“สรยุทธ สุทัศนะจินดา” เส้นทางคนข่าว สู่การเกิดใหม่ในวันกรรมกร

สรยุทธ์คัมแบ็ค

1 พฤษภาคมของทุกปีถือเป็น “วันแรงงาน” หรือ “วันกรรมกรสากล” ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติ มนุษย์เงินเดือน ลูกจ้าง รวมถึงผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย จะใช้โอกาสในวันหยุดนี้ไปท่องเที่ยวหรือพักผ่อน ทว่าในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาดรุนแรงสะเทือนไปทั้งโลก ผู้คนโดยเฉพาะในประเทศไทยเลือกที่จะเก็บตัวเงียบเชียบไม่ออกไปไหน พร้อมใจกันปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล ขณะที่กว่าร้อยครอบครัวตกอยู่ในความเศร้าโศก หลังโรคร้ายพรากบุคคลที่รักไป

แต่ถึงจะเป็นห้วงเวลาที่หม่นหมองและกราดเกรี้ยวของคนทั่วประเทศ ในวงการข่าวที่ไม่เคยหยุดพักวันแรงงาน ทั้งยังทำงานหนักขึ้นกว่าปกติในปีนี้ เพื่อทวงถามและผลักดันให้การแก้ปัญหาเดินไปข้างหน้า

วันแรงงานของคนข่าวปี 2564 ถือว่าน่ารอคอยกว่าปีไหน ๆ และจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการสื่อมวลชน เพราะเป็นของการกลับมาของกรรมกรข่าวชื่อดัง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา”

จากเด็กเกเรสู่คนข่าว

สรยุทธ สุทัศนะจินดา เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2509 หมายความว่าอีก 10 วันข้างหน้า เขาจะมีอายุครบ 55 ปีเต็ม เดินทางเข้าสู่โค้งท้ายของวัยกลางคน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผ่านเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิต

ชีวิตของสรยุทธไม่ได้เพิ่งจะมาโลดโผนในช่วงคดีไร่ส้ม เขาเคยสัมผัสความงดงามของฟ้าหลังฝนมาแล้วในช่วงวัยรุ่น… ลูกชายคนกลางของครอบครัวที่มีแม่เพียงคนเดียว เคยมีประวัติเข้าไปอยู่ในกลุ่มทะเลาะวิวาทจนถูกจับกุมและถูกส่งไปบ้านเมตตา 15 วัน ระหว่างศึกษาที่โรงเรียนอำนวยศิลป์

เมื่อได้บทเรียนแล้วเขาก็กลับมาตั้งใจเรียนจนจบมัธยม ก่อนเข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 เกรดเฉลี่ย 3.8 เมื่อปี 2530

ปี 2531 สรยุทธเริ่มอาชีพแรกด้วยการเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ตั้งไข่ด้วยการเป็นนักข่าวรัฐสภา ตามด้วยนักข่าวทำเนียบ เก็บประสบการณ์ทำข่าวภาคสนามนาน 4 ปี กระทั่งปี 2535 ถูกเรียกเข้าไปประจำกองบรรณาธิการในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการเมือง ถัดมาอีก 2 ปี ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าข่าวการเมือง ก่อนที่ปี 2540 จะได้เป็นบรรณาธิการข่าว และรองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นในเวลาต่อมา

ก๊อปปี้สุทธิชัย?

ช่วงปี 2539 สรยุทธเริ่มผันตัวจากคนเขียนข่าวมาเป็นคนเล่าข่าว กระโดดมาจัดรายการกับ “สุทธิชัย หยุ่น” ผู้ร่วมก่อตั้งเครือเนชั่น เจ้าของประโยคทอง “ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา”

เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนระดับตำนานที่มีลีลาและเอกลักษณ์เฉพาะตัว สรยุทธเคยเปิดใจถึงเรื่องที่เขาถูกมองว่า “ก๊อปปี้” สุทธิชัย ในรายการ “คุยกับเป็ดสุภี” ทางช่อง TNN24

“จริง ๆ ต้องหลบเขาด้วยซ้ำ เพราะตอนที่ผมโตมา มักจะมีคนบอกว่าเหมือนสุทธิชัย เลียนแบบสุทธิชัยหรือเปล่า คร้าบ คร้าบ เนี่ย ตอนแรกมันก็คงจะมีอิทธิพลนะ (เขายอมรับพร้อมรอยยิ้ม) แต่ถามว่า สนิทกันไหมอะไรยังไง ผมตอบเลยว่าไม่ เขาผู้ใหญ่มาก ๆ แล้วผมเด็กมาก ๆ คือมาจ๊ะเอ๋กันในตอนทำงาน ตอนเขามาจัดรายการ ระหว่างเบอร์หนึ่งกับใครก็ไม่รู้อย่างเรา ก็เกร็งนะ ข่าวรอบตัวก็จับตีลูกระนาด ไม่รู้จะเอาข่าวไหน”

ในรายการที่ออกอากาศเมื่อปี 2555 สรยุทธเล่าด้วยว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยตื่นเต้นที่ต้องจัดรายการคู่กับสุทธิชัย ปรากฏว่าทั้งรายการวันนั้น เขาพูดเพียงแค่ประโยคเดียว

“ผมจัดรายการกับคุณสุทธิชัย เรียกว่าไม่ได้เข้ากันเลย และเจอกันน้อยมาก จัดด้วยกันแค่ 1-2 ครั้ง คือเรากลายเป็นกระถางต้นไม้ ขาดความมั่นใจอย่างรุนแรง ถ้าเอาภาพเก่า ๆ มาดู มันเป็นภาพที่เราอายมาก ไปนั่งอยู่ตรงนั้นทำไม นึกออกไหม ตอนหลังพอเริ่มรู้ตัว ก็เริ่มจริงจัง เข้มข้น ก็เจออีก เอาอีกแล้ว เลียนแบบสุทธิชัยแน่ ๆ”

ระหว่างที่ยังไม่รู้ลูกผีลูกคน สรยุทธตัดสินใจหาแนวทางของตัวเองด้วยการสร้างเสียงหัวเราะในรายการ เบรกความเข้มข้นจริงจังของสุทธิชัย จนครั้งหนึ่งถูกผู้ใหญ่ในค่ายเรียกไปตักเตือน

นอกจากหน้าจอเนชั่น สรยุทธยังได้ปรากฏตัวที่ช่องไอทีวีด้วย เนื่องจากผู้บริหารไอทีวีดึงทีมเดอะเนชั่นไปบริหารข่าว ช่วงนั้นสรยุทธเริ่มเป็นที่รู้จักบ้างแล้ว แต่ดวงของเขายังพุ่งไม่สุด เมื่อกลุ่มชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นในไอทีวี แล้วเกิดการแทรกแซงการทำข่าวการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งในปีนั้นพรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” ลงสมัครเป็นครั้งแรก

มีรายงานว่าฝ่ายผู้บริหารสั่งให้ยกเลิกการวิเคราะห์ข่าวของสรยุทธ ที่พาดพิงการถือหุ้นของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สุดท้ายเนชั่นก็เป็นฝ่ายถอย จำต้องโบกมือลาไอทีวีไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2543 แล้วเริ่มต้นใหม่ที่ยูบีซี 8

จังหวะนั้นสรยุทธเริ่มพัฒนาเพลงดาบของตัวเอง บวกกับได้จับคู่กับ “กนก รัตน์วงศ์สกุล” ที่รับส่งกันอย่างเข้าขา เลยทำให้พวกเขากลายเป็นพิธีกรคู่ขวัญแห่งรายการ “เก็บตกเนชั่น” นอกจากนี้สรยุทธยังมีโอกาสได้ฝึกการตั้งคำถามให้แหลมคม ถึงลูกถึงคน ในรายการ “คมชัดลึก” อีกด้วย

นักธุรกิจสื่อ

15 ปี หลังร่วมงานกับค่ายสื่อยักษ์ นับตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงานจนกลายเป็นพิธีกรรุ่นแรก ล่วงเข้าปี 2546 ช่อง 3 เห็นเพชรเม็ดงามที่ผ่านการเจียระไนแล้ว จึงทาบทามให้เขาไปจัดรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ซึ่งเขาก็ไม่ปฏิเสธโอกาสทองที่จะได้ร่วมงานกับช่องเรทติ้งอันดับ 2 ของประเทศ (ในยุคอนาล็อก) แม้การลาออกของเขาจะสร้างรอยร้าวลึกระหว่างเขากับต้นสังกัดก็ตาม อีกทั้งต่อมาเขายังได้ทำรายการวิเคราะห์ข่าวและเล่าข่าว “ถึงลูกถึงคน” กับโมเดิร์นไนน์ทีวีในยุคที่ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” เป็นผู้บริหาร 

การตัดสินใจดึงคนข่าวมาเป็นพระเอกช่องของมิ่งขวัญถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ลีลาการต้อนแขกรับเชิญให้จนมุมของสรยุทธ สามารถดึงแฟนละครภาคค่ำของช่องอื่น ๆ มาได้ แต่ละคืนแฟนรายการจะตั้งตารอว่าเขาจะสัมภาษณ์ใคร ไม่ต่างจากที่เคยตั้งตารอตอนอวสานของละครช่องคู่แข่ง

ไม่เพียงหารายได้จากอาชีพพิธีกร สรยุทธยังได้ตั้งบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด และ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ในปี 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนบทบาทของเขาจากนักข่าว-พิธีกร เป็น “นักธุรกิจสื่อ” กอบโกยรายได้กว่า 100 ล้านบาท ในปีแรก และกว่า 200 ล้านบาท ในปีที่ 2 จากการทำรายการข่าวป้อนช่อง 3 กับโมเดิร์นไนน์ นอกเหนือจาก 2 รายการแรก

ได้แก่ “คุยคุ้ยข่าว” ทางโมเดิร์นไนน์ ที่ดึง “กนก” มาจัดรายการร่วมกันอีกครั้ง รวมถึงจับเข่าคุย, เรื่องเด่นเย็นนี้ และเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ ทางช่อง 3

คดีไร่ส้ม

สรยุทธกอบโกยชื่อเสียงเงินทองและความน่าเชื่อถือจากความสามารถในการเล่าข่าวยาก ๆ ให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย ตลอดจนการทำสิ่งใหม่ในรายการข่าว เช่น การรับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวบ้าน การตั้งโต๊ะอ่านข่าวนอกสถานที่ การเปิดรับบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม การแจกเสื้อในรายการ การตามติดชีวิตแพนด้า ฯลฯ ซึ่งถือเป็นยุคแห่งการบุกเบิกให้คนทั่วไป นิสิตนักศึกษา ลูกเด็กเล็กแดง หันมาติดตามรายการข่าว ซึ่งเคยเป็นความน่าเบื่อ ถูกเปิดทิ้งไว้เพียงเพื่อรอดูละครเท่านั้น

การเล่าข่าวของเขายังนำไปสู่การถกเถียงในทางนิเทศศาสตร์ ถึงความเหมาะสมกรณีพิธีกรข่าวใส่ความเห็นลงไปในเนื้อข่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยในยุคนั้น แต่เมื่อคนไทยชินกับการตื่นมาฟังสรยุทธเล่าข่าวในทุกเช้า คำถามพวกนี้ก็เลือนหายไป แล้วถูกแทนที่ด้วยความคุ้นเคยสนิทสนม ไม่ต่างจากคนในครอบครัว

ในช่วงยุคทองของสรยุทธ ที่คนในวงการสื่อสารมวลชนเรียกว่า “เจ้าพ่อข่าว” เวลานั้นไม่มีใครเทียบรัศมีของเขาได้ และจะไม่มีทางเกิดดาวดวงใหม่ขึ้นในรายการข่าวเลย ถ้าสรยุทธไม่เดินไปชนเข้ากับตอที่อยู่ในไร่ของตัวเอง

ย้อนไปเมื่อปี 2549 สหภาพแรงงานวิสาหกิจ อสมท ตรวจสอบพบว่า บริษัทไร่ส้ม ซึ่งร่วมผลิตรายการคุยคุ้ยข่าว ระหว่าง 1 ก.พ. 2548 ถึง 15 ก.ค. 2549 ค้างรายได้จากค่าโฆษณาเกินเวลาเป็นเงินเกือบ 138 ล้านบาท สืบสาวราวเรื่องพบว่าเจ้าหน้าที่ธุรกิจระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาดของ อสมท เป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำคิวโฆษณา ซึ่งต่อมาเธอได้สารภาพว่า ไม่ได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงินค่าโฆษณาจากบริษัทไร่ส้ม 17 ครั้ง ซ้ำยังใช้น้ำยาลบคำผิดลบเฉพาะคิวโฆษณาที่เกินเวลาของบริษัทไร่ส้ม หวังปกปิดความผิดตามคำแนะนำของสรยุทธ ทั้งยังเรียกรับเงินกว่า 7 แสนบาท เป็นการตอบแทน

แม้สุดท้ายบริษัทไร่ส้มจะยอมชำระค่าโฆษณาส่วนเกินคืน อสมท 152 ล้านบาท (เป็นค่าโฆษณาส่วนเกิน 138 ล้านบาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ย 7.5%) แต่ อสมท ก็ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและพบว่าเป็นการกระทำผิด

วันที่ 20 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกสรยุทธ 13 ปี 4 เดือน ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ฐานสนับสนุนให้พนักงานในองค์กรของรัฐโกงค่าโฆษณา อสมท จากรายการคุยคุ้ยข่าวกว่า 138 ล้านบาท

จากนั้นสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ได้เรียกร้องให้ช่อง 3 ยุติบทบาทของสรยุทธจนกว่าคดีจะสิ้นสุด เพื่อสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้วงการสื่อ

วันที่ 3 มีนาคม 2559 สรยุทธโพสต์อินสตาแกรม ขอยุติการทำหน้าที่พิธีกรในรายการข่าวทั้งหมด ปีต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน คงจำคุกนายสรยุทธเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน แต่สรยุทธสู้ไม่ถอย ยื่นขอฎีกาต่อสู้คดีจนถึงที่สุด

เมื่อวันชี้ชะตามาถึง เช้าวันที่ 21 มกราคม 2563 สรยุทธเดินทางมาถึงศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด สีหน้าเรียบเฉย ไม่พูดคุยใดๆ กับสื่อมวลชนจำนวนมากที่มารอทำข่าว ศาลใช้เวลาบรรยายคำฟ้องและอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาประมาณ 45 นาที ก่อนมีคำพิพากษาให้จำคุกสรยุทธ 6 ปี 24 เดือน

ส่วนที่สรยุทธฎีกาว่าไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และเคยทำคุณงามความดี ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ ศาลระบุว่าสรยุทธเป็นสื่อมวลชนอาวุโส และเป็นที่นับหน้าถือตาของบุคคลทั่วไป ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สื่อมวลชนอื่น กลับอาศัยโอกาสช่องว่างทางกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเอื้อประโยชน์แก่ตนมากระทำผิดเสียเอง ตามพฤติการณ์กระทำผิด จึงไม่เพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุก

เมื่อศาลพิพากษาแล้วเสร็จ เพื่อนบางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวสรยุทธและจำเลยร่วมในคดี ลงไปยังห้องคุมขังบริเวณชั้น 1 เพื่อรอขึ้นรถส่งไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

จุดต่ำสุดของชีวิต

จากนั้นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ได้เผยแพร่ข้อความ “ความในใจจากพี่ยุทธ ก่อนฟังคำพิพากษา” มีเนื้อหายอมรับการตัดสินของศาลแม้จะไร้อิสรภาพ แต่ไม่เคยคิดหลบหนีคดี

“ผมยอมรับคำพิพากษาโดยไม่เคยคิดว่าจะหลบหนี เพราะนั่นจะเท่ากับผมไม่เคารพกระบวนการของกฎหมายบ้านเมืองที่ผมเกิดและเติบโตมา แน่นอนว่าผมย่อมกลัวการติดคุกติดตะราง แต่ชีวิตผมไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง ไม่ได้สุขสบาย ไม่เคยลำบากตรากตรำจนจะไปใช้ชีวิตในเรือนจำไม่ได้ หรืออยู่ลำบากไม่ได้”

ข้อความดังกล่าวยังระบุถึงชีวิตในวงการข่าวของนายสรยุทธที่ทำงานมาตลอด 30 ปี ไม่เคยมีวันหยุด ไม่เคยนอนหลับได้เต็มอิ่ม เมื่อถูกศาลพิพากษาจำคุกต้องหยุดทำงานที่ตนเองรัก ทำให้รู้สึกทุกข์ทรมานจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้

“กุมภาพันธ์ปี 2559 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาผม และผมต้องหยุดทำงานที่ผมเคยทำมาทุกวัน ทั้งที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ใครไม่เป็นผมคงไม่รู้ว่ามันทุกข์ทรมานขนาดไหนกับการต้องตื่นขึ้นมาทุกวันแล้วไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตของผมอย่างที่เคย ช่วงนั้นผมไม่กล้าแม้กระทั่งเปิดโทรทัศน์ อย่าว่าแต่รายการที่ตัวเองเคยทำ เพราะถ้าต้องเห็นสิ่งที่ผมรักและเคยทำมาตลอด มันจะหยุดน้ำตาของตัวเองไม่ได้ ผมทำได้อย่างเดียวคือ พยายามลืมชีวิตที่เคยเป็นมา”

สำหรับผม การต้องหยุดทำงาน เหตุเพราะคำพิพากษาของสังคม คือความทุกข์ทรมานที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต เพราะคือการห้ามผมใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่การห้ามผมทำอาชีพของผม อิสรภาพในการใช้ชีวิตของผมหมดไปตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อนแล้ว ผมติดคุกสังคมมา 4 ปีแล้ว ตลอด 4 ปีของการต่อสู้คดีก็ไม่เคยมีความสุขเลยแม้แต่วันเดียว ความรู้สึกเสมือนยิ่งสู้ยิ่งแพ้ แต่ก็ต้องสู้

วันนี้ผมคงติดคุกตามคำพิพากษาของศาลสูงสุด ความยากลำบากเดียวคือทำใจ ซึ่งผมยังไม่รู้ว่าจะทำได้ขนาดไหน จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ที่จะทำความคุ้นเคยกับมัน แต่ที่สุดผมก็ต้องยอมรับให้ได้ ชีวิตต้องดำเนินต่อไป อย่างน้อยวันนี้ชีวิตผมก็จะได้เริ่มต้นใหม่เสียที แม้จะต้องเริ่มต้นจากติดลบ อยู่ในคุกตะรางจุดต่ำสุดของชีวิตแต่ก็ได้เริ่มต้น ซึ่งมันจะมีวันหนึ่ง ในที่สุดที่จะได้นับหนึ่งใหม่ ขอบคุณทุกคนที่เจอกันก็เข้ามาจับมือให้กำลังใจ ไม่ได้เจอกันก็ส่งกำลังใจมาให้ จนกว่าจะมีโอกาสพบกันใหม่ครับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา 21 มกราคม 2563

นกน้อยบินออกจากกรง

วันที่ 14 มีนาคม 2564 สรยุทธได้รับอิสรภาพ ท่ามกลางการรอคอยของครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่ปักหลักรอทำข่าว เขาเปิดใจว่า “จะกลับมาทำงานทันที”

สรยุทธ ซึ่งประพฤติตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ช่วยงานของกรมราชทัณฑ์หลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดรายการเรื่องเล่าชาวเรือนจำ ได้รับการพิจารณาเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้รับอภัยโทษโดยการลดโทษ 2 ครั้ง ซึ่งกำหนดโทษหลังสุดคือ 3 ปี 6 เดือน 20 วัน แต่จำคุกมาแล้ว 1 ปี 2 เดือน 6 วัน คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน 14 วัน จากโทษเดิม 6 ปี 24 เดือน

พักสูดอากาศหายใจนอกเรือนจำได้เพียงเดือนเดียว ช่อง 3 ก็แต่งตั้งให้เขาเป็นที่ปรึกษาด้านข่าว ให้เหตุผลว่า ช่อง 3 มีความมุ่งมั่นในการผลิตรายการข่าว เพื่อให้ข่าวของช่อง 3 เป็นรายการข่าวที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมอยู่เสมอ สามารถสร้างฐานคนดูที่เพิ่มขึ้น และสร้างรายได้ให้กับสถานี

กระทั่งวันนี้ 1 พฤษภาคม 2564 ก็ได้ฤกษ์ที่กรรมกรข่าวขวัญใจคนไทยจะกลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โฆษณาอ้าแขนต้อนรับ

การหายไปจากหน้าจอของสรยุทธส่งผลกระทบต่อเรทติ้งและภาพ “ครอบครัวข่าว” ของช่อง 3 อย่างหนัก ทั้งยังเป็นจังหวะให้คู่แข่งเร่งทำคะแนนรายการข่าวของตัวเอง พิธีกรที่อยู่ในวงการมานานได้โอกาสแจ้งเกิดในยามที่บังลังก์ว่าง ไม่นับเรื่องดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ทำให้สื่อขับเคี่ยวกันเข้มข้นขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ช่อง 3 นับวันรอการกลับมาของสรยุทธอย่างทรมานทุกลมหายใจ

ที่ตื่นเต้นไม่แพ้ช่อง 3 คือวงการโฆษณา ที่เจอฝันร้ายจากโควิด หลังผู้ประกอบการลดเม็ดเงินโฆษณาและหยุดแคมเปญต่าง ๆ

“ภวัต เรืองเดชวรชัย” ประธานกรรมการบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ มองว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน หลายแบรนด์เริ่มลดเม็ดเงินโฆษณาลง รวมไปถึงหยุดหรือเลื่อนแคมเปญออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลกระทบต่อทุกสื่อในทันที แม้บางสื่อ เช่น ทีวีจะเป็นสื่อในการรับชมติดตามข่าวสารต่าง ๆ หรือช่วงโควิดจะเอื้อให้คนหันมาดูสื่อในบ้านเช่นนี้มากขึ้น แต่หากพิจารณาถึงเม็ดเงินกลับพบว่าลดลง สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจซบเซา เมื่อไม่มีการซื้อเพิ่มขึ้น แบรนด์จึงลดหรือไม่โฆษณากระตุ้นการขาย

ภวัตยังแสดงความเห็นถึงการกลับมาของสรยุทธว่า การกลับมาของสรยุทธจะส่งผลบวกกับช่อง 3 และเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีเป็นหลัก เนื่องจากบทบาทของสรยุทธไม่เพียงแต่เป็นผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกร แต่ยังเปรียบเสมือนอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ความสนใจในการติดตามข่าวสาร อิทธิพลทางความคิด ความรู้สึกของผู้ชมรายการโทรทัศน์ต่อข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ และการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นพิเศษ

แต่ความท้าทายสำคัญของทั้งช่อง 3 และสรยุทธ คือ ภูมิทัศน์สื่อในช่วง 5 ปีหลังมานี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งในกลุ่มทีวีดิจิทัล ได้มีช่องอื่น ๆ ที่ขึ้นมาแข็งแกร่งด้านคอนเทนต์ข่าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งอมรินทร์ทีวี ไทยรัฐทีวี เวิร์คพอยต์ หรือรายใหญ่ของวงการทีวี ช่อง 7 เองก็ตาม ทำให้กลุ่มผู้ชมกระจายตัวมากกว่าอดีต และยังมีปัจจัยดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชันที่ดึงผู้บริโภคบางกลุ่มไปอยู่ในสื่อออนไลน์เป็นหลักแทน

“ปัจจัยเรื่องคุณสรยุทธต่อการเติบโตของเม็ดเงินในสื่อทีวีจะมีผลมากน้อยขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการดึงผู้บริโภคกลับมาที่คอนเทนต์ข่าวช่อง 3 ได้มากน้อยเพียงใด หากสามารถดึงกลับมาได้มากก็จะส่งผลกระทบทันทีกับช่องทีวีดิจิทัลช่องอื่น ๆ ที่เน้นคอนเทนต์ข่าวเช่นเดียวกัน ภาพแรกที่จะได้เห็นคือการยืดหยุ่นเรื่องราคาโฆษณาเพื่อแข่งขันด้านความคุ้มค่าให้แก่แบรนด์ต่าง ๆ มากกว่า

แต่ทั้งนี้อาจต้องบวกลบปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุหรือเจนเนอเรชันของผู้บริโภคเข้าประกอบด้วย เนื่องจากกลุ่มที่คุณสรยุทธมีอิทธิพลมักเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ไปจนถึงกลุ่มเจนเอ็ก ส่วนกลุ่มเจนวายและเจนซี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้ส่งผลมากนัก” ภวัตกล่าว

ช่อง 7 ทุ่มรับสมรภูมิเดือด

คู่ปรับตลอดกาลอย่างช่อง 7 เวลคัมสรยุทธด้วยการปรับโฉมสตูดิโอด้วยการนำจอขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 50 ตารางเมตร ที่มีความละเอียดและคมชัดสูงแบบ 4K ต่อเนื่องร้อยเป็นผืนเดียวกว่า 22 เมตร ยาวที่สุดในอาเซียน ผสานกับเทคโนโลยี VDO Wall รวมกับ Virtual Studio เพื่อให้การออกอากาศของรายการข่าวช่อง 7 ทันสมัยมากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ชมเปิดประสบการณ์การรับชมข่าวรูปแบบใหม่ที่เสมือนจริงและหลากหลายมิติมากขึ้น โดยสามารถรับชมจอขนาดยักษ์ได้ที่รายการสนามข่าว 7 สี เริ่ม 3 พฤษภาคมนี้

ด้านคอนเทนต์ข่าว ช่อง 7HD เตรียมเสิร์ฟรายการข่าวรอบด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ กีฬา สังคม บันเทิง เน้นความเข้มข้นและครบเครื่อง ครอบคลุมทุกช่วงเวลา พร้อมเสริมทัพทีมผู้ประกาศข่าวและคนข่าวมืออาชีพของช่อง 7 เช่น อนุวัต เฟื่องทองแดง, เปรมสุดา สันติวัฒนา, กฤษดา นวลมี, ศรีสุภางค์ ธรรมาวุธ, ศจี วงศ์อำไพ, ชัยอนันต์ ปันชู, สวิตต์ ลีละพงศ์วัฒนา, เหมือนฝัน ประสานพานิช, ภิญญาพัชญ์ ด่านอุตรา ช่วยถ่ายทอดข่าวน้ำดีตลอดทั้งวัน

สรยุทธจัดทัพข่าวช่อง 3

ฝั่งช่อง 3 ที่อยู่ในจังหวะย่อตัวรอวันกระโดดมานาน เปิดเกมรุกทั้งข่าว-ละคร-วาไรตี้ ในเดือนพฤษภาคม หวังตรึงผู้ชมช่วง work from home โดยมอบไม้กายสิทธิ์ให้สรยุทธ ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ดำเนินรายการข่าว-ผู้ร่วมวางแผนเพิ่มศักยภาพรายการข่าว และควบคุมการผลิตรายการข่าวทั้งหมดของช่อง 3

โดยสรยุทธที่ห่างหายการอ่านข่าวหน้าจอทีวีมานาน 5-6 ปี ประเดิมรายการแรก เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ คู่กับไบร์ท-พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ ดีเดย์ 1 พฤษภาคม เวลา 10.25-12.15 น. ด้วยสโลแกน “การกลับมาของกรรมกรข่าว” ส่วนรายการเรื่องเล่าเช้านี้เริ่ม 3 พฤษภาคม โดยขยายเวลาออกอากาศเป็น 6.00-8.20 น. จากเดิม 6.00-8.00 น.

ขณะที่รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ปรับพิธีกรข่าวเป็นไก่ ภาษิต และตูน ปรินดา ย้ายเวลาออกอากาศเป็นวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.30-18.00 น. จากเดิม 15.45-16.45 น.

นอกจากนี้ ยังเพิ่มรายการใหม่ “ข่าวสามสี” นำทีมโดย 4 พิธีกรหลัก ได้แก่ อ๊อฟ-ชัยนนท์, มาวิน ทวีผล, จอย-ชลธิชา และ ซี ฉัตร ปวีณ์ เป็นรายการสด นำข่าวเด่นประจำวัน กระแสโลกออนไลน์ และแวดวงสังคมไฮโซ ตลอดจนไอที ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ 16.00-16.30 น. เริ่ม 3 พฤษภาคม

สำหรับรายการข่าวอื่น ๆ เช่น เที่ยงวันทันเหตุการณ์, ขันข่าวเช้าตรู่, ข่าวสามมิติ, เรื่องเด่นเย็นนี้ แต่ละรายการจะนำทีมโดยพิธีกรชื่อดัง ทั้งไก่ ภาษิต, หนุ่ม กรรชัย, กิตติ สิงหาปัด, เอ ดนยกฤตย์ ดำเนินรายการข่าวแบบเจาะลึกและเข้าใจง่าย

แม้สรยุทธจะออกตัว 3 วันก่อนออกอากาศว่า “ไม่มีใครรู้ว่ารายการที่ผมกลับมาทำจะประสบความสำเร็จหรือไม่…” แต่อย่างน้อย ๆ ขวัญและกำลังใจของทีมข่าวช่อง 3 กลับมาล้นปรี่เหมือนเดิมแน่นอน หากได้เห็นจำนวนผู้ชมทางช่องทางออนไลน์ที่ทะลุหลักแสนคน รวมถึงคำชื่นชมที่ส่งมาถึงแม่ทัพข่าวว่า “คุณสรยุทธ ฟอร์มไม่ตกเลย”