ร้านอาหารขาดแรงงานหนัก “ฟาสต์ฟู้ด” หันพึ่งหุ่นยนต์แทนคน

MARKET MOVE

 

การนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานคนนั้นมีมานานแล้วในภาคอุตสาหกรรม แต่กับภาคบริการนั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากความซับซ้อนและหลากหลายของงาน และการต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าทำให้การใช้หุ่นยนต์ไม่แพร่หลายนัก อย่างไรก็ตามวิกฤตขาดแคลนแรงงานภาคบริการ อาทิ ร้านอาหาร ที่พัก ค้าปลีก และอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา อาจกำลังทำให้การใช้หุ่นยนต์ในภาคบริการอย่างร้านอาหารเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า วิกฤตขาดแคลนแรงงานในธุรกิจบริการของสหรัฐกำลังย่ำแย่ลงและไร้ทางออก โดยสมาคมร้านอาหารแห่งชาติของสหรัฐระบุว่า ขณะนี้ร้านอาหารถึง 4 ใน 5 แห่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แบ่งเป็น 81% ของร้านแบบฟูลเซอร์วิส และ 75% ของร้านแบบกึ่งบริการตนเอง

สถานการณ์นี้บีบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้านทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องหันไปพึ่งหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่หันมาพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับร้านอาหารเพื่อรับดีมานด์ดังกล่าว

หนึ่งในร้านอาหารที่หันไปหาหุ่นยนต์อย่างชัดเจน คือ บัฟฟาโลวิงส์ เช่น ร้านฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขาทั้งในสหรัฐและประเทศอื่น ๆ รวมกว่า 1,300 สาขา เริ่มทดลองนำหุ่นยนต์มาช่วยงานในครัว เช่น การทอดอาหาร เพื่อลดเวลาเตรียมอาหาร และเพิ่มความสามารถในการรองรับลูกค้า โดยมีแผนขยายจำนวนสาขาที่ใช้หุ่นยนต์เพิ่มอีกอย่างต่อเนื่องในปี 2565 ที่จะถึงนี้

นอกจากงานห้องครัวแล้ว หลายร้านยังเริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์ในส่วนหน้าร้าน เช่น รับออร์เดอร์และเสิร์ฟอาหาร อาทิ ร้านแคลิฟอร์เนียพิซซ่าคิทเช่น ในขณะที่โดมิโน่ พิซซ่า และชิโพเล่ ที่เริ่มนำยูโรหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนรถตู้ขนาดเล็กมาใช้ส่งอาหารไปยังบ้านลูกค้าตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“สเตฟานี เซนเทล” รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจร้านอาหารและนวัตกรรม บริษัท อินสปาย บริษัทแม่ของเชนร้านอาหารบัฟฟาโลวิงส์ กล่าวว่า การนำหุ่นยนต์มาใช้จะช่วยให้ร้านสามารถบริการลูกค้าได้เร็วขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าสามารถรับลูกค้าได้มากขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกันผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายรายต่างพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับงานบริการในร้านอาหารออกมาชิงดีมานด์ อาทิ ไมโซ โรโบติก ซึ่งพัฒนาหุ่นยนต์ย่างเนื้อเบอร์เกอร์และทอดอาหารออกมาตอบโจทย์การใช้ในร้านฟาสต์ฟู้ดที่มักมีเมนูเบอร์เกอร์และของทอดอย่างเฟรนช์ฟรายหรือไก่ทอดเป็นหลัก

โดย “ไมก์ เบล” ซีอีโอของไมโซ โรโบติก อธิบายแนวคิดว่า งานทอดอาหารในร้านฟาสต์ฟู้ดเหมาะกับการนำหุ่นยนต์เข้าไปใช้งาน เพราะเป็นงานหนัก ร้อน ซ้ำซาก และบางครั้งยังอันตรายด้วย จึงพัฒนาหุ่นยนต์รูปแบบแขนกลเข้ามารองรับ

โดยเริ่มทดลองใช้งานในร้านอาหาร เช่น ไวต์แคสเซิลแล้ว ถือเป็นรุ่นที่ 2 ต่อเนื่องจากหุ่นยนต์ย่างเบอร์เกอร์ที่ออกมาก่อนหน้า

ไม่เพียงงานในครัวเท่านั้น ผู้พัฒนายังเริ่มผลิตหุ่นสำหรับงานหน้าร้าน เช่น รับออร์เดอร์และส่งอาหารไปที่โต๊ะลูกค้าอีกด้วย เช่น หุ่นยนต์มาทราดีจากบริษัทริชเทค ที่มีหน้าตาคล้ายชั้นวางของติดล้อและหน้าจอ “ฟิล เฮง” ประธานฝ่ายปฏิบัติการของริชเทค กล่าวว่า หุ่นยนต์ของบริษัทไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพนักงาน แต่ยังช่วยให้ร้านอาหารสร้างรายได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม เนื่องจากเมื่อพนักงานไม่ต้องเดินกลับไปรับอาหารจากครัว ก็สามารถบริการลูกค้าได้เร็วและใกล้ชิดมากขึ้น สามารถอัพเซลเมนูพิเศษหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ เพิ่มได้

นอกจากนี้บริษัทริชเทคยังพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น การทำความสะอาด หวังเจาะเข้าหาลูกค้ากลุ่มใหม่อย่างสนามบินหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย

ขณะเดียวกันอีกหลายบริษัทหันพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับงานดีลิเวอรี่อาหาร รองรับกระแสความนิยมแอปสั่งอาหารและการตั้งคลาวด์คิตเช่น นิวโร กิวีบอต และคาร์ตเคน

อย่างไรก็ตามการนำหุ่นยนต์มาใช้ในร้านอาหารยังมีความท้าทายอยู่ นั่นคือ หลายตำแหน่งงานในร้านยังไม่สามารถทดแทนด้วยหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมการพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์เองก็กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยเช่นกัน เนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ โลหะ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ต่างต้องการใช้งานหุ่นยนต์ในการผลิต

ดังนั้นการนำหุ่นยนต์มาใช้ในร้านอาหารจะแพร่หลายมากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากความสามารถของหุ่นยนต์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตหุ่นเหล่านี้ให้เพียงพอกับความต้องการอีกด้วย