ดราม่าสายวิชาการ เครื่องดื่มวิตามินซี ไม่พบวิตามินซี?

การเผยแพร่ผลทดลอง “เครื่องดื่มวิตามินซี ที่ทดสอบไม่พบวิตามินซี” ได้กลายเป็นดราม่าระหว่างคนในแวดวงวิชาการไปเสียแล้ว เพราะล่าสุด มีผู้ออกมาโต้แย้งเรื่องการทดลอง ก่อนที่ฝ่ายทดลองจะออกมาซัดกลับ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมให้ ดังนี้

1.) วันที่ 15 ธันวาคม มีการเผยแพร่รายงานของ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี 47 ตัวอย่าง ตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี พร้อมแนะนำผู้บริโภครับประทาน วิตามินซี จากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อน

2.) วันที่ 16 ธันวาคม อ.อ๊อด หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า วิตามินซี สลายตัวง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก อย่าลืมว่าในน้ำดื่มมีออกซิเจนเพียบ นอกจากนี้ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในบรรยากาศที่มีความร้อน แสง ความชื้น โลหะหนัก (เช่น เมื่อตั้งทิ้งไว้ในบรรยากาศที่มีทองแดง) และในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเป็นด่าง เป็นต้น

เรื่องความร้อน ขวดน้ำวิตามินแค่อัดแพ๊คลงลัง ใส่สิบล้อ ขนส่ง ไม่ถึง 5 ชั่วโมง วิตามินซีก็ลดลงอย่างมาก แต่วิตามินซีจะกลายไปเป็นสารอื่นแทนคือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์และช่วยให้มีสุขภาพที่ดี (สสารไม่สูญหายไปไหน แค่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนฟอร์ม)

ดังนั้น การตรวจไม่เจอคือตรวจอะไร และที่ตรวจเจอเยอะ เจอเท่าเดิม เจอเยอะกว่าเดิม คือมั่วมาหรือไม่ มีเบื้องหลังคืออะไร สารวิตามินซีเหล่านี้ ในน้ำแต่ละยี่ห้อไม่มีวันลดลงจนเหลือศูนย์ และไม่มีวันมีมากเท่าฉลากหรือมีเกิน

ดังนั้น การตรวจไม่เจอคือตรวจอะไร เอื้อธุรกิจบางยี่ห้อหรือไม่ ? และที่ตรวจเจอเยอะ เจอเท่าเดิม เจอเยอะกว่าเดิม คือมั่วมาหรือไม่ มีเบื้องหลังอะไรหรือเปล่า สารวิตามินซีเหล่านี้ในน้ำแต่ละยี่ห้อไม่มีวันลดลงจนเหลือศูนย์ และไม่มีวันมีมากเท่าฉลากหรือมีเกิน

3.) ต่อมา เพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ออกมาชี้แจงวิธีตรวจวิตามินซีในเครื่องดื่ม พร้อมสวน “อ.อ๊อด” กลับ ให้ไปฟังการแถลงข่าวและอ่านรายละเอียดทั้งหมด ก่อนกล่าวหาและใส่ร้ายมูลนิธิฯ โดยแจกแจงข้อมูลละเอียดยิบ ดังนี้

ตามที่อาจารย์ได้เขียนใน FB และเปิดเผยต่อสาธารณะ ว่า มีบางกลุ่มทดสอบแล้วไม่ให้ความเป็นธรรมกับการตรวจวิตามินซีบางยี่ห้อ หรือ การตรวจมีเบื้องหลังหรือไม่ ดูย้อนแย้งและมีพิรุธ ชอบกล หากใครอ่านก็จะทราบทันทีว่า เป็นการพูดถึงการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เพิ่งเผยแพร่ผลการทดสอบไปเมื่อวานนี้

ถือเป็นการกล่าวหา ดูหมิ่น และไม่ให้ความเป็นธรรมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิฯที่ทำงานทดสอบ เปรียบเทียบ (Rating Comparative Test) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ในการเลือกซื้อมาไม่น้อยกว่า 27 ปี

อยากให้อาจารย์กลับไปฟังการแถลงข่าวและอ่านรายละเอียดทั้งหมดก่อนกล่าวหาและใส่ร้ายมูลนิธิฯ

เบื้องต้นขออนุญาตให้ข้อมูลเรื่องกระบวนการทดสอบและการสุ่มตรวจทดสอบอาหารเครื่องดื่มผสมสิตามินซี ของฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยสรุปดังนี้

เริ่มจากการสุ่มตัวอย่าง ทำพร้อมกันในเดือนพฤศจิกายนทั้ง 47 ตัวอย่าง

การสุ่มตัวอย่างโดยการซื้อทุกยี่ห้อเท่าที่จะหาซื้อได้ในท้องตลาดในช่วงเวลาที่กำหนด และมีหลักฐานจ่ายเงินเหมือนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าเหล่านี้ ในล็อตการผลิตเดียวกันสำหรับการทดสอบจำนวน 3 ครั้ง

ทำรายละเอียดสินค้าทุกรายการ ว่า สินค้านั้นมีใครเป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย รายละเอียดบนฉลาก วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ เมื่อใด ราคาเท่าใด เป็นต้น

หลังจากนั้น จะนำส่งห้องทดลองที่ได้มาตรฐานด้านที่ส่งตรวจ และเป็นห้องทดลองที่มีมาตรฐาน ISO 17025

ขั้นตอนการเผยแพร่ผลการทดสอบเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิณ

ขั้นตอนสุดท้าย ส่งผลการทดสอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อพิจารณาดำเนินการที่เกี่ยวข้อง

โดยมีหลักเกณฑ์ในการทำงานทดสอบทั้งสินค้าและบริการที่ผ่านมา ดังนี้

“การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย ที่ได้มาตรฐานตามด้านนั้นๆ หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น”

โดยมีขั้นตอนดังนี้

1.ประชุมวางแผนทดสอบสินค้าและบริการ โดยวางแผน 1 ปี และทุกๆ เดือน โดยมีคณะทำงาน ดังนี้

1.1 เครือข่ายนักวิชาการในการเฝ้าระวังทดสอบสินค้าและบริการตลอดโครงการตามแผนปฏิบัติงาน ในด้านต่าง ๆ อาทิ

-ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ศ.ดร.วิสิต จะวะสิฐ , ดร.แก้ว กังสดาล อำไพ, รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.ยุพดี สิริสินสุข, รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์, ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-ด้านเทคโนโลยีและสื่อโทรคมนาคม จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

-ด้านที่อยู่อาศัย ได้แก่ อ.เทิดทูน ดำรงค์ฤทธามาตย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

-ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ได้แก่ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ จาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ความปลอดภัยของยานยนต์ (สถาบันยานยนต์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ)

-ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากมูลนิธิชีววิถี และคุณเพ็ญโฉม ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นต้น

-ด้านสินค้าเด็กและความปลอดภัยในเด็ก รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี

-ด้านสินค้าจากเครือข่ายผู้บริโภคจาก 7 ภูมิภาค ในพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ และกรุงเทพฯ ที่จากการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อยกระดับมาตรฐานในชุมชน

-สินค้าเฝ้าระวังตามสถานการณ์ในประเทศ เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือเนื่องในสภานการณ์โควิด19, สารเคมีเกษตรพาราควอตในปูนา, สารทาเลตในของเล่นเด็ก, ไขมันทรานส์ในโดนัท, และมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในช่วง PM2.5 เป็นต้น

-ผลทดสอบจากองค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ International Consumer Product Research and Testing (ICRT) ที่มูลนิธิฯ เป็นสมาชิก

2.ออกแบบวิธีการทดสอบ เน้นหลักความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้า

3.ดำเนินการทดสอบตามมาตรฐานสากล โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025

4.เผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา

5.ส่งผลทดสอบและข้อเสนอ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องกระทะ อาจารย์คงยังไม่ทราบว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ฟ้องคดีนี้ และขณะนี้ศาลรับพิจารณาคดี เป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว (Class Action) และให้จำเลยอุทธรณ์ภายใน 20 วัน ซึ่งครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา แต่จำเลยขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 โดยขยายถึงวันที่ 25 ธันวาคม 63 นี้

4.) นอกจากนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังได้แคปภาพจากเฟซบุ๊กของ อ.อ๊อด ที่มีการโพสต์ถึงเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง พร้อมข้อความสั้น ๆ ว่า “ฝากให้ฉุกคิด…”

5.) หลังความเคลื่อนไหวของ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” อ.อ๊อด ยังคงโพสต์ภาพตัวเองดื่มเครื่องดื่มรัว ๆ โดยโพสต์ล่าสุดระบุว่า กำลังรอออกรายการ แต่ไม่ได้ระบุว่ารายการใด

น้ำวิตามินซีแก้วนี้เปรี้ยวสุดๆ #ลุงอ๊อดดื่มน้ำวิตามิน

โพสต์โดย Weerachai Phutdhawong เมื่อ วันพุธที่ 16 ธันวาคม 2020

รอออกรายการ ชื่นใจ #ลุงอ๊อดดื่มน้ำวิตามิน

โพสต์โดย Weerachai Phutdhawong เมื่อ วันพุธที่ 16 ธันวาคม 2020