สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้ปัญหาจีโอโพลิติกส์ของจีน คือโอกาสของประเทศไทย แนะแปลงรถอีวีจีนให้เป็นสัญชาติไทย ชูนโยบายบังคับใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ-อาเซียน หวังดันไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปยุโรป อเมริกา
วันที่ 17 กันยายน 2567 นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวในงานเสวนา “ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” จัดโดย กลุ่มบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
จากนโยบายมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย ผ่านมาตรการอีวี 3.0 และ 3.5 ในช่วงที่ผ่านมา โดยมอบส่วนลดทางภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันละ 100,000-150,000 บาท
ส่วนผู้ผลิตและจำหน่ายได้ส่วนของภาษีสรรพสามิต 6% นั้น มีส่วนสำคัญในการผลักดันยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย จากหลัก 100 คัน ในปี 2558 ขึ้นมาเป็นหลัก 150,000 คัน ในปี 2567 ที่ผ่านมาแล้ว
ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยมียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีความโชคดีบนความโชคร้ายที่ราคาจำหน่ายน้ำมันเเพง ประกอบกับการส่งเสริมจากรัฐบาล ทำให้รถอีวีในช่วงปีที่ผ่านโตมากถึง 600%
ขณะที่ปัญหายอดขายรถยนต์และรถยนต์อีวีที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา หลัก ๆ เป็นผลมาจากมาตรการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จึงทำให้ยอดขายชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้หากพิจารณายอดรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในภูมิภาคอาเซียนกว่า 80% เป็นยอดขายหลักมาจากประเทศไทย ดังนั้นจะเห็นว่าโอกาสของการผลิตรถยนต์อีวีจากประเทศไทยส่งไปในภูมิภาคนี้จึงมีน้อยมาก เนื่องประเทศเพื่อบ้านมีการใช้รถอีวีน้อยและผลิตน้ำมันได้เอง อีกทั้งระบบสาธารณูปโภคอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
ขณะที่โอกาสที่ค่ายรถยนต์จากจีนจะใช้ไทยเป็นฐานผลิต เพื่อส่งออกรถยนต์อีวีไปจำหน่ายยังยุโรปและอเมริกานั้น มีความเป็นไปได้และน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันรถอีวีจีน ยังต้องเผชิญกับปัญหาจีโอโพลิติกส์ ทำให้จีนส่งออกรถอีวีลำบาก และจะมีการต่อต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้นถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเข้ามารับหน้าที่ในการผลิตเพื่อส่งออกแทน เนื่องจากจีนคงไม่หยุดผลิต ดังนั้นประเทศไทยจะต้องพยายามมองหาโอกาสเพื่อที่จะดึงฐานการผลิตมาไว้ในประเทศให้ได้
“ทำอย่างไร จะให้ไทย หล่อที่สุด ส้มมาหล่นในไทยมากสุด หลายคนมองว่าอีวีศูนย์เหรียญ การเอาชิ้นส่วนจากจีนมาประกอบแล้วส่งออกนั้น ไม่ได้ วันนี้เราต้องมองว่า ทำอย่างไรให้ฐานผลิตรถยนต์อีวีต้องเกิดจากไทยให้ได้มากที่สุด ซึ่งรัฐบาลเองกำลังเจรจาเพื่อให้ผู้ประกอบการต้องใช้ชิ้นส่วนจากไทยและอาเซียนให้ได้ 40% เป็นอย่างน้อย”
ทั้งนี้ เชื่อว่าอุตสาหกรรมการผลิตและการใช้แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board) หรือ PCB ของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากรถยนต์ส่วนใหญ่มีการใช้ PCB ทุกระบบมีสมองกล ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะรถอีวีที่ใช้ PCB ทั้งคัน
ดังนั้นทำอย่างไรที่ไทยจะสามารถต่อยอดและดึงเทคโนโลยีเพื่อให้มีการลงทุนและผลิต PCB ขึ้นในประเทศ
“ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนถ่ายจากรถสันดาปภายในไปเป็นรถอีวีนั้น ระบบซัพพลายเชนอาจจะเสียหายบ้าง แต่ไม่เยอะ เพราะหลาย ๆ ส่วนยังต้องใช้เหมือนเดิม เพราะไทยไม่ได้ ผลิตเครื่องยนต์ ดังนั้นผมว่าไม่ได้เดือดร้อนมากนัก ทำอย่างไร จะทำให้การผลิตรถอีวีสัญชาติจีนให้เป็นสัญชาติไทยมากขึ้น”
ปัจจุบันนโยบายรถอีวีเป็นวาระแห่งชาติ เปลี่ยนรัฐบาลแต่นโยบายอีวีไม่เปลี่ยน ขณะนี้มีค่ายจีน 7 โรงงานเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแล้ว และกำลังจะเพิ่มอีก 2 โรงงาน ที่น่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตจากจีนมา
และเชื่อว่าอย่างน้อยประเทศไทยจะต้องได้รับการถ่ายทอดนวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ จากจีนด้วย โดยส่วนตัวมั่นใจว่าปัญหาวิกฤตจีน คือโอกาสของอาเซียน หน้าที่ของเราคือทำให้ไทยหล่อที่สุด
“ประเด็นเรื่องอีวีศูนย์เหรียญ นั้นไม่ต้องกังวล เพราะค่ายรถจีนส่วนใหญ่มีการซื้อที่ดิน ก็ไม่น่าต้องกังวลแล้ว ส่วนปัญหาการจ้างแรงงานจีน เอาเข้ามาทำในไทยเรื่องอีโคโนมิกไม่ได้ ดังนั้นค่ายรถจีนต้องเปลี่ยนสัญชาติ ร่วมทุนกับคนไทยในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อประกอบรถยนต์สำหรับรองรับการส่งออกไปยังยุโรป เพราะไทยไม่มีปัญหาจีโอโพลิติกส์กับยุโรป”