ดี.อาร์.ดริ้งค์ ยันอีกราย ใส่วิตามินในเครื่องดื่มตามที่ระบุบนฉลาก

เครื่องดื่มวิตามินซี “ดี.อาร์.ดริ้งค์” ที่ปรากฏชื่อ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ทดสอบไม่พบวิตามินซี ออกแถลงการณ์ยืนยัน ใส่วิตามินในเครื่องดื่มตามที่ระบุบนฉลาก

วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี 47 ตัวอย่าง ตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี

หนึ่งในนั้นคือ “ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์” (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี) ผลิตโดยบริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โรงพยาบาลยันฮี ซึ่งวานนี้ (16 ธ.ค.) ทางบริษัทฯ ได้ชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊ก 4 ข้อ ยืนยันว่าได้ส่งวิตามินลงในเครื่องดื่มตามที่ระบุในฉลาก

ล่าสุด ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ของ บริษัท ดี.อาร์.ดริ้งค์ จำกัด (บริษัท) ได้ออกหนังสือชี้แจงระบุว่า

กรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบวิตามินในเครื่องดื่ม  ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์  โดยศูนย์ทดสอบฉลากซื้อแล้วไม่พบวิตามิน ในวันผลิต09-11-2020  และหมดอายุ  09-11-2021 นั้น บริษัท ดี.อาร์.ดริ้งค์ จำกัด (บริษัท) ใคร่เรียนขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. การผลิตสินค้าเครื่องดื่มดังกล่าว ในขั้นตอนการผลิตได้มีการใส่วิตามินซีตามปริมาณที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์แล้วจริง รายละเอียดผลการตรวจ ปรากฏตามรายงานผลการทดสอบ ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 และฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2563

2. คุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีโอกาสสลายง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ นั้น อาจทำให้ปริมาณของวิตามินซีในสินค้าลดลงไปจากที่ระบุไว้ในฉลาก แต่ไม่ถึงกับสลายจนไม่สามารถตรวจพบวิตามินซีในสินค้าได้ เพราะโดยปกติวิตามินซีเมื่อละลายในน้ำจะเกิด hydrolysis เป็นสารอื่นที่มีประโยชน์ และคงอยู่ในน้ำเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่าปริมาณวิตามินซีลดลงตามหลักวิชาการแต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งบริษัทปฏิบัติต่อลูกค้าและผู้บริโภคด้วยความซื่อตรง

3. บริษัทเล็งเห็นว่าการใส่วิตามินซีเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด บริษัทพิจารณาแล้วว่าไม่ควรทำ เนื่องจากถ้าผู้บริโภครับประทานเครื่องดื่มเป็นจำนวนหลายขวด จะทำให้เกิดความผิดปกติอย่างอื่นตามมาได้ เช่น อาการท้องเสียอาการระคายเคืองทางเดินอาหารต่าง ๆ เป็นต้น

4. การที่บริษัทเลือกใช้ขวดใสไม่ผสมสี เพื่อทำให้ขวดเป็นพลาสติกชนิดดีสามารถนำกลับไปใช้รีไซเคิลได้ซึ่งอาจจะมีส่วนทำให้ปริมาณวิตามินซีลดลงได้บ้าง แต่บริษัทได้เลือกใช้วิธีพันแร็ปรอบขวดเพื่อลดโอกาสการสูญเสียวิตามินให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ บริษัทเติมสารต้านอนุมูลอิสระจากส่วนผสมอื่น ๆ เพิ่ม เช่น สารสกัดจากข้าว สารสกัดจากดอกคำฝอย แร่ธาตุจากอความิน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์จากการบริโภคสินค้าอย่างคุ้มค่า

บริษัทยังคงรักษามาตรฐานการผลิต, มาตรฐานของวิตามินที่ผสมลงในเครื่องดื่มผสมวิตามิน ดี.อาร์.ดริ้งค์ให้อยู่ในระดับคุณภาพ GMP & HACCP และอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าในส่วนของการพันแร็ปพลาสติกรอบขวดให้สามารถป้องกันและเก็บวิตามินได้มากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าเพื่อประโยชน์อันสูงสุดกับผู้บริโภคต่อไป และมีความยินดีที่ได้มีโอกาสชี้แจงและพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์แก่ผู้บริโภคให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป