เปิดกลยุทธ์ “มาม่า” มุ่งสู่เป้าหมายหมื่นล้านบาท ตุนเงินสด 50%

“มาม่า” เผยกลยุทธ์สร้างรายได้หมื่นล้านท่ามกลางโควิด มุ่งสินค้าไฮเอนด์-ผลิตภัณฑ์ใหม่-บุกต่างประเทศช่วงโควิด เน้นลงทุนเฉพาะที่คืนทุนเร็ว รักษากระแสเงินสด 50% จากผลประกอบการ

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและเจ้าของตราสินค้า “มาม่า” เผยทิศทางตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 รวมถึงเป้าหมายด้านผลประกอบการในปีนี้ กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้บริษัทยืนยันมุ่งสู่เป้าหมาย เพิ่มยอดขายให้ได้ 10,000 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนยอดขายบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้น 2% ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 3%

“จริงอยู่ที่ในช่วงโควิดระบาด มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. ยอดโตขึ้นเป็น panic buy ส่วนใหญ่เป็นมาม่าซอง เพราะคนอยู่บ้านปรุงอาหารรับประทานเอง แต่หลังจากคลายล็อกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ยอดขายก็ไม่ได้โตมากนัก”

นายพันธ์ กล่าวอีกว่า ปกติคนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประมาณ 50 ซองต่อคนต่อปี ในช่วงที่โควิดระบาด อัตราการบริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และยังมีการแข่งขันที่รุนแรงจากบะหมี่ฯนำเข้า เช่น มาม่าเกาหลี ซึ่งมีราคาสูง เขาขาย 1 ซอง เท่ากับเราขาย 6 ซอง เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่สินค้าไฮเอนด์ คือกลุ่มโอเรียนทอลคิตเชน ซึ่งเซ็กเมนต์นี้เติบโตขึ้น 2-3 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
“แนวโน้มยอดขายในปี 2564 น่าจะมียอดเติบโตได้ถึง 4-5% เพราะเรามีกลยุทธ์ในการทำตลาดต่อเนื่อง อย่างที่ทราบตลาดนี้มีการแข่งขันสูง เราก็มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยในปีก่อนออกกลุ่มข้าวต้มและโจ๊ก ส่วนปีนี้น่าจะเป็นกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเส้นเหลือง คาดว่าจะเห็นได้เร็วที่สุดประมาณไตรมาส 2 เริ่มทดลองทำตลาด”
ผู้บริหารไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ อธิบายอีกว่า โดยปกติมาม่าพึ่งตลาดในประเทศประมาณ 65% ส่งออกประมาณ 30-35% ซึ่งในฝั่งตลาดส่งออกเติบโตดีมาก ตลาดส่งออกหลักคือกลุ่มประเทศเอเชีย นอกจากนี้ยังมีทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐ แต่ด้วยความที่เราใช้ฐานการผลิตที่ฮังการีส่งออกไปจำหน่ายในยุโรปก็จะไม่เห็นเป็นยอดในส่วนของการส่งออกมากนัก แต่จะเห็นยอดทางฝั่งเอเชียมากกว่า
“แนวโน้มตลาดส่งออกยังเติบโตได้ดี เรียกว่าโตเฉลี่ย 2 ดิจิต โดยเฉพาะหลังโควิดระบาด เดินทางมาเจอกันไม่ได้ มางานแฟร์ไม่ได้ เกิดนิวนอร์มอล เราจึงมีโอกาสได้ติดต่อ พบกับลูกค้าและเจรจาทางออนไลน์ การทำให้ลูกค้ารู้จักรสชาติสินค้าก็ใช้วิธีการส่งสินค้าตัวอย่างผ่านแอร์เฟรดไปให้ลูกค้าทดลองชิม
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถรุกขยายไปยังตลาดใหม่ที่ไม่เคยคาดคิดได้ เช่น เลบานอน อเมริกาใต้ และแอฟริกา ถ้าหากอยู่ในภาวะปกติเราต้องใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบินนับ 20 ชั่วโมง ซึ่งไม่คุ้มค่าที่จะส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไป เพราะอาจจะขายได้ปริมาณไม่เท่าไร แต่การสื่อสารกับลูกค้าทางออนไลน์ทำให้มีโอกาสได้เจอลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เหล่านี้มากขึ้น วันละหลายประเทศ”
ในส่วนของวัตถุดิบที่ปรับขึ้นราคา เราใช้วิธีการล็อกราคาล่วงหน้า ทำมาโดยตลอด และเรามุ่งประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ปรับเปลี่ยนส่วนงานที่ใช้เคยคนผลิตมาใช้ระบบออโตเมติกต่าง ๆ โดยจะพิจารณาดูว่าเป็นการลงทุนส่วนไหน และมีโอกาสจะคืนทุนในกี่ปี
“เช่น ลงทุนแล้วคืนทุนได้ 2-3 ปีก็ลงเลย เพราะเราไม่มีปัญหาเรื่องเงินสด ผลประกอบการแต่ละปีเราแบ่งเป็นปันผล 50% และที่เหลือ 50% เก็บเป็นเงินสด ฉะนั้นอะไรที่ลงทุนแล้วคุ้มค่าก็จะลงทุน
ยกตัวอย่าง เช่น เราเตรียมแผนการลงทุนติดแผงโซลาร์รูฟท็อปที่หลังคาโรงงานทุกแห่ง แห่งละ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งประเมินแล้วว่าคุ้มค่า เพราะต้นทุนการติดตั้งถูกลงมาก ซึ่งมีการทยอยลงไปแล้ว เช่น บ้านโป่ง เพรซิเด้นไรซ์ ที่อยู่ในแผนคือ ลำพูน ระยอง และศรีราชา”
ส่วนการลงทุนขยายกำลังการผลิต ได้ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และในปีนี้จะมีการติดตั้งเพิ่มรวม 4-5 เครื่อง ตอนนี้มีการใช้กำลังการผลิตประมาณ 80% หากเพิ่มกำลังการผลิตก็จะได้อีกประมาณ 100-200 ล้านซอง จากภาพรวมที่ผลิตได้ 2 พันล้านซอง
สุดท้ายมองว่าในวันนี้คำว่าดัชนีมาม่าอาจไม่ใช่แค่มาม่าอย่างเดียวแล้ว เพราะในตลาดมีสินค้าอื่นที่เป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น เพียงแต่มาม่ายังมีความได้เปรียบเรื่องการเก็บรักษาได้นาน หรือเมื่อรัฐบาลใช้โครงการคนละครึ่ง ประชาชนไปซื้อของตามร้านค้าย่อยมากขึ้น ก็ยังซื้อมาม่ามากขึ้นเหมือนเดิม แต่อาจเปลี่ยนไปซื้อแบบซองธรรมดาเพื่อให้ได้จำนวนซองมากขึ้น ซึ่งนั่นยังคงทำให้มาม่าครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งสัดส่วน 48-50%
“บริษัทจึงยืนยันที่จะมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มยอดขายให้ได้ 10,000 ล้านบาท จากภาพรวมของกลุ่มในทุกธุรกิจที่วางไว้ 30,000 ล้านบาทในปี 2565”