“เซเว่น” ทุ่มขยายลงทุนไม่ยั้ง-ควัก 4 พันล้านปูพรมสาขา-บุกลาว

เซเว่นอีเลฟเว่น ไม่หวั่นโควิด-19ประกาศทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ควัก 4 พันล้านปูพรมสาขาไม่ยั้ง คาดทะลุ 13,000 แห่งภายในปี 2564 เปิดแผนสยายปีกบุกซีแอลเอ็มวี เร่งเจรจา 7-Eleven, Inc. ขอสิทธิบุกลาว หลังได้รับไฟเขียวลุยกัมพูชา 30 ปี ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเพิ่มวัตถุประสงค์หนังสือบริคณห์สนธิ เตรียมขยายธุรกิจ-บริการอีกเพียบ

ตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แม้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้ธุรกิจหลาย ๆ อย่างต้องชะลอหรือพับแผนการลงทุนต่าง ๆ ลง เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่ล่าสุด จากการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563 ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ประกาศแผนและเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนเดิมที่วางไว้

เดินหน้าลงทุนไม่หวั่นพิษโควิด

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบผลประกอบการของบริษัททั้งด้านต้นทุนและยอดขายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และรุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคม เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ตามความกังวลในภาระหนี้ครัวเรือน รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดของทางการ

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปบริษัทยังคงเดินหน้าแผนลงทุนตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยจะลงทุน 11,500-12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนเปิดร้านใหม่ประมาณ 700 สาขา โดยจะใช้งบฯ 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงสาขาเดิม 2,400-2,500 ล้านบาท นอกจากนี้ยังจะมีการลงทุนในโครงการใหม่ การลงทุนบริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า รวมประมาณ 4,000-4,100 ล้านบาท รวมถึงแผนลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและเทคโนโลยีสารสนเทศรวมอีกประมาณ 1,300-1,400 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ซีอีโอบริษัท ซีพี ออลล์ ยังให้ข้อมูลว่า ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายสาขาร้านเซเว่นอีเลฟเว่นไปแล้ว 271 สาขา แบ่งเป็นสาขาของบริษัท 186 สาขา และสาขาพาร์ตเนอร์ และสาขาที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 85 สาขา ทำให้มีสาขารวม 11,983 สาขา โดยบริษัทมีเป้าจะขยายสาขาให้ครบ 13,000 สาขา ภายในปี 2564

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท ซีพี ออลล์ ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 82,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,112 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 อย่างไรก็ตาม ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมลดลงเท่ากับร้อยละ 4.0 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน เท่ากับ 78,872 บาท ยอดซื้อต่อบิลโดยประมาณเท่ากับ 70 บาท ในขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,122 คน ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคจากรัฐบาล อาทิ จำกัดการเดินทาง การขอความร่วมมือให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย

เจรจาบริษัทแม่ขอบุกลาว

นายก่อศักดิ์ยังกล่าวถึงการลงทุนในกัมพูชาว่า หลังจากที่ CP ALL (Cambodia) Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าทำสัญญาแฟรนไชส์หลัก สำหรับดำเนินการร้าน 7-Eleven ในประเทศกัมพูชา กับ 7-Eleven, Inc. เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ แต่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริหารและทีมงานไม่สามารถเดินทางเข้าไปในกัมพูชาได้ ทั้งนี้ CP ALL (Cambodia) Co., Ltd. ได้รับสิทธิแฟรนไชส์ในการจัดตั้งและดำเนินการร้าน 7-Eleven ในประเทศกัมพูชา เป็นเวลา 30 ปี และคู่สัญญาอาจตกลงต่ออายุสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 20 ปี

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับ 7-Eleven, Inc. เพื่อขยายสาขาไปยังประเทศลาวด้วย เช่นเดียวกับการเข้าซื้อกิจการห้างค้าปลีกเทสโก้ โลตัสในไทย และเทสโก้ในประเทศมาเลเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการปิดสัญญา เช่น รอการอนุมัติจากหน่วยงานด้านการค้าในแต่ละประเทศ

ก่อนหน้านี้ นายก่อศักดิ์เคยระบุเอาไว้ว่า กัมพูชาและลาวเป็น 2 ประเทศที่มีศักยภาพ โดยประเมินจากประชากรจำนวน 16 ล้านคนในกัมพูชา และ 6.9 ล้านคนในลาว และคาดว่าจะทำให้ซีพีออลล์ สามารถขยายสาขาได้อีกประมาณ 3,300 สาขา หรือประมาณ 1 ใน 3 ของสาขาในไทย

เตรียมขยายธุรกิจ-บริการเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ข้อ 3 วัตถุประสงค์ของบริษัท จากเดิมมีจํานวน 93 ข้อ แก้เป็นมีจํานวน 96 ข้อ โดยขอแก้ไขวัตถุประสงค์ข้อ (8) (47) (50) และ (92) และเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ข้อ (94) ถึง (96) พร้อมทั้งมอบอํานาจให้กรรมการผู้มีอํานาจของบริษัทหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากกรรมการผู้มีอํานาจของบริษัทมีอํานาจแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด ๆ ตามคําแนะนํา ความเห็น หรือคําสั่งของนายทะเบียนหรือหน่วยงานราชการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง

โดยวัตถุประสงค์ที่บริษัทขอแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ การประกอบกิจการค้า นำเข้า ส่งออก ให้เช่า ให้เช่าซื้อ เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องมือกล เครื่องทุ่นแรง หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ ยานพาหนะ เครื่องกำเนิดและเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม สถานที่ออกกำลังกาย ศูนย์สุขภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงด้วย


นอกจากนี้ยังขอเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ อาทิ ประกอบกิจการเกี่ยวกับการสร้าง บำรุงรักษา และพัฒนาหรือร่วมพัฒนาออนไลน์แอปพลิเคชั่น, ประกอบกิจการให้บริการ ดูแลรักษาระบบข้อมูล จัดสรรข้อมูล วิเคราะห์ และจัดกลุ่มประเภทข้อมูล และประกอบกิจการคลังสินค้า กิจการไซโล หรือกิจการห้องเย็น ซึ่งจะประกอบกิจการได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุุญาตจากกรมการค้าภายในแล้ว