พานาโซนิค ปั้นธุรกิจใหม่ ระดมทุน 1 ล้านล้านเยนลุย ‘ซัพพลายเชน’

พานาโซนิค
Photo by Kazuhiro NOGI / AFP
คอลัมน์ : market move

หลังจากพานาโซนิคปรับโครงสร้างไปเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นไม่รีรอที่จะต่อยอดโครงสร้างใหม่นี้เพื่อสร้างการเติบโตให้กับเครือ

ล่าสุดเตรียมปั้นธุรกิจบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการสินค้าตั้งแต่ออกจากโรงงานไปจนถึงร้านค้าปลีก ก่อนจะแยกธุรกิจนี้ออกเป็นบริษัทลูกและนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า พานาโซนิคกำลังปลุกปั้นธุรกิจบริหารซัพพลายเชน โดยอาศัยต่อยอดจากทรัพยากรของ “บลู ยอนเดอร์” (Blue Yonder) บริษัทโลจิสติกส์สัญชาติสหรัฐที่พานาโซนิคซื้อกิจการมาเมื่อปี 2564 ด้วยมูลค่า 8.6 แสนล้านเยน (ประมาณ 2.32 แสนล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน)

ในแถลงการณ์ของบริษัทอธิบายว่า ปัจจุบันการบริหารซัพพลายเชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นผลจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โรคระบาด

รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการโซลูชั่นด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ตลาดนี้จึงมีโอกาสเติบโตสูง และมีการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรม รวมถึงควบรวมกิจการเกิดขึ้น

“ยูคิ คูซูมิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของพานาโซนิคโฮลดิ้ง อธิบายเหตุผลของยุทธศาสตร์นี้ว่า การบริหารซัพพลายเชนนั้นไม่เพียงเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังเป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการต่าง ๆ ต้องอาศัยการตัดสินใจที่ถูกต้องและฉับไวอีกด้วย

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มบริหารจัดการซัพพลายเชนของบลู ยอนเดอร์ มีจุดเด่นด้านการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ติดตามและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าแต่ละชิ้นตั้งแต่ออกจากโรงงาน

ไปยังคลังสินค้าจนถึงร้านค้า ช่วยให้องค์กรที่เป็นลูกค้าสามารถคาดการณ์ดีมานด์ของสินค้าได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถลดความสูญเสียจากกรณีผลิตสินค้ามากเกินความจำเป็น หรือผลิตน้อยจนสินค้าขาดได้ ที่ผ่านมา บลู ยอนเดอร์ มีลูกค้าจากทั่วโลกรวมมากกว่า 3 พันราย รวมถึงยักษ์สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างยูนิลีเวอร์

นอกจากนี้ พานาโซนิคยังอ้างว่า บริการของบลู ยอนเดอร์นั้นช่วยลดระยะเวลาที่โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทต้องใช้ในการเก็บข้อมูลดีมานด์และเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้สั้นลง จากระดับสัปดาห์เหลือเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

อีกทั้งหลังซื้อกิจการนี้เข้ามา พานาโซนิคยังอัพเกรดระบบของบลู ยอนเดอร์ ด้วยการนำโนว์ฮาวและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่บริษัทมีอยู่มาผสมผสานเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับต่าง ๆ และหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริการบริหารจัดการซัพพลายเชน

ขณะเดียวกัน ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ยังจัดลำดับความสำคัญให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการซัพพลายเชนเป็นหนึ่งปัจจัยสร้างการเติบโตเทียบเท่ากับธุรกิจมาแรงอย่างธุรกิจผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ

พร้อมกับวางแผนทุ่มเม็ดเงินลงทุนอีก 4 แสนล้านเยน กับทั้ง 3 ด้านนี้ ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า และเงินทุนที่ได้จากการไอพีโอจะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจบริหารซัพพลายเชนนี้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนักวิเคราะห์การลงทุนคาดการณ์ว่า หน่วยธุรกิจนี้ของพานาโซนิคอาจสามารถมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเยน (2.7 แสนล้านบาท) ซึ่งด้วยมูลค่าระดับนี้ หากนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะทำสถิติเป็นการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ มูลค่าสูงสุดของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น

ลนับตั้งแต่ปี 2561 เมื่อครั้งที่ซอฟต์แบงก์กรุ๊ปหนึ่งในยักษ์ธุรกิจของญี่ปุ่น นำหุ้นของบริษัทซอฟต์แบงก์ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเข้าซื้อขายในตลาด ด้วยมูลค่ารวมสูงถึง 7 ล้านล้านเยน (1.89 ล้านล้านบาท)

โดยปีงบฯ 2564 ที่ผ่านมา (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2565) พานาโซนิคกรุ๊ปมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 55% เป็น 2.55 แสนล้านเยน (6.88 หมื่นล้านบาท) มีธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถไฟฟ้าของบริษัทเทสลา เป็นหนึ่งในตัวสร้างการเติบโตหลัก และหลังจากนี้พานาโซนิคยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มอีก

ส่วนธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารซัพพลายเชนของพานาโซนิค ปัจจุบันยังไม่ถูกแยกเป็นบริษัทเฉพาะ แต่อยู่ภายใต้การบริหารของพานาโซนิค คอนเน็กต์ (Panasonic Connect) มี “ยาสุยูคิ ฮิกูจิ” อดีตประธานของไมโครซอฟท์ สาขาญี่ปุ่นเป็นผู้บริหาร

ทั้งนี้ต้องจับตาดูกันว่า พานาโซนิคจะสามารถปั้นธุรกิจใหม่นี้ให้มีศักยภาพพอที่จะนำเข้าตลาดและจะสามารถระดมทุนได้สูงจนเป็นสถิติของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นได้หรือไม่