพ ศรีสุทธิญาณ” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นเจ้าของ ก็จะมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นติวเตอร์ให้กับโรงเรียนกวดวิชาด้วย

จัดคอร์สตามสั่ง-ราคากันเอง

ด้านจุดแข็งของติวเตอร์รายย่อย ที่เป็นตัวดึงดูดนักเรียนคือสามารถจัดคอร์สเรียนที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียนได้ ตั้งแต่สอนแบบเดี่ยว เป็นกลุ่มไม่เกิน 5-10 คน และจัดคอร์สได้ตามโปรแกรมของผู้เรียนที่จะเป็นผู้กำหนด ตั้งแต่เลือกวิชา, วัน, เวลา, สถานที่ ทั้งยังสามารถเลือกครูผู้สอนได้อีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องของสถานที่ที่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียน เช่น การใช้พื้นที่สำนักงานแบบ coworking space ที่เสียค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมงประมาณ 1,000-10,000 บาทเท่านั้น

ส่วนการทำการตลาดจะเน้นไปที่การใช้สื่ออย่าง social media ตั้งแต่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ฉะนั้น การทำธุรกิจในรูปแบบติวเตอร์รายย่อยจึงมีต้นทุนไม่สูง และทำให้ราคาคอร์สโดยรวม “ถูกกว่า” กวดวิชารายใหญ่ประมาณ 10-20% อีกทั้งสามารถจัดคอร์สติวเข้มเฉพาะทางที่มีราคาถูกกว่าโรงเรียนดัง เช่น การสอบเฉพาะทางภาษา IELTS ที่ใช้เวลาเรียน 30-60 ชั่วโมง ที่มีราคาคอร์สอยู่ในระดับ 10,000 บาทต้น ๆ เท่านั้น ในขณะที่กวดวิชารายใหญ่ราคาคอร์สอยู่ที่ 20,000-80,000 บาท

ปรับคู่แข่งเป็นคู่ค้ารับปั้นคอร์ส

ในทางธุรกิจติวเตอร์รายย่อยถือเป็น “คู่แข่ง” ของโรงเรียนกวดวิชา แต่เมื่อโรงเรียนกวดวิชาประสบปัญหาคือขาดครูผู้สอน จึงกลายเป็นช่องทางให้ติวเตอร์รายย่อยเข้ามาสร้างรายได้จาก 1) ช่วยสอนในรายวิชาที่ขาดครู 2) ออกแบบคอร์สที่มีความเฉพาะทางที่ตลาดมีความต้องการ 3) ช่วยทำการตลาด และ 4) สร้างคอนเทนต์สำหรับการเรียนแบบออนไลน์ ในประเด็นนี้แหล่งข่าวระบุว่าการที่ติวเตอร์ลาออกจากโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถาบันบางแห่งไม่มีครูมากพอที่จะเปิดคอร์สเฉพาะทาง อย่างเช่น คอร์สด้านการบริหารการตลาด และอื่น ๆ จึงทำให้ต้องใช้บริการจากติวเตอร์รายย่อย จนกลายเป็นช่องทางทำรายได้ 2 เด้ง คือ จากการสอนปกติกับงานว่าจ้างจากกวดวิชา

เอ็นคอนเส็ปท์ชี้ผลจากดิสรัปต์

ด้านนายธานินทร์ เอื้ออภิธร ผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ติวเตอร์รายย่อยถือเป็นผลพวงจาก disruption คือทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด แต่ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งการเรียนในระบบที่ไม่มีทีม เป็นการเรียนที่มุ่งเน้นไปที่การเรียนเนื้อหาอย่างเดียว (input base) ซึ่งการเรียนจากโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้โฟกัสเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น แต่มีการ support output และดูการตอบรับของผู้เรียนด้วย

“ถ้ามองจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นภาพว่าตลาดการศึกษากำลังอยู่ในจุดหาสมดุลใหม่ระหว่างการเรียนออนไลน์, การเรียนที่สาขา และการเรียนแบบเจอตัว”