รื้อภาษีนำเข้าแพ็กเกจอีวี ตลาดรถชอร์ตยอดจองวูบ

เปิดเบื้องลึกแพ็กเกจจูงใจซื้อรถอีวีไม่สะเด็ดน้ำ ปลัดพลังงานท้วงภาษีศุลกากรยังเหลื่อมล้ำแต่ละประเทศไม่เท่ากัน “สันติ” สั่งกรมศุลฯศึกษาปรับโครงสร้างภาษีอีกรอบ ขณะที่ “สุพัฒนพงษ์” ยันเร่งเต็มที่ ฟากค่ายรถกุมขมับตลาดชะงัก “วอลโว่-ออดี้” พร้อมปรับราคาขายหลังภาษีใหม่คลอด

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แพ็กเกจมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีที่ล่าช้าออกมาตั้งแต่ปลายปี 2564 นั้น

และยังไม่สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เนื่องจากติดขัดบางประเด็นโดยเฉพาะที่ปลัดกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ทักท้วงคือ ภาษีศุลกากรและเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทสำหรับรถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท

คลังยันสรรพสามิต 2% ลงตัว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีข้อตกลงทางการค้า อาทิ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจจะมีผลกระทบในแง่ความเหลื่อมล้ำ

เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้ากันขึ้นแต่สำหรับตัวโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จะลดจาก 8% มาเหลือ 2% ไม่ได้มีปัญหา ก็เลยต้องตีเรื่องกลับมาหารือกันในบอร์ดอีวีใหม่อีกครั้ง

เพราะไม่อย่างนั้นจะไปเถียงกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่จบ อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้วทุกฝ่ายก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการสนับสนุนการใช้รถอีวีในประเทศคงหาข้อสรุปร่วมกันได้ พอตกผลึกแล้วก็สามารถชง ครม.เห็นชอบต่อไปได้ทันที

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหากนำเข้ารถอีวีจากประเทศญี่ปุ่นจะเสียภาษี 20% ส่วนยุโรปจะคิด 80% และเกาหลีใต้ 40%

มาตรการจูงใจที่กระทรวงการคลังเสนอมาก่อนหน้านี้จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการลดราคารถยนต์อีวีลงมา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% และลดภาษีศุลกากร 40%

ซึ่งการลดภาษีนำเข้านั้น ปัจจุบันรถยนต์อีวีจีนได้รับสิทธิประโยชน์พิกัดภาษีนำเข้า 0% ตามข้อตกลงเอฟทีเอ ส่วนรถยนต์อีวีจากประเทศอื่น ๆ ในโซนเอเชีย ถ้าต้องการจูงใจก็จำเป็นต้องให้ใกล้เคียงหรือเท่ากัน ขณะที่ค่ายรถยุโรปปัจจุบันเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 80% ก็จะได้รับการลดภาษีเหลือ 40% เป็นต้น

“สันติ” สั่งกรมศุลฯ รื้อภาษี

ก่อนหน้านี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเร่งศึกษารายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถอีวีทั้งระบบ เนื่องจากขณะนี้ภาษีนำเข้ารถยนต์ของแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันอยู่

เช่น จีนได้รับสิทธิความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น แต่หากผลิตในบางประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ยังคงเสียภาษีในอัตราสูงอยู่ เนื่องจากไม่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทย เป็นต้น

“การปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จะต้องจูงใจให้มีการใช้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก

ดังนั้นการปรับภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องสมดุลกันทั้งสองขา ทั้งคนใช้และผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม หากปรับภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า แต่ภาษีของแต่ละประเทศ คงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่จะมีความสมดุลกันมากขึ้น แต่ในอนาคตราคารถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลงอย่างแน่นอน และมีหลากหลายรุ่นให้ลูกค้าได้เลือก” นายสันติกล่าว

รองนายกฯพ้อระบบราชการช้า

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานบอร์ดอีวี กล่าวว่า จะพยายามทำให้แพ็กเกจมาตรการออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้โดนว่าเป็น “มหาเฉื่อย”

ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการอยู่ เนื่องจากกระบวนการในประเทศไทยจะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็น เช่น ความเห็นจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

“หากเป็นการดำเนินงานของบริษัทเอกชน ป่านนี้ก็เข้าบอร์ดไปแล้ว แต่เมื่อเป็นราชการ ก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเราก็จะพยายามทำให้เร็วที่สุด และทำให้ดีที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับประเทศ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ส่วนมุมมองจากภาคเอกชนที่ยังไม่พร้อมก้าวไปสู่อีวี เนื่องจากบางส่วนยังมีลักษณะของไฮบริดอยู่นั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ก็แล้วแต่ความพร้อมของผู้ประกอบการ หากรายใดพร้อมก่อนก็เข้ามา ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้ามานั้น ก็จะมีมาตรการที่เข้ามาจูงใจในการลงทุนในประเทศไทยให้ โดยไม่ได้เป็นการให้ส่วนลดเปล่า อนาคตก็จะต้องมาผลิตที่ประเทศไทย

กระทรวงอุตฯยันช้าที่คลัง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้มอบหมายให้ นายภาณุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) แทนในวันนี้ (14 มกราคม 2565)

โดยกระทรวงอุตฯยืนยันเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมาตนได้ประชุมหารือร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง

ดังนั้น ปัญหาความล่าช้าเรื่องการออกแพ็กเกจสนับสนุนการใช้อีวีไม่ได้เกิดจากกระทรวงอุตสาหกรรมแน่นอน และที่สำคัญ หลักการการส่งเสริมการใช้อีวีซึ่งเป็นเรื่องภาษีน่าจะต้องเป็นการสรุปจากกรมสรรพสามิต ไม่เกี่ยวกับเรื่องภาคอุตสาหกรรม

ต่อคำถามในประเด็นเรื่องการส่งเสริมอีวีอาจจะเป็นการไปทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปบางรายการต้องหยุดการผลิต จนเป็นเหตุให้เกิดแรงต้านการเดินหน้านโยบายส่งเสริมรถยนต์อีวีนั้น นายกอบชัยตอบสั้น ๆ ว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ ทั้งยังย้ำว่านโยบายการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทุกประเภทต้องมุ่งให้เกิดความสมดุล

รับไม่ทัน ครม.สัปดาห์หน้า

ด้านนายภาณุวัฒน์กล่าวว่า ผลสรุปการประชุมบอร์ดอีวีในวันนี้จะต้องเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วที่สุด แต่คงไม่ทันในรอบการประชุม ครม.วันที่ 18 มกราคม 2564

ซึ่งวาระการประชุมนี้อาจจะมีเรื่องแพ็กเกจ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้สรุปประเด็นดังกล่าวหรือยัง แต่ไม่ได้ล่าช้า เป็นการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ เรื่องการส่งเสริมการใช้รถอีวีหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อสรุปทางฝั่งผู้ใช้ ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับทางฝั่งผู้ผลิต เราต้องบาลานซ์การส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งรถยนต์สันดาปและอีวี

ค่ายรถกุมขมับตลาดชะงัก

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

กระแสรัฐบาลเตรียมคลอดแพ็กเกจสนับสนุนคนใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้หลายคนรอความชัดเจน ส่งผลให้ตลาดหยุดนิ่งไประยะหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564 และยาวมาถึงปัจจุบัน

เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าทั่วไปชะลอการซื้อ และที่ตัดสินใจซื้อแล้วก็ชะลอการรับรถออกไปก่อน ยกเว้นในส่วนของตลาดฟลีต รถยนต์ที่ซื้อเข้าไปยังหน่วยงาน องค์กร หรือธุรกิจรถเช่า ทุกอย่างยังต้องเดินหน้าไปตามปกติ

“ลูกค้าเยอะมากที่รอ เพราะเขาเชื่อว่าแพ็กเกจที่คลอดออกมามีผลต่อราคาขายรถยนต์อีวี ถ้ายิ่งช้าก็กระทบไปเรื่อย ๆ”

เช่นเดียวกับนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ORA Good Cat ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน แต่ก็มีบางรุ่น เช่น รุ่น 500 Ultra ลูกค้าต้องการรับรถให้เร็วที่สุด เนื่องจากที่ตัดสินใจซื้อเพราะต้องการเป็นผู้นำเทรนด์ และตัวนี้ที่ถือเป็นแรร์ไอเท็ม สั่งรถวันนี้อาจจะต้องใช้เวลารอรับรถนาน 5-6 เดือน

ปรับราคาขายทันทีหลังภาษีมีผล

นายคริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยอมรับว่า ลูกค้าของวอลโว่มีกระทบและชะลอการตัดสินใจซื้อบ้างในช่วงปลายปีไม่เยอะเพียงแค่ 2-3%

แต่เมื่อรัฐบาลประกาศเลื่อนการพิจารณา ลูกค้าที่กำลังตัดสินใจกลับมาจองซื้อตามปกติ เพราะกว่าจะรับรถต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน และวอลโว่ก็พร้อมปรับราคาขายตามต้นทุนภาษีที่ได้ลดลงไป

เช่นเดียวกับนายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด หรืออาวดี้ ประเทศไทย กล่าวว่า รถยนต์ออดี้พร้อมปรับราคาขายหลังนโยบายภาษีมีความชัดเจนและบังคับใช้

ปัญหาด้านการขายไม่เยอะ แต่ลูกค้าจะเสียความรู้สึก บริษัทสามารถทำทุกอย่างตามที่ลูกค้าต้องการ หากรถที่ลูกค้าสั่งซื้อมาถึงประเทศไทยแล้วแต่ลูกค้าไม่พร้อม ก็สามารถเก็บรถไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนได้โดยยังไม่เสียภาษีจนกว่าแพ็กเกจอีวีจะมีความชัดเจน