“ปลากระป๋อง”ดิ้นขอขึ้น 2 บาท ต้นทุน “เหล็ก-ขนส่ง” พุ่งไม่หยุด

ปลากระป๋อง

อุตฯปลากระป๋องหมื่นล้านสะเทือน ต้นทุนการผลิต “ปลา-กระป๋อง-ขนส่ง” พุ่ง บาทอ่อนทุบซ้ำต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าแพง “ซูเปอร์ ซีเชฟ-โรซ่า-ปุ้มปุ้ย” ยื่นขอปรับราคา 2 บาท/กระป๋อง ตามรอย “ทียู” “ซีเล็ค” ขอขึ้น 5-7% สมาคมอาหารสำเร็จรูปชี้แนวโน้มต้นทุนสูงต่อเนื่อง “ผักกระป๋อง ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส”เริ่มเจรจาค้าปลีกขอปรับราคาขึ้นตาม

ถึงวันนี้ อุตสาหกรรมปลากระป๋องที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 9,000 ล้านบาท กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งปลาแมคเคอเรลและปลาซาร์ดีน ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ และแพ็กเกจจิ้ง โดยเฉพาะเหล็กที่ใช้ผลิตกระป๋องปรับสูงขึ้น รวมทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่า และเนื่องจากปลากระป๋องเป็นสินค้าควบคุม ผู้ผลิตจึงยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ และต้องรอการอนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน แต่จากปัญหาต้นทุนที่หนักขึ้น ทำให้หลาย ๆ รายหันไปใช้วิธีการปรับขึ้นราคาขายส่งด้วยรูปแบบต่าง ๆ แทนเพื่อคงมาร์จิ้นไว้

แจงต้นทุนขึ้นทุกอย่าง

นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋องแบรนด์ “ซูเปอร์ ซีเชฟ” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากต้นทุนการผลิตสินค้าทุกอย่างที่เพิ่มในรอบปีที่ผ่านมา อาทิ พลังงานทุกชนิด กระป๋อง แผ่นเหล็ก น้ำมันพืช ซอสมะเขือเทศ ปลา ค่าขนส่ง บรรจุภัณฑ์ทุกประเภท ที่ปรับขึ้นตั้งแต่ 20-50% ขณะที่ถ่านหินปรับขึ้นไป 100% ผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาอย่างน้อย 20% แต่เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแรงมากคงปรับขึ้นขนาดนั้นไม่ได้ แต่ควรให้ปลากระป๋องขึ้นราคากระป๋องละ 2 บาท

หากเทียบต้นทุนเฉลี่ยการผลิตปลากระป๋อง ไตรมาส 1/2565 กับต้นทุนเฉลี่ยทั้งปี 2564 เพิ่มขึ้นมาถึง 12% แยกเป็น ต้นทุนปลาซาร์ดีน 9% อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาท ต้นทุนกระป๋อง 3.26-3.71 บาท หรือ 14% การนำเข้าซอสมะเขือเทศ 26% และค่าพลังงาน 100%

การที่ต้นทุนสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้กำไรต่อกระป๋องลดลง นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบของค่าบาทที่อ่อนตัวลงไปถึง 33-34 บาท และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ คือ การปรับค่าแรงขั้นต่ำ และราคาเหล็กที่อาจปรับตัวขึ้นไปอีก ซึ่งต้องรอคณะกรรมการทุ่มตลาดและการอุดหนุนพิจารณาภายในเดือน พ.ค.นี้

ขณะที่นายสุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปลากระป๋อง “โรซ่า” สะท้อนปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบ ค่าขนส่ง บรรจุภัณฑ์ โดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10-15% จากเมื่อช่วงต้นปีที่เพิ่มขึ้น 6-7% ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบไปถึงต้นทุนการจับปลาที่เป็นวัตถุดิบหลัก รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ หรือกระป๋อง ที่ล่าสุดเพิ่งแจ้งมาว่าจะขึ้นราคาอีก ที่คาดว่าปรับขึ้นอีกในช่วงกลางปี ซึ่งจะกระทบกับผู้ผลิตค่อนข้างหนัก แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับราคาส่งไปเมื่อต้นปี แต่ไม่สามารถปรับขึ้นได้อีกเพราะชนเพดานแล้ว

“ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นขอปรับขึ้นราคาไปยังกรมการค้าภายใน ขอกระป๋องละประมาณ 2 บาท แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเรียกคุย คาดว่าอยู่ระหว่างการพิจารณา”

จ่อเจรจาค้าปลีกปรับสัญญา

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่ปรับขึ้นราคา เนื่องจากอาหารกระป๋องเป็นสินค้าควบคุม แต่มีหลายรายที่ทำเรื่องขอปรับราคาไปแล้ว และได้รับการอนุมัติบ้างแล้ว และบางรายอยู่ระหว่างการพิจารณา ที่ผ่านมาบางรายปรับขึ้นราคาขายส่ง ส่วนราคาขายปลีกขึ้นอยู่กับคู่ค้าของแต่ละราย

สำหรับสินค้าอาหารสำเร็จรูปกลุ่มที่มีการปรับขึ้นราคาบ้างแล้ว ได้แก่ ผักกระป๋อง ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส ขณะเดียวกันก็มีผู้ผลิตบางรายที่ปรับตัวมาใช้ถุงเพาช์ (พลาสติก) แทนกระป๋องที่มีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการที่มีบรรจุภัณฑ์หลายชนิดจึงพยายามเฉลี่ยต้นทุนให้มากที่สุด บางรายจึงยังไม่ขอปรับราคาเนื่องจากต้องการรักษาฐานตลาด เพราะการซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบาง และบางส่วนยังติดสัญญาราคาขายกับห้างค้าปลีก

“ตอนนี้ราคากระป๋องยังมีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาอีก และภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) แผ่นเหล็ก (ทินเพลตและทินฟรี) 6 เดือน จะครบกำหนดในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจากกรมการค้าต่างประเทศว่าจะขยายเวลาบังคับใช้ ออกไปอีก 6 เดือนหรือไม่ ต้องรอผลการประชุมพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือ ทตอ.ก่อน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์ราคาแผ่นเหล็กที่ใช้ทำกระป๋อง ซึ่งเป็น 1 ในต้นทุนสำคัญที่ผู้ประกอบการขอปรับขึ้นราคาปลากระป๋องนั้น ล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการนำเข้า แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก (Tin Plate) หรือเหล็กวิลาส กับ แผ่นเหล็กทินฟรี (Tin Free steel) เข้ามาภายในประเทศถึง 7,000 ตัน โดยราคานำเข้าขยับขึ้นไปถึงตันละ 1,500-1,600 เหรียญจากเดิมในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีราคาประมาณ 900-960 เหรียญ/ตัน หรือ ราคาแผ่นเหล็กทำกระป๋องปรับตัวสูงขึ้นถึง 600-640 เหรียญ/ตัน

ซีเล็ค ทูน่า นำร่องปรับไปก่อน

ก่อนหน้านี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู ผู้ผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูปของไทย แบรนด์ “ซีเล็ค ทูน่า” กล่าวถึงภาพรวมต้นทุนการผลิตปลากระป๋องที่ปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 6-7% จากแพ็กเกจจิ้ง และค่าขนส่งที่ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อน ในส่วนของแพ็กเกจจิ้งคิดเป็นสัดส่วน 10% โลจิสติกส์ สัดส่วน 20% ที่เหลืออีก 10% เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยไทยยูเนี่ยนเริ่มปรับราคามาตั้งแต่ปลายปี 2564 ตามต้นทุนชนิดสินค้า ส่วนสินค้าที่รับจ้างผลิต (ORM) ปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับขึ้นนี้ไม่ได้กระทบแต่ทียู เพราะมีผลกับทุกอุตสาหกรรมทุกประเทศทั่วโลก

เรือประมงจ่อพบ รมว.เกษตร

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากต้นทุนน้ำมันเป็นค่าใช้จ่ายชาวประมงถึง 60% ตอนนี้ชาวประมงเจอปัญหาทั้งค่าแรง ค่าเรือ ค่ารถบรรทุกขนส่งสินค้าสัตว์น้ำ น้ำมันแพงแบบนี้ทำให้ชาวประมงจอดเรือแล้วมากกว่า 40% ขณะเดียวกันขณะนี้ค่าเงินอ่อนมาก 3-4 บาทกว่าแล้ว ผู้ส่งออก ห้องเย็นจะได้ประโยชน์ จึงสั่งซื้อและเพิ่มออร์เดอร์ ทำให้สินค้ามีไม่พอ ทั้งหมดนี้ทำให้ราคาในประเทศสูง

“ราคาสัตว์น้ำปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ แต่ราคาก็ไม่แน่ไม่นอน ตอนนี้เป็นไปตามราคาน้ำมัน ซึ่งชาวประมงไม่ออกเรือกว่า 40% เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว อีกทั้งต้นทุนบรรทุกสินค้าขึ้น 20% ตอนนี้อาหารทะเล สัตว์น้ำจึงมีน้อย ราคาจึงสูง จากหลาย ๆ ปัจจัยที่ชาวประมงก็แบกรับต้นทุนมาก หากน้ำมันยังแพงไปอีก 2 เดือน น่ากังวลมาก ๆ จะจอดเรือทิ้งทั้งหมด และในวันที่ 11 พ.ค.นี้ สมาคมจะเข้าหารือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางช่วยเหลือวิกฤตน้ำมันแพงโดยด่วน” นายมงคลกล่าว