ตลาดนาฬิกาหรู ส่อซึมยาว จัดทัพประคองตัวสู้พิษสงคราม-ฝีดาษ

นาฬิกาหรู

ตลาดนาฬิกา 2.5 หมื่นล้าน ส่อแววซบยาวผู้นำเข้าเร่งปรับตัวสู้พิษต้นทุนพุ่ง หวั่นปมสงคราม-ฝีดาษวานร ทุบซ้ำ “มอริสลาครัวซ์” ปรับแผนโลจิสติกส์ ชูฮ่องกงเป็นฮับกระจายสินค้าในเอเชียหวังลดต้นทุนขนส่ง ชี้หากปัญหาสงครามยืดเยื้อ ได้เห็นการปรับราคาอีกระลอก

ส่วน “รอนนี่ อินเตอร์เทรด” ตัดใจปิดสาขา เบนเข็มบุกออนไลน์ เบรกนำเข้าคอลเล็กชั่นใหม่ เน้นขายสินค้าเท่าที่มี ขณะที่ “แท็ก ฮอยเออร์” ปรับขึ้นราคาแล้ว 3-6% ทั่วโลก เร่งเปิดสาขาใหม่สร้างการเข้าถึง หวั่นกระทบกำลังซื้อระยะยาว

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดนาฬิกาที่มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยลบต่าง ๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย และส่งผลให้การเติบโตของตลาดลดลงดับเบิลดิจิต

ล่าสุดจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมทั้งการระบาดของฝีดาษวานรที่กระจายเป็นวงที่กว้างขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการคาดว่าอาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ตลาดซบยาวไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากที่โควิดเริ่มคลี่คลาย

มอริส ลาครัวซ์ ฮ่องกงฮับเอเชีย

นายรวิศ เหตานุรักษ์ ผู้จัดการแบรนด์ มอริส ลาครัวซ์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายนาฬิกา “มอริส ลาครัวซ์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากเดือน พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับราคานาฬิกามอริส ลาครัวซ์ กลุ่มเมนสตรีมขึ้นราว 10% ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ ราคาต้นทุน และปัจจัยลบต่าง ๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมา

จากนี้ไปบริษัทจะยังเน้นการปรับตัวเพื่อบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ล่าสุุดได้ปรับแผนการบริหารจัดการในเรื่องของโลจิสติกส์ ด้วยการหันมาใช้ฮ่องกงเป็นฮับในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียแทน จากเดิมที่จะส่งตรงจากสวิตเซอร์แลนด์ไปยังแต่ละประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เราเริ่มทดลองโมเดลนี้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สมบูรณ์ 100% มากนัก จากนี้จะมีการพัฒนาระบบขนส่งตรงจากฮ่องกงให้ 100% มากขึ้น ควบคู่กับการปรับส่วนลดต่าง ๆ ไปยังลูกค้าลง 10-15% เพื่อบาลานซ์ต้นทุน โดยที่ยังสามารถตรึงราคาไว้ได้โดยไม่ต้องปรับราคาขึ้นในช่วงนี้”

นายรวิศยังกล่าวด้วยว่า จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นตลอดเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อฐานลูกค้าหลักในประเทศรัสเซียที่มีสัดส่วนถึง 20% ให้หาย

บริษัทจึงต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่จากเดิมทีที่มีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ในตลาดรัสเซีย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตลาดหลักของแบรนด์ ทำให้เริ่มมองหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่แทน

“หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังยืดเยื้อต่อไปจนถึงไตรมาส 3-4 เชื่อว่าจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะทำให้ตลาดนาฬิกาทั่วโลกต้องมีการปรับราคาขึ้นอีกระลอกแน่นอน”

ผู้แทนจำหน่ายหวั่นซบยาว 3 ปี

นายรอนนี่ โกรเวอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รอนนี่ อินเตอร์-เทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่าย Calvin Klein Jean, Diadora, Daniel Welington ฯลฯ และนาฬิกา ASIC, ONITSUKA TIGER กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากปัญหาราคาวัตถุดิบ พลังงานที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะในตลาดนาฬิกาที่ทำให้ต้นทุนผู้ผลิตปรับขึ้นไปแล้วราว 20% ทำให้ที่ผ่านมาหลาย ๆ แบรนด์โดยเฉพาะกลุ่มนาฬิกาแบรนด์หรูในตลาดเริ่มมีการปรับขึ้นราคาบ้างแล้ว และคาดว่าสินค้าลอตใหม่ที่ผู้ประกอบการหลาย ๆ ค่ายนำเข้ามาทำตลาดจะมีการปรับขึ้นราคาแทบทุกแบรนด์

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างและช่องทางการขายใหม่ ด้วยการโยกช่องทางจำหน่ายไปยังออนไลน์ 80% และเหลือออฟไลน์หรือหน้าร้านไว้ 20%

พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัท กรู๊ฟ แอนด์ กรู๊ฟวี่ ดอทคอม จำกัด ขึ้นมาเพื่อดูแลการจำหน่ายสินค้าในช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ ควบคู่กับการจับมือกับมาร์เก็ตเพลซทั้งช้อปปี้และลาซาด้า เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ปิดสาขา 35 แห่ง และเหลือหน้าร้านไว้เพียง 2 สาขา ได้แก่ สุขุมวิท 47 และระยอง

“จากนี้ไปต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี เพราะนอกจากเรื่องโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังมีปัจจัยในเรื่องของฝีดาษวานรที่กำลังระบาดในยุโรปเข้ามากระทบอีกระลอก ซึ่งจะทำให้ภาพรวมตลาดฟื้นตัวยากขึ้น และตลาดอาจจะติดลบไปอีก 2-3 ปี ตอนนี้เราจะยังไม่มีการนำสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่ม แต่จะเน้นการจำหน่ายคอลเล็กชั่นเดิมที่มีอยู่เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างคลี่คลายก็มีแผนในการนำเข้าแบรนด์ใหม่จากอิตาลีมาทำตลาด”

“แปซิฟิกา” เดินหน้าบุก

นางสาวโศภนา เลวิจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่ม บริษัท แปซิฟิกา จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมรายใหญ่ อาทิ American Eagle, Birkenstock, Coach, GEOX รวมถึงนาฬิกา TAG Heuer แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า จากปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งค่าพลังงาน รวมถึงปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และฝีดาษวานรในขณะนี้ เชื่อว่าในระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดนาฬิกามากนัก เนื่องจากความต้องการของลูกค้าที่ยังมีอยู่ แต่หากปัญหาดังกล่าวยังยืดเยื้ออาจจะส่งผลกระทบในการตัดสินใจซื้อของลูกค้ามากขึ้น และอาจกระทบต่อตลาดในระยะยาว

สำหรับ TAG Heuer ที่บริษัทนำเข้ามาทำตลาด ปกติจะมีการปรับราคาปีละหนึ่งครั้ง ส่วนมากจะมีการปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ประมาณ 3-6% ขึ้นอยู่กับรุ่นของนาฬิกา และเป็นการปรับในทุกประเทศตามมาตรฐานเดียวกัน ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจและยังคงให้การสนับสนุนทางแบรนด์ จึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก

แม้ขณะนี้อาจจะมีปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนลง และปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้น แต่บริษัทได้พยายามตรึงราคาสินค้าคงที่ไว้ที่เดิม และยังมีแผนจะเพิ่มช่องทางจำหน่ายอย่างต่อเนื่องโดยจะเปิด boutique อย่างน้อยอีก 3 สาขา เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์และการบริการ

นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าคอลเล็กชั่นหรือรุ่นที่ขายดีที่ได้รับความนิยม รวมถึงสินค้าใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“จากแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เริ่มกลับเข้ามา คาดว่าจะช่วยให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดนาฬิกาในภาพรวมจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น และเติบโตอย่างต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก” นางสาวโศภนากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมตลาดนาฬิกาปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาด มีมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มนาฬิกาลักเซอรี่ราคา 5 แสนบาทขึ้นไป ประมาณ 20% นาฬิกาไฮเอนด์ราคา 1-5 แสนบาท ประมาณ 34% นาฬิกามิดเอนด์ ราคา 2 หมื่น-1 แสนบาท ประมาณ 31% และนาฬิกาแฟชั่นและเทรนด์ ราคา 5,000-20,000 บาท 15%