ยักษ์ญี่ปุ่นรับอานิสงส์ “ชิป” ขาดตลาด เร่งขยายลงทุน

“ไมโครชิป” เป็นชิ้นส่วนสำคัญในสินค้าเทค ซึ่งกำลังขาดแคลนทั่วโลก โดยผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และสารตั้งต้น ขยายกำลังผลิตรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัทเทคญี่ปุ่นหลายรายเร่งลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตวัตถุตั้งต้นที่จำเป็นต่อการผลิตไมโครชิป เพื่อจัดส่งให้กับผู้ผลิตในเกาหลีใต้และไต้หวัน ขยายซัพพลายเชนนอกญี่ปุ่น และตอบสนองต่อความต้องการไมโครชิปในตลาดโลกที่กำลังพุ่งสูงขึ้น

“โตเกียว โอกะ โคเกียว” หนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนเพิ่มกำลังผลิตสารไวแสง ซึ่งสำคัญต่อกระบวนการสลักวงจรไมโครชิปด้วยเทคโนโลยีอียูวี เตรียมขยายโรงงานในเกาหลีใต้ ด้วยเม็ดเงินหลายพันล้านเยน เพื่อขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็นสองเท่า ซึ่งโตเกียว โอกะ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสารไวแสงสูงถึง 25% ของกำลังผลิตทั่วโลก

และ “ไดกิ้น อินดัสทรีส์” ร่วมทุนกับผู้ผลิตไมโครชิปในเกาหลีใต้ เตรียมสร้างโรงงานใหม่สำหรับผลิตก๊าซที่จำเป็นต่อการผลิตไมโครชิป ด้วยเงิน 4 พันล้านเยน คาดว่าเริ่มผลิตได้เดือน ต.ค. 2022

โตเกียว โอกะและไดกิ้นจัดหาวัตถุสำหรับผลิตไมโครชิปกับผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง “ซัมซุง อิเล็คโทรนิคส์” และ “เอสเค ไฮนิกซ์”

ส่วน “ชิน-เอ็ทสึ เคมิคอล” ผู้ผลิตสารไวแสงของญี่ปุ่นอีกราย ทุ่มทุนถึง 3 หมื่นล้านเยน สร้างโรงงานผลิตสารไวแสงแห่งใหม่ที่ไต้หวัน พร้อมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตในญี่ปุ่น และยังมีแผนเริ่มการผลิตเครื่องสลักวงจรด้วยเทคโนโลยี EUV เป็นครั้งแรกในไต้หวันอีกด้วย

ด้าน “โชวา เดนโกะ แมททีเรียลส์” ประกาศลงทุน 2 หมื่นล้านเยน เพิ่มกำลังการผลิตสารกัดกร่อนแผ่นซิลิกอน และวัตถุสำหรับผลิตแผ่นวงจร ทั้งในเกาหลีใต้และไต้หวันภายในปี 2023

แม้ว่าบริษัทเกาหลีใต้และไต้หวันอย่าง “ซัมซุง” และ “ทีเอสเอ็มซี” ถือว่าเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ระดับโลก แต่ญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มเทคโนโลยี EUV ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นได้ประโยชน์อย่างมากจากความต้องการไมโครชิปที่เพิ่มสูงขึ้น โดยชิน-เอ็ทสึ เคมิคอล และ “ซัมโก” มีสัดส่วนการผลิตแผ่นซิลิกอนราว 60% ของการผลิตทั่วโลก และครองส่วนแบ่งการผลิตสารไวแสงสูงถึง 90%

ล่าสุดสหรัฐมีมาตรการดึงดูดบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ให้เข้ามาลงทุนผลิตไมโครชิปและสร้างซัพพลายเชนในสหรัฐมากขึ้น ซึ่ง “อินเทล” และทีเอสเอ็มซี เตรียมลงทุนขยายการผลิตแล้ว

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนว่า ปัญหาขาดแคลนไมโครชิปน่าจะยาวนานอีกหลายปีกว่าสถานการณ์จะปกติ ซึ่งผู้ผลิตสารตั้งต้นอย่างญี่ปุ่นย่อมได้ประโยชน์มหาศาล แต่เป็นความท้าทายที่ต้องวางแผนระดมทุนสำหรับการขยายตัวให้ทันต่อความต้องการของผู้ผลิตไมโครชิปที่กำลังเพิ่มกำลังการผลิตทั่วโลก