ฮาคูโฮโด เผยคนไทยช็อปแก้เครียด ดันยอดซื้อเครื่องสำอาง-สกินแคร์คึกคัก

ฮาคูโฮโด ร่วม สไปซี่ เอช สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเดือน ต.ค. พบดัชนีความสุขคนไทยร่วงร้อยละ 4 สวนทางอัตราความต้องการจ่ายพุ่งร้อยละ 58 ชี้ปัจจัยหลักช้อปแก้เครียด กลุ่มอายุ 20-29 ปี โหมเงินซื้อสินค้าความงามอิเล็กทรอนิกส์ดันยอดสกินแคร์เครื่องสำอางคึกคัก ขณะที่กลุ่มวัย 40-49 ปี ภาระครอบครัวสูง รัดเข็มขัดหนัก พร้อมเผยคนไทยสนใจสถานการณ์บ้านเมืองโควิด-เงินเยียวยาภาครัฐสูงสุด

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ฮาคูโฮโด ร่วมกับ บริษัท สไปซี่ เอช จำกัด ลงพื้นที่สำรวจและการคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยประจำเดือนตุลาคม จำนวน 1,200 คน ทั้งชายและหญิง จาก 6 ภูมิภาค พบว่า ปัจจุบันความสุขคนไทยต่ำสุดในรอบปี อยู่ที่ร้อยละ 59 โดยลดลงร้อยละ 4 จากเดือนสิงหาคม แต่ความต้องการใช้จ่ายกลับดีดสูงสุดที่ร้อยละ 58

จากความสะดวกสบายและความนิยมช้อปออนไลน์ในกลุ่มผู้บริโภค ส่งผลให้ในช่วงจังหวะดังกล่าว ธุรกิจ Online Shopping ได้เร่งสร้างโอกาสทองในการ “ช้อปเอาคืน” โหมโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ไม่ว่าจะเป็นส่งฟรี, 1 แถม 1 แต่ยังมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่ยังต้องการซื้อของนอกบ้านเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและลดความเครียด

อีกกลุ่มหนึ่งที่มีสัดส่วนที่สูงไม่แพ้กันคือการช้อปปิ้ง “คืนความสุขให้ผู้หญิง” เนื่องจาก สถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้บริโภคเพศหญิงต้องแบกภาระที่หนักหน่วง ทั้งการทำงาน เลี้ยงลูกน้อย หรือแม้แต่การดูแลงานบ้าน แต่ยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อหาความสุขให้ตัวเองเพิ่มมากขึ้น

ทำให้กลุ่มผู้บริโภคเพศหญิงมีแนวโน้มความต้องการซื้อสินค้าประเภทสกินแคร์และเครื่องสำอางที่เพิ่มสูงขึ้นติดอันดับ 1 ใน 5 สินค้าต้องการมากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกจากบ้าน แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังอยากให้ตัวเองดูสวยอยู่ตลอดเวลา

และมีอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่น่าจับตา คือความต้องการใช้จ่ายในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และเครื่องเสียง เพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะสินค้าเหล่านี้สามารถกระตุ้นรายจ่ายและเติมเต็มความสุขให้ผู้หญิงได้เป็นอย่างดี และสอดรับกับความสุขในช่วงยุคโควิด

ด้าน นางสาวชุลิกา สายศิลา ผู้จัดการด้านงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สไปซี่ เอช จำกัด กล่าวว่า หากเจาะลึกอินไซด์ในแต่ละช่วงอายุจะพบว่า ผู้บริโภคอายุ 20-29 ปี จะเน้นการหาความสุขให้กับตัวเอง ด้วยการใช้จ่ายสินค้าเพื่อดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสกินแคร์และเครื่องสำอางยังคงเป็นสินค้ายอดนิยมและมาแรงอย่างมาก

ส่วนสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนนั้นยังเป็นสิ่งของจำเป็น ซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมกับงานที่ตัวเองทำและสร้างความสุขให้กับตัวเองได้อีกด้วย

ขณะที่ผู้บริโภคในกลุ่ม 40-49 ปี ยังคงมีการใช้จ่ายเพื่อดูแลครอบครัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเทอมบุตร-หลาน การซื้อนมให้ลูก การดูแลพ่อแม่สูงวัย เป็นต้น แต่ยังคงใช้จ่ายแบบไม่ประมาท รัดเข็มขัดรายจ่ายมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงและการออมเงิน รองรับกับความไม่แน่นอนทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากแบ่งสัดส่วนตามภูมิภาคพบว่า ภาคอีสานยังมีความต้องการใช้จ่ายสูงสุด หลังจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนต่างกลับภูมิลำเนาและวางแผนอยู่แบบระยะยาว เกิดการซื้อสินค้าที่จำเป็นในการใช้ชีวิต หลังจากเจอพิษโควิดและต้องกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

ในภาคกลางนั้นส่วนใหญ่หมดไปกลับสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น เครื่องนอน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการทำงานและสร้างความสุขส่วนตัว

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่า สถานะทางการเงินมีแนวโน้มดีขึ้น และมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งออนไลน์เพื่อลดความตึงเครียด โดยข้อมูลจากผลสำรวจช่วงตุลาคม 2564 พบว่า 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ เป็นกลุ่มสินค้าที่จำเป็นในใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่

1.อาหาร 31%
2.สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน 14%
3.สมาร์ทโฟนและโทรศัพท์มือถือ 10%
4.อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 7%
5.เครื่องสำอางและสกินแคร์ 5%

นางสาวณัฐชมนต์ นพอนันต์โภคิน ผู้จัดการด้านงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สไปซี่ เอช จำกัด กล่าวเสริมว่า “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนตุลาคม 2564” ความยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด หรือที่เรียกว่า Long Covid ส่งผลให้พฤติกรรมของคนไทยให้ความสนใจกับข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 48 โดยเฉพาะข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโควิด มาตรการเยียวยาของภาครัฐ หรือแม้แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศแต่ละวัน

รองลงมาหนีไม่พ้นในเรื่องการเมือง การเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบ และการชุมนุมต่าง ๆ ถึงร้อยละ 24 โดยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นถึง 16% มาเป็นอันดับ 2

และยังติดตามประเด็นร้อนรอบโลก และความเป็นไปในต่างประเทศอย่างตาลีบันบุกยึดประเทศอัฟกานิสถาน ร้อยละ 3 ตามมาด้วยข่าวคดีผู้กำกับโจ้ เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ

สะท้อนได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 อันตึงเครียดและไม่แน่นอนนั้น ยังมีหัวข้อใหม่ ๆ ในผลวิจัยนี้คือเรื่อง Popcat เกมส์ และกีฬา ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงต้องการด้านความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายและหาความสุขตามสภาพแวดล้อมของตนเอง