โตโยต้าเด้งรับแพ็กเกจภาษีรถอีวี ตั้งเป้าชิงยอดขาย 3.24 แสนคัน

รถไฟฟ้าEV ของโตโยต้า
อัพเดตข่าว วันที่ 23 มกราคม 2565 เวลา 00.03 น.

“โตโยต้า” กางแผนใหญ่ฉลอง 60 ปีบุกรถยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ ตั้งเป้าปีนี้ชิงแชร์ตลาดรถยนต์ 35% ปั้นยอดขาย 3.24 แสนคัน จากตลาดรวม 9.28 แสนคัน มั่นใจได้อานิสงส์ ครม.คลอดแพ็กเกจภาษีสัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวดีลเลอร์โตโยต้าในเขตพื้นที่ภาคกลางเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เรียกประชุมดีลเลอร์ทั่วประเทศ จำนวน 155 ราย เพื่อรายงานผลดำเนินการปี 2564 ที่ผ่านมา และบอกทิศทางการรุกตลาดในปี 2565

บุกตลาดอีวีเต็มสูบ

ในวันประชุมนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ รายงานผลประกอบการปี 2564 ที่ผ่านว่า ตลาดรวมทุกยี่ห้อทำได้ 7.62 แสนคัน ต่ำกว่าปี 2563 เกือบ 3 หมื่นคัน โดยอันดับ 1 ยังเป็นโตโยต้าทำตัวเลขยอดขายได้ถึง 2.39 แสนคัน โดยในปี 2565 โตโยต้าประเมินว่าตลาดรวมน่าขยายตัวขึ้นไปถึง 9.28 แสนคัน และโตโยต้าตั้งเป้ากวาดยอดขาย 3.24 แสนคัน ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 35%

“แผนการรุกตลาดปีนี้เนื่องจากเป็นการก้าวสู่ปีที่ 60 ซึ่งโตโยต้าเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ดังนั้นจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ทยอยคลอดออกมาอย่างต่อเนื่อง มีแคมเปญกระทุ้งตลาดแรง ๆ แล้ว ปีนี้โตโยต้าพร้อมบุกตลาดรถอีวีเต็มสูบรองรับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลด้วย”

โดยก่อนหน้านี้คณะผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าได้พานายโคอิจิ ฮากิอูดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น และนายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำราชอาณาจักรไทยเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงงานโตโยต้า สำโรง พร้อมให้ข้อมูลว่าโตโยต้ากำลังเร่งมือพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ พัฒนาทรัพยากรบุคคลและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืน

โดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ต่อนโยบายของภาครัฐ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรและทุกภาคส่วนที่มีแนวคิดตรงกัน เพื่อร่วมกันผลักดันให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยเร็วที่สุดด้วยการแนะนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบเข้าสู่ประเทศไทย

ส่งรุ่นพิเศษให้เหมาะสมคนไทย

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะนำเข้ามาทำตลาดในบ้านเรายังไม่มีข้อมูลชัดเจน เนื่องจากโตโยต้าเพิ่งประกาศจะคลอดรถอีวี 30 แบรนด์ โดย “อากิโกะ โตโยดะ” ประธานใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศพร้อมลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าผ่าน 3 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์โตโยต้า, แบรนด์เลกซัส และแบรนด์ใหม่ bZ วางเป้าภายในปี 2030 จะกวาดยอดขายรถอีวีทั่วโลกได้สูงถึง 3.5 ล้านคัน

ขณะที่ นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เคยกล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำตลาดรถอีวีในประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐเป็นสำคัญ

โตโยต้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด รายแรก ๆ ของโลก ซึ่งรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่ต่างกัน เพียงแต่นำเครื่องยนต์ออกแล้วเพิ่มแบตเตอรี่เข้าไปก็เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว

วันนี้รถยนต์ของโตโยต้าพร้อมแล้ว เพียงแต่ว่าตลาดจะพร้อมเมื่อไหร่ และเมื่อตลาดมีความพร้อม โตโยต้าสามารถเลือกรุ่นรถยนต์ที่เหมาะสมมานำเสนอได้ทันที

ครม.พร้อมคลอดแพ็กเกจสัปดาห์

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แพ็กเกจและมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี น่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ภายในสัปดาห์หน้า (วันที่ 25 มกราคม 2565 หลังจากที่มีการปรับปรุงมาตรการบางส่วน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของภาษีนำเข้า (ศุลกากร) ซึ่งเดิมกำหนดรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นจะเสียภาษี 20% ยุโรป 80% เกาหลีใต้ 40% และจีน 0% ตามกรอบอาฟต้า

แหล่งข่าวกล่าวยืนยันว่า การปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยจูงใจให้มีการใช้ภายในประเทศมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก ดังนั้น การปรับภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ล่าช้า เพราะต้องพยายามทำให้สมดุลกันทั้งฝั่งผู้ใช้และผู้ผลิต

และก่อนหน้านี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ก็ระบุชัดเจนว่า เรื่องแพ็กเกจสนับสนุนรถอีวีต้นปี 2565 จบแน่นอน

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นจะเล่นด้วยหรือไม่นั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ค่ายญี่ปุ่นประกาศแล้ว รอแค่แถลงการณ์ที่ชัดเจนเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม 2565 ทางฝ่ายบริหารการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เตรียมจัดแถลงข่าว “แนวโน้มตลาดรถยนต์ไทยในปี 2565” พร้อมแถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ของโตโยต้าในปี 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป ช่องทางรับชม www.toyota.co.th/news โดยนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จะเป็นผู้แถลงรายละเอียดทั้งหมด

เชื่อมาตรการไม่เปลี่ยนแปลง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแพ็กเกจนี้มีการปรับปรุงเล็กน้อย แต่เป้าหมายเหมือนเดิมคือ ต้องการผลักดันให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึง 10% ของการผลิตรถยนต์ในปี 2568 และขยายไปถึง 30% ภายในปี 2573

สาระสำคัญของแพ็กเกจ ลดภาษีศุลกากรแล้ว แต่แหล่งที่มาของสินค้า (ไม่เท่ากัน) ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% จากเดิม 8% และจ่ายเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทให้ประชาชนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถคันแรกราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท

ส่วนรถอีวีที่ราคาเกิน 2 ล้าน จะลดภาษีศุลกากรเหลือ 40% ส่วนใหญ่มาจากโซนยุโรป และภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% แต่เงินอุดหนุนไม่ได้ บริษัทรถยนต์ที่จะได้รับจะต้องขอรับและได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ผู้นำเข้าอิสระ (เกรย์มาร์เก็ต) ไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะไม่มีการลงทุนผลิตในประเทศระยะเวลาแพ็กเกจ 2 ปี โดยนำเข้า 1 คัน ต้องผลิต 1.5 คัน หลังจากนั้นเป็น 1 ต่อ 1 ผิดเงื่อนไขจะถูกเรียกคืนภาษีทั้งหมด