ตั้ง 36 อรหันต์ แก้โควิด กทม.-ปริมณฑล “ประยุทธ์” ลงนามแล้ว

“พญ.อภิสมัย” เผยประยุทธ์ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์แก้ไขโควิด ในพื้นที่ กทม. -ปริมณฑลแล้ว มีทั้งหมด 36 คน ระดมระดับปลัดกระทรวงฯ ผู้ว่าฯ ระดับอธิบดี แบ่งโครงสร้างการทำงาน 5 ฝ่าย มีผอ. 50 เขต ลงไปในระดับพื้นที่ พร้อมตั้งคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขอีก 1 ชุด 

วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กวันนี้ โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ( สมช.) ในฐานะประธานศบค.ชุดเล็ก ได้จัดทำรายละเอียดเสนอให้ นายกรัฐมนตรีลงนามตั้งแต่วานนี้ โดยมีการเสนอแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเพื่อเป็นการบูรณาการการทำงาน โดยศูนย์นี้มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นผู้อำนนวยการศูนย์ฯ

เปิดโครงสร้าง 5 ฝ่าย ระดม 50 เขตร่วมทำงาน

สำหรับศูนย์ฯนี้แบ่งเป็น 5 ฝ่าย ทำงานร่วมกัน คือ 1.ฝ่ายอำนวยการ 2.ฝ่ายปฏิบัติการการตรวจเชิงรุก 3.ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง 4.ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ และ 5.ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน

ทั้งหมดนี้จะมีผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตใน กทม.เป็น ผอ.ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด- 19 ในระดับเขต ซึ่งจะทำงานร่วมกับคณะกรรมการศูนย์ฯ และแต่ละเขตจะมีการทำงานประสานงานกันในการใช้ทรัพยากร การบริหารเตียง การดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้เสี่ยงสูง หรือรวมไปถึงแผนการกระจายวัคซีน

“จะเห็นว่า ใน 50 เขตจะมีการประสานงาน สอดคลอ้ง ต่อเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และทำให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะเพิ่งแต่งตั้ง แต่มีการทำงานไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น กทม .ในเขตปทุมวัน ผอ.เขตปทุมวันแจ้งว่า มีการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.-4 พ.ค. หรือการตรวจเชิงรุก รวมๆ 3 หมื่นราย พบผู้ติดเชื้อ 1,586 ราย คิดเป็น 3.97% ในจำนวนนี้เป็นการลงพื้นที่ทั้งในตลาด ชุมชน สถานบันเทิง โรงงาน สถานประกอบการ

หากคิดเฉพาะชุมชนของแขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวันพื้นที่ 5.66 ตารางกิโลเมตร มีชุมชมอาศัยค่อนข้างหนาแน่น 6 แห่ง และ 1 เคหะ พบผู้ติดเชื้อรวม 162 ราย ได้รับการดูแลเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม แยกตามอาการ 100% และพบว่าอีก 304 คนอยู่ในเกณฑ์เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทางเขตปทุมวันได้ให้มีการกักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อรอดูอาการ โดยสำนักอนามัยได้จัดถุงยังชีพเข้าไปช่วยเหลือ

“ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นใน 50 เขต เมื่อคัดกรองเชิงรุกและพบมีผู้ติดเชื้อ ทางศูนย์เอราวัณและศูนย์การเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ จะรับผิดชอบเข้าไปคัดแยกว่าอยู่กลุ่มอาการไหน และจัดการนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาที่เหมาะสม และศูนย์เอราวัณเองจะจัดการรถนำส่งผู้ป่วยสู่สถานพยาบาลที่เหมาะสม” พญ.อภิสมัย กล่าว

ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม เข้าไปช่วยเหลือจัดตั้งการดูแลพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ โดยจัดสถานที่พักคอย โดยจัดในพื้นที่โรงเรียนและพยายามให้กลุ่มนี้แยกไปอยู่จนพ้น 14 วัน แต่ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อก็จะแยกไปรักษาตามอาการ ” พญ.อภิสมัย กล่าว

ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก โฟกัส “คลองเตย-ปทุมวัน”

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า วันนี้ กทม.จะมีการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงุรกเพิ่มเติม ในชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เคหะบ่อนไก่ และวันที่ 5-10 พ.ค.ยังลงพื้นที่ต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 2 พันคนต่อวัน และจะลงตรวจในสถานประกอบการอีก 1 พันรายต่อวัน โดยรวมแล้วจะมีการตรวจวันละ 3 พันราย อันนี้ให้เห็นภาพแค่ 1 เขตเท่านั้น ซึ่งในเขตอื่นๆจะมีการทำงานคู่ขนานไปด้วย เช่นพื้นที่คลองเตยที่จะมีการคัดกรองเชิงรุก และดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีนคู่ขนานไปด้วย

สำหรับการกระจายฉีดวัคซีนในกทม. 50 เขต มีประชากรอย่างน้อย 7 ล้านราย การระดมฉีดทั่ว 50 เขต การฉีดคือประมาณ 6 หมื่นรายต่อวันเป็นอย่างน้อย สัปดาห์นี้จะมีการพูดคุยกันในรายละเอียด พเอบริหารจัดการกันต่อไป

ตั้งกุนซือ-คณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข 1 ชุด

นอกจากนี้ในส่วนของศูนย์ฯนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้แต่งตั้ง คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข นำโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร, นพ.อุดม คชินทร, นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รวมทั้งยังจะมี คณบดีในหลายๆองค์กร เข้ามาช่วยกัน เพื่อทำให้ตัวเลขให้สถานการณ์ใน กทม.และปริมณฑลลดได้อย่างเร็ววัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งทั้งคณะกรรมการและที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีชื่อว่า ศูนย์ฯดังกล่าวใช้ชื่อว่า ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  มีคณะกรรมการทั้งหมด 36 คน ดังนี้

  1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม : ผู้อำนวยการศุนย์
  2. พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ : รองผู้อำนวยการ (1)
  3. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย : รองผู้อำนวยการ (2)
  4. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข : รองผู้อำนวยการ (3)
  5. พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร : รองผู้อำนวยการ (4)
  6. พล.อ. ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม : กรรมการ
  7. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรรมการ
  8. นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม : กรรมการ
  9. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ : กรรมการ
  10. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน : กรรมการ
  11. พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร : กรรมการ
  12. พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด : กรรมการ
  13. พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ : กรรมการ
  14. เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม : กรรมการ
  15. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร : กรรมการ
  16. นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ : กรรมการ
  17. พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ : กรรมการ
  18. นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ : กรรมการ
  19. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย : กรรมการ
  20. ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ : กรรมการ
  21. นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม : กรรมการ
  22. นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี : กรรมการ
  23. นายชัยรัตน์ ธาราสันติสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี : กรรมการ
  24. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ : กรรมการ
  25. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร : กรรมการ
  26. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล : กรรมการ
  27. นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม : กรรมการ
  28. นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค : กรรมการและเลขานุการ
  29. รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ได้รับมอบหมาย : กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  30. ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคง : กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  31. นพ.สุนทร สุนทรชาติ : กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  32. พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู : กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  33. พล.ท.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว : กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  34. พล.ต.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ : กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  35. นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร : กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  36. พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย : กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ