ค่าเงินบาทผันผวน หลังการประชุมเฟด

ค่าเงินบาทผันผวน หลังการประชุมเฟด และมีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ 5.25-5.50% เหตุเศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/5) ที่ระดับ 36.99/37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/4) ที่ระดับ 37.05/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางตามตลาดโลก โดยในคืนวันพุธที่ผ่านมา (1/5) คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 หลังจากที่ฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2565

โดยทางคณะกรรมการเฟดได้ชี้แจงเหตุผลว่า ทางเฟดได้รับข้อมูลว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่การจ้างงานก็ยังคงมีความแข็งแกร่งเช่นกัน โดยอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงมากกว่ากรอบเป้าหมายของเฟดที่ 2% โดยคณะกรรมการเฟดจะพยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว

ทั้งนี้การคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมครั้งนี้นั้น เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายน และอาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 1 ถึง 2 ครั้งเท่านั้น

Advertisment

ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้กล่าวว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปีนี้จะออกมาเช่นใด เฟดจะยังคงมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้พาวเวลล์ได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 11-12 มิถุนายน

นอกจากนี้เฟดยังได้ประกาศชะลอการใช้มาตรการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ซึ่งถือเป็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เฟดจะลดวงเงินพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่จะปล่อยให้ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม เหลือเพียง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ระดับ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะทีคงวงเงิน MBS ที่จะปล่อยให้ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม อยู่ที่ระดับ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ในคืนวันอังคาร (30/4) ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนออกมาอยู่ที่ 97.0 ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 104 และน้อยกว่าในเดือนมีนาคมที่ระดับ 103.1 ในส่วนของคืนวันพุธ (1/5) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเมษายน จาก ADP อยู่ที่ 192,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 179,000 ตำแหน่ง แต่น้อยกว่าในเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ระดับ 208,000 ตำแหน่ง

ทางด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายอยู่ที่ระดับ 50 มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และมากกว่าในเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ระดับ 49.9 และในส่วนของตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนมีนาคมลดลงมาอยู่ที่ 8.49 ล้านตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 8.68 ล้านตำแหน่ง และน้อยกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 8.81 ล้านตำแหน่ง

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวตั้งแต่เดือนเมษายนและคาดว่าจะขยายตัว 2% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรและผลไม้ การฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ รถไฟฟ้า และพลังงานสะอาดของโลก รวมถึงค่าเงินที่อ่อนค่า โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.86-37.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/3) ที่ระดับ 1.0709/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/4) ที่ระดับ 1.0726/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา (30/4) ทางยูโรโซนได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 2.4% เมื่อเทียบรายปี และเท่ากับในเดือนมีนาคม

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ชะลอตัวลงจาก 2.9% ในเดือนมีนาคม สู่ระดับ 2.7% ในเดือนเมษายน โดยมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.6% โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0694-1.0728 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0696/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/5) ที่ระดับ 156.71/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/4) ที่ 156.91/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ในคืนที่ผ่านมา ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าขึ้นไปแตะระดับ 158.01 ภายหลังจากการประชุมเฟด ก่อนจะแข็งค่ากลับลงมาอยู่ที่ระดับ 153.16 ในช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา โดยทางนักลงทุนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมาจากการแทรกแซงค่าเงินเยนของรัฐบาลญี่ปุ่น

ทั้งนี้ทางญี่ปุ่นยังคงไม่ได้กล่าวว่ามีการแทรกแซงเกิดขึ้น แต่คาดการณ์ว่ากระทรวงการคลังน่าจะมีการเปิดเผยการแทรกแซงในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนได้พุ่งแตะระดับ 160 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 155.00-156.28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 155.21/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/5), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (2/5), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย. ของสหรัฐ (3/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย. (3/5) และดัชนีภาคบริการเดือน เม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (3/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.1/-8.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.0/5.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ