ความท้าทายของ “CU TOYOTA Ha:mo”

โครงการนี้วางแผนที่จะให้ “CU TOYOTA Ha:mo” เป็นเวทีของนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation Platform) เพื่อการพัฒนาสังคมของการสัญจรในอนาคตร่วมกันด้วยการส่งเสริมให้ผู้คนและสังคมปรับตัวเข้ากับนวัตกรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกันอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาสังคม การเปิดโอกาสให้ทั้งบริษัทที่สนใจ นิสิตนักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ และองค์กรต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ช่วยให้สามารถรวบรวมแนวคิดต่างๆ คัดเลือกแนวทาง พัฒนาแผนโครงการ ตลอดจนทดลองใช้ในพื้นที่จริง อันนำไปสู่สังเคราะห์แนวทางการแก้ไขเพื่อคนไทยในอนาคตที่จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กล่าวว่า “ยังคงมีประเด็นปัญหาต่างๆ ในเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกันในสังคมไทย เราจะพัฒนาโครงการ CU TOYOTA Ha:mo เพื่อเป็นเวทีของนวัตกรรมแบบเปิด อันจะปูทางไปสู่การแสวงหาแนวทางการนำเอานวัตกรรมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกันมาใช้ในสังคมไทย ตลอดจนเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนชาวไทยสามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสังคมร่วมกับคณาจารย์และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคลากรจากภาครัฐ และบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ CU TOYOTA Ha:mo ครับ”

รศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม กล่าวว่า “เรามีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่อยู่ในระดับโลก โดยสร้างความรู้และนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เราก่อตั้งโครงการ ‘ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ (CU Innovation Hub) เมื่อปีที่แล้วเพื่อเป็นเวทีสำหรับพัฒนาทั้งนวัตกรและนวัตกรรม อันเป็นการปูทางเพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่มีศักยภาพเชิงนวัตกรรมอยู่ในระดับโลก พร้อมเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนไทย นอกจากนี้ เรายังพัฒนาโครงการใหญ่ที่ดำเนินการภายในบริเวณมหาวิทยาลัยของเรา ชื่อโครงการ ‘เมืองจุฬา อัจฉริยะ’ (CU Smart City) เพื่อเป็นต้นแบบของกรุงเทพฯ ในอนาคตในหลากหลายมิติ เช่น เรื่องพลังงาน การเดินทางสัญจร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือร่วมกับโตโยต้าในโครงการนี้ ทั้งยังพร้อมสนับสนุนโครงการการพัฒนาสังคมของการสัญจรในอนาคตร่วมกัน ภายใต้แนวคิด ‘เวทีนวัตกรรมแบบเปิด’ ครับ”

โครงการ “CU TOYOTA Ha:mo” ถือกำเนิดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในโอกาสครบรอบ 55 ปีของการก่อตั้งโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โดยจะมีการทดลองระบบการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กพิเศษร่วมกันเพื่อวิ่งในระยะสั้นๆ ภายในพื้นที่โดยรอบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนจากต้นทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้ใช้งาน

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ กล่าวว่า “ในเบื้องต้น การศึกษาระบบ Car Sharing แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะเรียกว่าช่วงพัฒนา ใช้เวลา 2 ปี ซึ่งมีรถให้บริการทั้งหมด 10 คัน และจะเพิ่มจำนวนรถอีก 20 คัน ในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30 คัน หลังเสร็จสิ้นระยะแรก ทางโครงการจะทำการทบทวนและสรุปผล เพื่อเข้าสู่ระยะที่สองในรูปแบบธุรกิจยั่งยืนอย่างเต็มตัว โดยจะเชิญชวนให้ผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมลงทุน เพื่อขยายการให้บริการออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆ

สำหรับพื้นที่ในการให้บริการในเบื้องต้น จะครอบคลุมบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสองฝั่ง โดยเตรียมสถานีจอดรถไว้ทั้งหมด 12 สถานี พร้อมทั้งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 10 สถานี และมีจำนวนช่องจอดรถให้บริการทั้งหมด 33 ช่องจอด ทำให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า ทั้ง MRT ที่สามย่าน, BTS ที่สยามสแควร์และสนามกีฬาแห่งชาติ รวมถึงรถโดยสารประจำทางหลายสาย

กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการคือนิสิต อาจารย์ บุคลากรและประชาชนทั่วไป ผู้ใช้บริการจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของโครงการผ่านระบบออนไลน์หรือมาสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการ ณ ชั้น1 อาคารมหิตลาธิเบศรแห่งนี้ โดยมีค่าสมาชิก 100 บาท ซึ่งโครงการจะคืนกลับในรูปแบบคะแนนสะสม สามารถนำมาแลกใช้บริการได้ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม เก็บค่าบริการที่ 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ 20 นาที เกินจากนั้น คิดค่าบริการเพิ่มนาทีละ 2 บาท โดยชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในรูปแบบบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของทุกธนาคารโดยผู้ใช้สามารถจองใช้งานและชำระค่าใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ทางคอลเซ็นเตอร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-305-6733

นอกจากนี้โครงการยังได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลสู่สาธารณะผ่านทาง www.cutoyotahamo.com และช่องทางเฟซบุ๊ก “cutoyotahamo” จำนวนผู้สมัครเป็นสมาชิกในโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 300 คน จำนวนการใช้งานสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่เริ่มเปิดให้บริการคิดเป็นค่าเฉลี่ย 45 ครั้งต่อวัน เกินเป้าหมายที่กำหนด 40 ครั้ง/วัน โดยในแต่ละวัน มีความต้องการใช้งานหนาแน่นในช่วงเวลา 11.00 – 13.00 น. และ 15.00 – 17.00 น. ทางโครงการจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วางแผนการบริหารจัดการเพื่อเคลื่อนย้ายรถไปยังสถานีต่างๆ ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการตามช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม

“ขอบคุณพลังแห่งความร่วมมือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผู้ให้การสนับสนุนทั้ง 26 บริษัท ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ ทางโครงการมีแผนนำงบประมาณที่ได้ ไปสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการ EV Car Sharing และอีกส่วนจะนำมาใช้ใน Open Platform Innovation นำสู่โครงการวิจัยพัฒนาในด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หัวใจของโครงการนี้จะเป็นตัวอย่าง ที่แสดงถึงพลังความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาทางเลือกใหม่สำหรับการเดินทางในสังคมเมือง อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปอย่างยั่งยืน”

 

คลิกอ่าน >> “CU TOYOTA Ha:mo” บริการรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในไทย