ชิปขาดตลาดสะเทือนอุตสาหกรรม “ฮอนด้า” หยุดไลน์ผลิต รง.อยุธยา

ฮอนด้า

ชิป-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขาดตลาดพ่นพิษภาคอุตสาหกรรม กระทบค่ายรถญี่ปุ่น “ฮอนด้า” ประกาศหยุดไลน์ผลิตชั่วคราว 1 เดือน โตโยต้าใจชื้นมีสต๊อกตุน 2 เดือนเต็ม ชี้กระทบแค่ช่วงสั้น ๆ มั่นใจตลาดส่งออกเริ่มดีดกลับ ดันยอดผลิตรถทั้งปีทะลุ 1.5 ล้านคัน

ปัญหาการขาดแคลน “เซมิคอนดักเตอร์ชิป” หรือ “คอมพิวเตอร์ชิป” กลายเป็นปัญหาระดับโลก มีการคาดการณ์ว่าจะกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกรวมทั้งไทย เนื่องจากยอดการผลิตจะหายไปถึง 1.3 ล้านคัน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ และคาดว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 4 ตามข้อมูลของบริษัทไอเอช เอส มาร์คิต ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยระดับโลก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นประเด็นสำคัญทำให้หลายอุตสาหกรรมมีความกังวลในขณะนี้ จากเดิมที่มีปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอยู่แล้ว ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. ตกมาอยู่ที่ระดับ 84.3 ลดลงจาก 87.3 ในเดือน มี.ค. ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

“ปัญหาขาดแคลนชิปกระทบทุกอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะยานยนต์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนไตรมาส 2/2564 แต่ยังประเมินได้ยาก เพราะหลายอุตสาหกรรมยังต้องดูผลกระทบ และรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การจัดหาและกระจายวัคซีน

อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมยังเดินหน้าลงทุนตามแผน เพราะคาดหวังว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ในปีนี้ วันที่ 19 พ.ค.นี้จะมีประชุมภาคเอกชนร่วม 3 สถาบัน (กกร.) จะทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงหารือถึงเรื่องวัคซีน”

ฮอนด้าลั่นหยุดผลิตทั้งเดือน

ล่าสุด รายงานข่าวระบุว่า โรงงานผลิตรถยนต์ของฮอนด้าที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จะหยุดการผลิตชั่วคราว ระหว่างวันที่ 4 พ.ค. ถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2564 จากหลายปัจจัย รวมถึงปัญหาขาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการผลิตเพียงรุ่นซิตี้แจ๊ซและซีวิคเท่านั้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทได้หยุดไลน์ผลิตรถยนต์ฮอนด้าจริง เนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปเพื่อนำมาประกอบรถยนต์ เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากโรงงานชิปในญี่ปุ่นไฟไหม้ และทั่วโลกมีความต้องการชิปสูงขึ้น

ประกอบกับวิกฤตการขนส่งคลองสุเอซ ทำให้ชิ้นส่วนที่จะนำมาผลิตรถยนต์ไม่เพียงพอ โดยหยุดไลน์ผลิตโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งผลิตรถยนต์ในกลุ่มเอสยูวี ทั้งบีอาร์-วี, เอชอาร์-วี, ซีอาร์-วี รวมทั้งรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ ฮอนด้า แอคคอร์ด ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 เดือน (วันที่ 4-31 พ.ค.) คาดว่าจะกลับมาเริ่มผลิตได้วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป

ส่วนโรงงงานที่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กอย่างรถในตระกูลเดอะซิตี้ ซีรีส์, ซีวิค และแจ๊ซ ยังเดินเครื่องตามปกติ แม้ก่อนหน้านี้จะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ตอนนี้สามารถกลับมาผลิตรถได้ตามความต้องการของลูกค้าแล้ว

รถญี่ปุ่นกระทบหนัก

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนชิปนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายเจอปัญหาเหมือนกันหมด ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ในญี่ปุ่นเองตลาดส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศก็ประสบปัญหาเช่นกัน เนื่องจากชิปที่ใช้อยู่ปัจจุบันจะมีอยู่หลายตัว หลายเบอร์ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีระบบความปลอดภัยสูง ๆ ระบบเซ็นเซอร์มีมาก จำเป็นต้องใช้ชิปในปริมาณมากตามไปด้วย

สิ่งที่ผู้ผลิตแต่ละค่ายกำลังพยายามปรับตัวคือ รถรุ่นไหนที่ใช้ชิปมากจะเลื่อนการประกอบตัวรถออกไปก่อน ทำให้รถรุ่นนั้น ๆ ออกมาช้ากว่าปกติ ขณะที่รถรุ่นที่ใช้ชิปน้อยกว่าจะได้ผลิตก่อน พร้อมกับพยายามหาชิปจากทั่วโลกเข้ามาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีปัญหาขาดแคลนชิป พบว่าช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 ส่งผลให้ภาพรวมการผลิตรถยนต์นั่งมียอดรวม 169,688 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.44% รถยนต์โดยสารขนาดต่ำกว่า 10 ตัน และมากกว่า 10 ตันขึ้นไป ผลิตได้เพียง 29 คัน ลดลง 51.67%

แบ่งเป็นรถยนต์นั่งผลิตเพื่อส่งออก 86,128 คัน ลดลง 1.02% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศผลิตได้ 83,560 คัน ลดลง 3.86% เช่นเดียวกันกับรถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศได้ 103,914 คัน ลดลง 1.89%

โตโยต้าตุนสต๊อก 2 เดือน

แหล่งข่าวฝ่ายบริหารโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า กล่าวว่า โตโยต้าเตรียมรับมือเรื่องนี้มาระดับหนึ่งแล้ว โดยบริษัทแม่ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและกระบวนการผลิตเพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย และสึนามิที่ญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนในการผลิตรถยนต์ทั่วโลก จากเดิมใช้ระบบจัสต์อินไทม์ เปลี่ยนมาเป็นมีสต๊อกชิ้นส่วนเพื่อใช้ผลิตรถยนต์อย่างน้อย 2 เดือน

“ช่วงวิกฤตคลองสุเอซเราก็ไม่กระทบ เหมือนค่ายอื่น ๆ บริษัทแม่จะเป็นผู้จัดสรรดูแลชิ้นส่วนป้อนไปยังฐานการผลิตต่าง ๆ ทั่วโลก ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด”

อีซูซุยันเดินเครื่องตามปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของค่ายอีซูซุช่วงที่ผ่านมามีกระแสในโซเชียลว่ามีพนักงานในไลน์ผลิตรถยนต์ติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องปิดไลน์ผลิตของโรงงานใน จ.สมุทรปราการ เป็นเวลา 14 วัน

จากการสอบถามนางปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ยืนยันว่า อีซูซูไม่ได้หยุดผลิต พร้อมชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ และอ้างว่าถ่ายจากโรงงานอีซูซุมอเตอร์นั้น ขอยืนยันว่าคลิปนั้นไม่ใช่สถานที่โรงงานอีซูซุมอเตอร์ โรงงานยังทำการปกติ โดยพนักงานในส่วนสำนักงานจำนวนหนึ่งทำงานที่บ้าน (WFH) ตามนโยบายรัฐบาล

“เรามีพนักงานบางรายติดโควิดจริง แต่ไม่ใช่การติดเชื้อในคราวเดียวกัน ทางโรงงานได้ให้พนักงานดังกล่าวหยุดปฏิบัติงาน และดำเนินการตามขั้นตอนและมาตรการกรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข”

ไม่กระทบแผนผลิต 1.5 ล้านคัน

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า สถานการณ์ของตลาดส่งออกรถยนต์เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จากยอดผลิตเพื่อการส่งออกเดือน มี.ค.ทำได้ 104,506 คัน เพิ่มขึ้น 16.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 31.50% ถือเป็นตัวเลขส่งออกสูงสุดในรอบ 24 เดือน เป็นผลจากเศรษฐกิจและยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้าดีขึ้น อย่างออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และยุโรป

มั่นใจว่า ปลายไตรมาส 2 เมื่อประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น ตลาดรถยนต์โดยรวมจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอีก เป้าหมายการผลิตรถยนต์ 1.5 ล้านคัน รองรับตลาดในประเทศ 750,000 คัน ส่งออก 750,000 คันทำได้แน่นอน