ทลายเครือข่ายยาโควิดเถื่อน ยึด 80,000 เม็ด ส่งทำลายทิ้ง

ทลายเครือข่ายยาโควิดเถื่อน

สธ.ย้ำ รพ.รัฐ-เอกชนมียาสำรอง 14 วัน ขอให้เชื่อการวินิจฉัยของแพทย์ อย่าหาซื้อยาเอง

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. สืบหาแหล่งขายยาโมลนูพิราเวียร์ผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์ สามารถจับกุมเครือข่ายลักลอบขายยารักษาโควิด 3 ราย รวม 2,300 กล่อง ประมาณ 80,000 เม็ด มูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท

โดยผู้ต้องหารู้จักกับคนอินเดียจากการทำธุรกิจส่วนตัว จึงให้ช่วยซื้อให้และส่งเข้ามาในไทย ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าผ่านทางด่านศุลกากรไปรษณีย์แจ้งวัฒนะ แต่มียาบางส่วนที่ผู้ต้องหาทยอยนำเข้ามาด้วยตนเองด้วย ซึ่งทำมาแล้ว 2 เดือน

ส่วนยาที่จับยึดได้ทั้งหมดจะนำไปทำลาย ไม่มีการนำไปบริจาคหรือนำไปใช้ต่อ เนื่องจากเป็นยาเถื่อน ไม่มีการขึ้นทะเบียน

นายอนุทินย้ำว่า อย่าพยายามสร้างความเชื่อว่า เมื่อแพทย์ไม่สั่งจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ จึงควรไปซื้อเอง เนื่องจากไม่ถูกต้องทั้งการปฏิบัติและทางกฎหมาย รวมถึงอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ

“ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดเชื้อต้องรับประทานยาต้านไวรัสทุกคน ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับเพราะไม่มีอาการ แพทย์จึงไม่ได้จ่ายยาต้านไวรัส แต่อาจจ่ายยารักษาตามอาการ เป็นขั้นตอนตามปกติ ขอให้เชื่อแพทย์ ความปลอดภัยจะเกิด อย่าไปเสี่ยงอันตรายกับการไปซื้อยาเถื่อนที่ไม่ได้รับการรับรอง”

ยืนยันทุก รพ.มีฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์สำรอง 14 วัน

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ยืนยันว่า ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. ได้จัดสรรยาให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยจัดสรรฟาวิพิราเวียร์แล้ว 265.5 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 12 ล้านเม็ด เรมเดซิเวียร์ 375,210 ไวอัล

ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์อยู่ในพื้นที่ 11 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 7.8 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอการใช้ 14 วัน นอกจากนี้จะเติมยาต่อเนื่องเมื่อมีการใช้ด้วยระบบ VMI เพื่อให้ยาในพื้นที่มีสำรองสำหรับการใช้ 14 วันอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเรมเดซิเวียร์เหลืออยู่ในพื้นที่ 35,000 ไวอัล ใช้เพียงพอ 12 วัน ส่วนกลางยังมีสำรองยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ 2.8 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 7 พันไวอัล โดยอยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มเติม คือ ฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 8 หมื่นไวอัล

ขายยาเถื่อนมีโทษทั้งจำและปรับ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 คือ มาตรา 12 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และมาตรา 7(4) ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ