ช่อง 3 ปลื้มโฆษณาข่าวดีขึ้น ‘สรยุทธ’ คืนจอดันเรตติ้งพุ่ง

ช่องสามปลื้มสรยุทธกลับมา
ภาพจากเฟซบุ๊ก KaiPasit - ไก่ภาษิต

“บีอีซี” ปรับตัวรับอุตฯโฆษณาขาลง ชูคอนเทนต์ข่าว-ละคร-วาไรตี้เป็นหัวหอก รักษามาร์เก็ตแชร์-ขยายฐานคนดู เดินหน้ากลยุทธ์ “1 คอนเทนต์หลายช่องทาง” เพิ่มช่องทางใหม่สร้างรายได้ ขนลิขสิทธิ์ละครดังไปขายในจีน-อาเซียน ควบคู่ส่งแอป CH3Plus ขายคอนเทนต์พิเศษ มั่นใจละครใหม่ออนแอร์ บวก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” คืนจอ ดันเรตติ้งรายการข่าวพุ่ง

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจทีวี บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 และลากยาวมาถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้ออย่างรุนแรง ภาคธุรกิจต่างตัดงบประมาณหรือชะลอการใช้เงินโฆษณาออกไป

ส่งผลให้เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2563 ที่ผ่านมา ติดลบ 14% เหลือเพียง 106,255 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่าตลาดรวม 123,663 ล้านบาท เป็นสื่อโทรทัศน์ 63,178 ล้านบาท ลดลง 7,132 ล้านบาท หรือประมาณ 10.1% สื่ออินเทอร์เน็ต 19,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55 ล้านบาท หรือราว 0.31%

สำหรับบีอีซีมีรายได้รวมลดลง 25.9% เหลือประมาณ 5,860 ล้านบาท กำไรสุทธิติดลบ (ขาดทุน) 214.25 ล้านบาท น้อยลงจากปี 2562 ที่ติดลบ 397.17 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากการบริหารธุรกิจในเชิงรุก อาศัยความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการปรับแผนดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผนวกกับการจัดทำแผนบริหารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการดำเนินงานและบริการ ทำให้สามารถพลิกกลับมามีกำไรในไตรมาส 3-4 โดยยังคงมีรายได้หลักจากการขายโฆษณา และการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ

นายสุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทจากนี้ไป หลัก ๆ จะยังเป็นเรื่องของการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาสัดส่วนทางการตลาด และขยายฐานกลุ่มจำนวนผู้ชมทั้งในเขตกรุงเทพฯ หัวเมืองสำคัญ และขยายฐานสู่นอกเมืองมากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุน้อย 19-24 ปี และ 25-29 ปี ผ่านการพัฒนาคอนเทนต์ละครช่วงไพรมไทม์ โดยในเดือนพฤษภาคมนี้จะลดการรีรันละคร และเปิดตัวละครใหม่ เช่น มนต์รักหนองผักกะแยง, พราวมุก เป็นต้น ส่วนคอนเทนต์ข่าว นอกจากจะฟอร์มทีมพิธีกรข่าวใหม่ ยังคงเน้นการนำเสนอข่าวทันเหตุการณ์ผ่านพิธีกรข่าวมืออาชีพที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการเสนอข่าวเด่นแบบวิเคราะห์เจาะลึก เข้าใจง่าย และตรงประเด็น มีความน่าเชื่อถือสูง

“ขณะนี้ภาพรวมเรตติ้งของช่อง 3 ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะรายการข่าวมีการใช้นาทีโฆษณาดีขึ้น ประกอบกับการกลับมาของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา จะทำให้ครอบครัวข่าว 3 มีความสมบูรณ์มากขึ้น ตลอดจนการออนแอร์ละครใหม่และรายการใหม่ช่วงเดือนพฤษภาคม และปัจจัยคน work from home และลดการออกจากบ้านมากขึ้น คาดว่าจะทำให้เรตติ้งไตรมาส 2 เพิ่มสูงขึ้น”

นายสุรินทร์ย้ำว่า นอกจากนี้ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการโฆษณา ที่กลุ่มโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลงในทุกปี บีอีซีจะขยายช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มเติม ด้วยการพัฒนาโฆษณารูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบรนด์ โฆษณาการตอบสนองผู้บริโภคโดยตรง อาทิ โฮมช็อปปิ้ง ตลอดจนการมีส่วนร่วมผ่านการตลาดแบบบูรณาการ เช่น สปอนเซอร์ชิป (sponsorship) และการจัดกิจกรรม เป็นต้น

รวมถึงการดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น ผ่านกลยุทธ์ single content multiple platform หรือ 1 คอนเทนต์ หลายช่องทาง เพื่อสร้างรายได้ผ่านช่องทางอื่นนอกจากทีวี โดยเฉพาะการจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ (global content licensing) ด้วยการนำคอนเทนต์ละครดังของช่อง 3 ไปขายในประเทศจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน การเผยแพร่คอนเทนต์ผ่านทางแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ อาทิ เน็ตฟลิกซ์, วีทีวี, อ้ายฉีอี้ เป็นต้น รวมถึงมองหาโอกาสในตลาดใหม่ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในกลุ่มการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์เป็น 20% จากเดิมที่มีสัดส่วนราว 18%

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มโฟกัสแพลตฟอร์มออนไลน์ CH3Plus แอปพลิเคชั่น สำหรับรับชมรายการทีวีสด รายการย้อนหลัง และแอปพลิเคชั่นนี้จะมีการเรียกเก็บค่าสมาชิกพรีเมี่ยม สำหรับกลุ่มผู้ชมที่ต้องการรับชมคอนเทนต์พิเศษ รวมถึงมีการจัด 3 พลัสอีเวนต์สำหรับสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดทะลุหลักล้านไปแล้ว และมียอดการสมัครพรีเมี่ยมกว่า 12,000 ราย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ใหม่ให้บริษัท

“อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บีอีซีเติบโตขึ้น คือ การสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน โดยตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาได้ปรับลดขนาดองค์กรลง 55% ให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ช่อง 28SD และช่อง 13 Family รวมทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการหยุดการออกอากาศของช่อง 3 ในระบบแอนะล็อก และการขายเงินลงทุนในบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) คิดเป็นร้อยละ 59.99 ของทุนจดทะเบียน ในราคา 15 ล้านบาท


โดยมีเงื่อนไขนำแบรนด์รายการข่าว เรื่องเล่าเช้านี้ เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง ให้มาอยู่ใต้การดูแลของบีอีซี เวิลด์แทน และได้ปิดบริษัทย่อยอีก 4 บริษัทที่ไม่ได้ดำเนินการและไม่ทำกำไร (แซทเทิลไลท์ ทีวี, บีอีซี สตูดิโอ, บางกอกแซทเทิลไลท์ และยู แอนด์ ไอ) ทำให้ประหยัดและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น” นายสุรินทร์กล่าว