มาม่า แก้เกมราคา เปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูตรลดโซเดียม 8 บาท

มาม่า สูตรลดโซเดียม

“มาม่า” ครบรอบ 50 ปี ออกสินค้าใหม่ สูตร Less Sodium ขาย 8 บาท ยันไม่เกี่ยวกับการขอปรับขึ้นราคากับพาณิชย์

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่า 20,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปีเติบโต 7% ประเมินว่าครึ่งปีหลังตลาดจะเติบโต 3.5% โดยมาม่าครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 มีอัตราการเติบโต 7% ขณะที่ตลาดสินค้าพรีเมี่ยมโตกว่า 15% และทุก ๆ แบรนด์ต่างเจออุปสรรคเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นรอบด้าน

เวทิต โชควัฒนา
เวทิต โชควัฒนา

สำหรับมาม่าได้รับผลกระทบต้นทุน ทั้งแป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม ชนเพดานต้นทุนมา 2 เดือนแล้ว เริ่มขาดทุนและวัตถุดิบที่สต๊อกไว้เริ่มไม่เพียงพอ อยู่ระหว่างรอกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา คาดว่าอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา ขณะเดียวกันมาม่าหันมาเพิ่มกำลังการผลิตส่งออก 30% เพื่อรองรับดีมานด์การทานมาม่าในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ยอมรับว่ามาม่าขอปรับขึ้นราคาไป 1 บาทต่อซอง เป็น 7 บาทต่อซอง ซึ่งความจริงแล้ว แม้มาม่าจะขาย 8 บาทต่อซอง กำไรยังน้อยเลย เชื่อว่าผู้บริโภคยอมรับได้ แม้ระยะแรกที่มีข่าวขึ้นราคาอาจช็อกไปบ้าง

นายเวทิตกล่าวต่อว่า ในปี 2565 มาม่าครบรอบ 50 ปี ที่ผ่านมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยโฟกัสรสชาติให้ถูกปากผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทั้งระดับแมส ไปจนถึงพรีเมี่ยม ตลอดจนการจับมือกับบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เปิดตัวการ์ด NFT คอลเล็กชั่นในวันครบรอบเพื่อให้ผู้บริโภคได้สะสม ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 ระหว่างวันนี้ ถึงวันที่ 3 ก.ค. 2565

สำหรับแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง ล่าสุดมาม่าได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “มาม่า สูตร Less Sodium” ลดโซเดียมจากสูตรปกติลง 32-43% ทั้งหมด 4 รสชาติ ได้แก่ รสต้มยำกุ้ง, รสหมูสับ, รสต้มยำกุ้งน้ำข้น และรสเส้นหมี่น้ำใส จำหน่ายราคา 8 บาท

โดยระยะแรกจะเริ่มวางขายในโมเดิร์นเทรดช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้การออกสินค้าโซเดียมน้อย จะสอดรับเทรนด์สุขภาพ ปัจจุบันคนไทยบริโภคมาม่า 52 ซองต่อคนต่อปี และบริโภคโซเดียมลดลง 12% เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังเตรียมออกสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยมอีกหลายรายการ เริ่มต้น ราคา 10 บาทขึ้นไป พร้อมกับการลดต้นทุนบางส่วน เช่น การปรับเส้นทางขนส่ง ควบคู่กับการปรับวิธีการทำตลาดสื่อสารกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เน้นโฆษณาดิจิทัลเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังต้องเจอความท้าทาย เรื่องกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมาม่าไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจเหมือนเดิม ตลอดจนสถานการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งไม่สามารถประเมินได้ จะรุนแรงขึ้นและจะยืดเยื้ออีกนานแค่ไหน