สรรพสามิตตั้งงบปี’67 หมื่นล้าน ระดมจ่ายเงินอุดหนุนซื้ออีวี

NETA V

ค่ายรถอีวีแบรนด์จีน จี้ดีลเลอร์เร่งจดทะเบียนให้ลูกค้าแบบด่วน ๆ พร้อมส่งเอกสารตั้งเบิกขอรับเงินอุดหนุนคืนคันละ 1.5 แสนบาท จากสรรพสามิต ระบุแบกภาระอ่วมเม็ดเงินจมหลายพันล้านบาท ด้านสรรพสามิตยันมีเงินเหลือเฟือพร้อมจ่ายอุดหนุนปีนี้ 3 พันล้าน เล็งไฟเขียวรถอีวีขยับราคาใหม่ตามต้นทุนที่พุ่งขึ้น

ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าร้อนแรงจริง ๆ จากตัวเลขจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 พบว่ายานยนต์ไฟฟ้ามียอดจดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 36,775 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว ๆ 200% สาเหตุความร้อนแรงอย่างแรก ผู้เล่นแต่ละแบรนด์มีโปรดักต์ใหม่นำเสนออย่างต่อเนื่อง

และตัวเร่งที่สำคัญคือแรงสนับสนุนจากรัฐบาลที่กระโดดลงมาช่วยสร้างดีมานด์ โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลมีงบฯอุดหนุนวงเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท กรณีซื้อรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน ผู้ซื้อได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท ขณะที่จักรยานยนต์ไฟฟ้ารับเงินอุดหนุน 8 หมื่นบาท

จี้ดีลเลอร์เร่งจดทะเบียน

แหล่งข่าวดีลเลอร์ค่ายรถอีวีจีนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในงานประชุมดีลเลอร์เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้บริหารนอกจากจะบอกถึงทิศทางและแผนดำเนินธุรกิจปี 2566 ซึ่งมั่นใจว่าตลาดรถยนต์จะฟื้นกลับมาใกล้เคียงหรือดีกว่าช่วงก่อนประเทศไทยเกิดโควิด ยอดขายรวมทั้งปีน่าจะทะลุ 9 แสนคัน ยังกำชับให้ดีลเลอร์ทุกรายที่ขายรถยนต์ไฟฟ้า เร่งติดตามดำเนินการเรื่องจดทะเบียนรถให้ลูกค้าอย่างเร่งด่วน เพื่อทางบริษัทแม่จะได้ยื่นเอกสารทำเรื่องขอรับคืนเงินอุดหนุนกับรถอีวีทุกคันที่ขายไปจากกรมสรรพสามิต เนื่องจากบริษัทแม่ได้แอบซอร์บ (absorb) หรือรับภาระเงินอุดหนุนนี้ไว้ก่อน ถึงวันนี้เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามค่ายรถจีนทุกแบรนด์ ได้รับคำตอบคล้าย ๆ กัน โดยนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า MG ขายรถยนต์ไฟฟ้าผ่านโครงการสนับสนุนทางด้านภาษีของกรมสรรพสามิตนับถึงสิ้นเดือนมกราคม 2566 ทั้งสิ้น 5,469 คัน ยื่นเรื่องขอรับเงินอุดหนุนคืน 2,489 คัน (ทุกคันต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ป้ายและเสียภาษีถูกต้อง) แต่เพิ่งได้เงิน 536 คัน อยู่ระหว่างรอรับเงินอีก 1,953 คัน โดยส่วนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสาร

สำหรับปีนี้ MG ตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 12,000 คัน ตามการยืนยันจากบริษัทแม่ว่าจะสามารถส่งรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1,000 คัน กับ 3 รุ่น ได้แก่ MG ZS EV, MG EP และ NEW MG4 Electric

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat และ ORA Good Cat GT ไปแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 คัน โดยรถส่วนใหญ่หรือประมาณ 80% เป็นรถที่เข้าร่วมนโยบายการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าของภาครัฐที่ได้รับเงินสนับสนุนคันละ 150,000 บาท ณ ปัจจุบันเราได้ทำการรวบรวมเอกสารต่าง ๆ รวมถึงเอกสารการจดทะเบียนของลูกค้าของเรา และได้รับเงินจากทางภาครัฐแล้วประมาณ 1,300 คัน ยังมีค้างอยู่อีกมากกว่า 2,000 คัน

NETA-BYD แบกภาระอ่วม

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด หรือ NETA AUTO ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบรนด์ เนต้า (NETA) จากประเทศจีน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า NETA ยังไม่ได้รับคืนเงินสนับสนุนจากสรรพสามิตเลยสักคันเดียว จากที่ส่งมอบรถให้กับลูกค้าไปแล้วเกือบ 1,000 คัน เนื่องจากอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสาร เท่าที่ทราบทางกรมสรรพสามิตจะมีการจ่ายเป็นรอบ ๆ

“ยอมรับว่าบริษัทแม่ต้องแบกรับภาระหนักมาก ดีลเลอร์ขายรถ 1 คัน ต้นทุนทั้งหมดคือราคาขาย 549,000 บาท บวกเงินอุดหนุนอีก 1.5 แสนบาท แต่เงินถึงมือบริษัทแม่ไม่ครบตามต้นทุน ต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อรอรับคืนเงินอุดหนุน ตอนนี้เท่าที่ถามหลายแบรนด์ก็พยายามเร่งรัดเพื่อขอคืนเงินก้อนนี้”

เช่นเดียวกับแบรนด์ BYD ผู้สื่อข่าวรายงานว่า BYD ขายรถอีวีเต็มโควตา 10,000 คัน ไปเมื่อปลายปี 2565 และเพิ่งเปิดรับจองพร้อมขายเพิ่มอีก 7,000 คัน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ยังไม่ได้ตั้งเบิกรับเงินอุดหนุนคืน เท่ากับว่าโดยรวมตอนนี้ รถอีวีที่มียอดจองกันไปแล้วกว่า 2 หมื่นคัน ทุกบริษัทเม็ดเงินไปจมอยู่ที่กรมสรรพสามิตหลายพันล้านเลยทีเดียว

อ้อนสรรพสามิตขอปรับราคา

นอกจากภาระเงินอุดหนุนจากสรรพสามิตที่ต้องรอรอบการจ่ายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ค่ายรถเป็นกังวลคือ ต้นทุนรถอีวีที่ขยับขึ้นสูงมาก ทั้งชิ้นส่วนวัตถุดิบในการผลิต ราคาแบตเตอรี่ ค่าขนส่ง อัตราแลกเปลี่ยน และเงินเฟ้อ แต่ไม่สามารถขยับราคาขายได้ เนื่องจากได้สรุปราคาขายกับสรรพสามิตไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ถึงปัจจุบันกรมสรรพสามิตจ่ายเงินอุดหนุนรถอีวีไปแล้ว 275 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565-ก.ย. 2566) นี้ ได้เตรียมเงินสำหรับจ่ายอุดหนุนตามมาตรการส่งเสริมรถอีวีไว้กว่า 3,000 ล้านบาท

ปี 2567 เตรียมไว้อีกหมื่นล้าน

“เรามั่นใจว่าเตรียมไว้เพียงพอ ส่วนปีงบประมาณ 2567 ได้เตรียมขอตั้งงบประมาณไว้ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุน เราจ่ายโดยดูว่า รถต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้วเท่านั้น ซึ่งการจะเร่งรัดคงค่อนข้างยาก เพราะขึ้นกับตัวลูกค้า ที่บางรายอาจจะรอเลขทะเบียนสวย หรือบางรายก็อยากจะใช้รถป้ายแดงไปสักพักก่อน ยังไม่อยากเปลี่ยน” นายณัฐกรกล่าว

ส่วนกรณีค่ายรถอีวีขอปรับราคา เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นนั้น นายณัฐกรกล่าวว่า กรมกำลังพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งมียื่นขอปรับราคาเข้ามา 2-3 ค่าย โดยจะพิจารณาให้เรียบร้อยก่อนถึงงานมอเตอร์โชว์ในเดือน มี.ค.นี้

“การขอปรับราคา เราก็จะพิจารณาให้ ก็ต้องพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเอกชนอ้างเรื่องราคาแบตเตอรี่ที่ปรับขึ้นตามวัตถุดิบ ถ้าปรับให้ก็ต้องอนุมัติโครงสร้างราคาใหม่” โฆษกกรมสรรพสามิตกล่าว

อนึ่งก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตได้ตั้งโต๊ะจ่ายเงินอุดหนุนคืนให้กับผู้ประกอบการซึ่งส่งมอบรถอีวีและจดทะเบียนแล้ว 450 คัน มูลค่า 90 ล้านบาท เมื่อกลางเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา และจำนวนอีก 1,700 คัน เม็ดเงินกว่า 300 ล้านบาท ช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา