ธนาคารไร้สาขา ศึก”ช้างชนช้าง”

มือถือ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

การเปิดใบอนุญาต virtual bank หรือ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ถือเป็นการแจกใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ในรอบหลายสิบปี ที่สร้างความคึกคักให้กับธุรกิจการเงิน

เพราะเป็นการเปิดประตูให้ “ผู้เล่นหน้าใหม่” เข้าสู่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ แต่ในรูปแบบดิจิทัล เพราะ ธปท.ไม่อนุญาตให้จัดตั้งสาขาหรือเอทีเอ็ม แต่สามารถให้บริการรับฝากเงินและถอนเงินผ่าน “แบงกิ้งเอเย่นต์” ได้

โจทย์ของ ธปท. คือให้ virtual bank ใช้ข้อมูลทางเลือก ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในปัจจุบัน โดยเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอี

“ธนาคารไร้สาขา” ช่วยลดต้นทุนทั้งพนักงาน อาคาร/สถานที่ ที่ถือเป็นต้นทุนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ในยุคปัจจุบัน ทำให้ต้นทุนการให้บริการประชาชนได้ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ดี ธปท.ประกาศข้อห้ามว่า virtual bank ต้องไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อ จนประชาชนมีหนี้สินเกินตัว และไม่เอื้อประโยชน์ให้ใช้อำนาจเหนือตลาด หรือผูกขาดให้แก่ธุรกิจในเครือจนกระทบต่อระบบการเงิน

ดังนั้นช่วงแรกแบงก์ชาติจะแจกไลเซนส์แค่ 3 ใบ

ขณะที่การเปิดตัวของดรีมทีม “กัลฟ์+เอไอเอส+กรุงไทย” ถือเป็นสายแข็ง ที่ประกาศพร้อมยื่นขอใบอนุญาตทันทีที่แบงก์ชาติเปิดให้ยื่นใบสมัคร นัยว่ามีเป้าหมายและเตรียมพร้อมอย่างดี

สำหรับกลุ่ม ซี.พี. แม้จะยังไม่ได้ประกาศว่าจะยื่นขอใบอนุญาต แต่แวดวงธุรกิจเชื่อว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ “เอาแน่” โดยมีบริษัทในเครืออย่างกลุ่มทรู และแอสเซนด์ กรุ๊ป ที่เป็นเจ้าของอีวอลเลต “ทรูมันนี่” ที่พยายามขยายบริการทางการเงินไม่ต่างจากแอป “เป๋าตัง” ทั้งมีร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” อยู่เกือบ 14,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นช่องทางเติมเต็มบริการได้เป็นอย่างดี

เห็นแค่ชื่องานนี้หลายฝ่ายก็บอกว่า เป็นเวที “ช้างชนช้าง”

และถ้าทั้งสองกลุ่มได้ใบอนุญาต virtual bank ก็คงเป็นเกมที่ดุเดือด ขณะที่ต้องรอดูว่าเกณฑ์กำกับของ ธปท.จะเป็นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นธปท.ระบุว่าจะใช้เกณฑ์การกำกับดูแลเดียวกับ “ธนาคารพาณิชย์”

โดยการตั้ง virtual bank ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ณ วันเปิดดำเนินการ และต้องเพิ่มทุนขั้นต่ำ 10,000 ล้านบาท เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า มี 2-3 เรื่อง ซึ่ง ธปท.จะต้องดูแลเข้มกว่าธนาคาร คือ 1.ความมั่นคงของระบบงานไอที ระบบจะล่มได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และต้องกู้กลับมาให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง/ครั้ง รวมถึงเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 2.ประสิทธิภาพการดูแลลูกค้า แม้จะไม่มีสาขา แต่จะต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภคในช่องทางออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ

และในช่วงของการเปิดให้บริการ 3-5 ปีแรก จะต้องอยู่ในความดูแลของ ธปท.อย่างใกล้ชิด และหาก ธปท.เห็นว่าไม่มีความพร้อมพอ หรือธุรกรรมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ หรือมีพฤติกรรมผูกขาดตลาด อาจสั่งให้ปิดกิจการได้

ขณะที่กูรูในวงการเงินยืนยันว่า การทำ virtual bank ที่จะประสบความสำเร็จ ต้องดึงแบงก์พาณิชย์มาเป็นพันธมิตร ไม่เช่นนั้นอาจตกม้าตาย

งานนี้ก็ต้องรอดูว่า ซี.พี.จะฉายเดี่ยว หรือจับมือมากับใคร

นอกจากนี้ล่าสุดยังมีชื่อของ กลุ่มบีทีเอส ที่มีกระแสว่าจะจับมือมากับธนาคารกรุงเทพ

ขณะที่แบงก์ไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่ถูกเอไอเอส “เท” ยกเลิกบริษัทร่วมทุนสินเชื่อดิจิทัล แล้วหันมาจับมือกับแบงก์กรุงไทยนั้น จะเดินเกมนี้อย่างไร หรือจะไปจับมือกับพันธมิตรรายไหน เพื่อไม่ให้ตกขบวน

รวมถึงเคแบงก์ที่วิ่งนำเรื่องโมบายแบงกิ้ง และธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายก็คงต้องคิดหนักว่าเกมนี้จะไปทางไหน

ส่วนแพลตฟอร์มต่างชาติที่ประกาศตัวสนใจ virtual bank ธปท.ก็เปิดช่องให้เข้าร่วมทุนได้ไม่เกิน 25% และต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย เพื่อให้ ธปท.สามารถกำกับและตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ลูกค้าสามารถติดต่อหรือร้องเรียนได้


เรียกว่า virtual bank เป็นการก้าวสู่ดินแดนใหม่ของโลกการเงิน ที่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงรออยู่