ZEN-ไมเนอร์อัดฉีดฟู้ดดีลิเวอรี่ ฝ่าด่านโควิด-ห้ามนั่งกินในร้าน

Delivery-แกร็ปฟู้ดส์

คำสั่งห้ามนั่งทานอาหารในร้านทุบยอดร่วงระนาว ทราฟฟิกศูนย์การค้าหาย 70-80% “เซ็น-ไมเนอร์” เพิ่มดีกรีดีลิเวอรี่-ลดต้นทุน “โชนัน-ฟู้ดแพชชั่น-นิตยาไก่ย่าง” หวั่นคุมการแพร่ระบาดไม่อยู่ อาจต้องปิดยาว วอนรัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มความเชื่อมั่น

หลังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) มีคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ใน 6 จังหวัดสีแดงเข้ม (กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม รวม 14 วัน รวมทั้งมีเงื่อนไขการสั่งซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 21.00 น.

ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างหนัก และทุกค่ายต้องหันมาพึ่งพาดีลิเวอรี่เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และบางรายเริ่มพิจารณาจะปิดสาขาชั่วคราวในบางพื้นที่ ล่าสุดสมาคมภัตตาคารไทยได้ทำหนังสือยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว

โควิดรอบ 3 กระทบหนัก

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารรายใหญ่ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น, อาหารตามสั่ง เขียง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า มาตรการที่ภาครัฐออกมาอยู่ในรูปแบบกึ่งล็อกดาวน์ แตกต่างจากปีที่ผ่านมาเพราะครั้งนี้ไม่ได้สั่งปิดร้านอาหาร เพียงแต่สั่งห้ามนั่งทานในร้าน

ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดรอบ 3 นี้กระทบหนัก สังเกตจากจำนวนคนเดินห้างที่ลดลงอย่างมาก เพราะคนเริ่มหวาดกลัวและกังวลเนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง แน่นอนว่าร้านอาหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างหันมาพึ่งพารายได้จากช่องทางดีลิเวอรี่ และการซื้อกลับบ้าน ประกอบกับการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไป

สำหรับร้านอาหารในเครือเซ็นฯก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะสาขาในศูนย์การค้ายังไม่มีการปิดสาขาชั่วคราว ได้หันมาเน้นการซื้อกลับบ้านและดีลิเวอรี่ ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง ส่วนสาขาที่อยู่นอกศูนย์การค้าไม่กังวล เพราะส่วนใหญ่จะเน้นขายดีลิเวอรี่เป็นหลักและมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โฟกัสดีลิเวอรี่-พยุงยอด

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารรายใหญ่ อาทิ เดอะพิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, เบอร์เกอร์คิง, สเวนเซ่นส์ ฯลฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการห้ามนั่งกินในร้านจะกระทบในแง่ของยอดขายในภาพรวม เนื่องจากดีลิเวอรี่ไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด โดย 6 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม คิดเป็นรายได้กว่า 60% ของเครือไมเนอร์ ฟู้ด ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพิ่มและกำลังพิจารณาปิดสาขาชั่วคราวในบางพื้นที่

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาประสบการณ์จากการแพร่ระบาดรอบแรก ที่มีล็อกดาวน์การปรับตัวก็ยังคงโฟกัสดีลิเวอรี่และต้องไดรฟ์การทำการตลาด เพื่อส่งเสริมการขายให้สอดรับกับสถานการณ์ รวมถึงมาตรการความสะอาดและปลอดภัยของทั้งพนักงาน และลูกค้าที่เข้มข้นขึ้น

“สิ่งที่อยากจะให้ทำเป็นการเร่งด่วนคือ การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมถึงบุคลากรที่ต้องให้บริการลูกค้า ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารต่าง ๆ นอกจากนี้ หากเป็นไปได้อยากจะให้รัฐบาลพิจารณาให้เราเข้าร่วมในโครงการหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทำมาโดยตลอด อาทิ ม.33 หรือคนละครึ่ง เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่เองก็แบกภาระต้นทุนต่าง ๆ ที่สูงมาก”

นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านบาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงในครั้งนี้ ประกอบกับมาตรการห้ามนั่งทานในร้าน ทำให้ทราฟฟิกศูนย์การค้าลดลง 70-80% โดยเฉพาะศูนย์ที่อยู่ใจกลางเมือง เนื่องจากผู้คนตื่นกลัวและอยู่บ้านมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทาง

สำหรับร้านอาหารในเครือฟู้ดแพชชั่น หลังจาก ศบค.มีมาตรการออกมา ได้เปิดเคาน์เตอร์ให้ซื้อกลับบ้านและดีลิเวอรี่ ต้องยอมรับว่าเทรนด์ดีลิเวอรี่ไม่ได้หวือหวาเหมือนปีที่ผ่านมา จากปัจจัยของกำลังซื้อที่ลดลง ตลอดจนปัจจัยรอบ ๆ ด้านที่ไม่เอื้อต่ออารมณ์การจับจ่าย และได้มีแคมเปญต่าง ๆ ออกมากระตุ้นยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

อีกด้านหนึ่งก็ต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบแรก

ลดต้นทุนประคองตัว

นายกุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชนัน จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารจานด่วนญี่ปุ่น “โชนัน” (ChouNan) กล่าวในเรื่องนี้ว่า วันนี้ทราฟฟิกภายในศูนย์การค้าลดลงไม่ต่ำกว่า 80-90% สถานการณ์รอบนี้หนักมาก ไม่เหมือนครั้งก่อนที่เชนร้านอาหารเพิ่มช่องทางขายดีลิเวอรี่ ควบคู่กับการออกแคมเปญดังกล่าวออกมาต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาผู้บริโภคตื่นเต้นและต้องการลองสิ่งใหม่ ๆ แต่วันนี้ศูนย์การค้าไม่ได้ปิด และยังสามารถเดินมาซื้ออาหารด้วยการซื้อกลับบ้านได้ ดังนั้น ดีลิเวอรี่ไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้าได้เหมือนปีที่ผ่านมาแล้ว เนื่องจากผู้คนต้องประหยัดค่าใช้จ่าย และมองหาสินค้าที่มีราคาประหยัด

หลังจากที่ ศบค.ประกาศมาตรการออกมา ยอมรับว่าเราเตรียมตัวไม่ทัน ในแง่ของการจัดการวัตถุดิบ ของสดบางอย่างต้องทิ้งไป แต่ในส่วนของวัตถุดิบแช่แข็งได้กระจายใช้ร่วมกันทุกสาขา รวมถึงในส่วนของพนักงานรอบนี้อาจมีการปรับลดชั่วโมงในการทำงานเพื่อรักษาต้นทุน และได้ปรับจากการนั่งทานในร้าน หันมาขายในรูปแบบการซื้อกลับบ้านและขายดีลิเวอรี่ พร้อมออกแคมเปญควบคู่กับโปรโมชั่นผ่านแพลตฟอร์มไลน์แมน ลดราคา 30-50% ระยะแคมเปญเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-14 พฤษภาคม

ด้านนายภเดช กันตจินดา กรรมการ บริษัท นิตยาไก่ย่าง ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด ยอมรับว่า หลังจากปิดให้บริการนั่งทานในร้านนิตยาไก่ย่างทั้ง 20 สาขา ยอดขายหายไปเกินครึ่ง เพราะปกติแล้วช่องทางของรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากการนั่งรับประทานในร้าน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลดเวลาการทำงานของพนักงานเพื่อประคับประคองบริษัท และต้องเน้นที่ดีลิเวอรี่มากขึ้น


สิ่งที่กังวลมากคือถ้าครบ 14 วันแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง การกลับมาเปิดให้นั่งทานในร้านคงทำได้ยาก ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องกระทบทั้งบริษัทและพนักงานของร้าน จึงขอให้รัฐบาลควบคุมการติดเชื้อและส่งเสริมการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน