ซีพี-กัลฟ์ ชิง Virtual Bank ยึดสมรภูมิการเงินต่อยอดธุรกิจ

VirtualBank

สมรภูมิชิงไลเซนส์ Virtual Bank เดือด แบงก์ชาติเผยมีผู้สนใจกว่า 10 ราย เปิดให้ไลเซนส์แค่ 3 ใบ วงในจับตาทุนใหญ่กลุ่มซีพีขยายฐานธุรกิจการเงินเต็มตัวต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ ท้าชน “กัลฟ์-เอไอเอส-กรุงไทย” เผย 3 แพลตฟอร์มต่างชาติร่วมวง ธปท.งัดเกณฑ์เข้มทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5,000 ล้านบาท ชี้ให้บริการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ “รับฝากเงินประชาชน” ดีเดย์เปิดยื่นใบสมัครปลายเดือนมีนาคมนี้ คุมเข้มระบบงานไอที-คุ้มครองผู้บริโภคห้ามระบบล่มเกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแนวทางการอนุญาตการจัดตั้งและการอนุญาตไลเซนส์ virtual bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.-12 ก.พ. 2566 และเตรียมเปิดให้สมัครขอใบอนุญาตในช่วงปลายไตรมาส 1/66

ถือเป็นการเปิดให้ใบอนุญาตใหม่ ที่สร้างความตื่นตัวให้กับแวดวงธุรกิจอย่างมาก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้รายใหม่ เข้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยผ่านช่องทางดิจิทัลไม่ให้มีสาขา

ขาใหญ่ชิง Virtual Bank

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดให้ใบอนุญาต virtual bank ของ ธปท.นี้ถือเป็นโอกาสใหม่ของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสารเทคโนโลยีที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากอย่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น

รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติอย่าง ช้อปปี้, แกร็บ และอื่น ๆ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีการให้บริการทางการเงินในส่วนของระบบเพย์เมนต์ หรือปล่อยสินเชื่อรายย่อยอยู่บ้างแล้ว ซึ่งข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าต่าง ๆ จะสามารถตอบโจทย์ในการเข้าสู่ธุรกิจ virtual bank ได้เป็นอย่างดี

นอกจากบริษัท เอไอเอส และกัลฟ์ ที่ประกาศจับมือกับธนาคารกรุงไทย ที่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะยื่นขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาแล้ว อีกกลุ่มธุรกิจที่มีความสนใจและเป็นที่จับตาของวงการก็คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในวงการทราบกันดีว่ากลุ่ม ซี.พี. สนใจและต้องการขยายบริการธุรกิจการเงินอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่ากลุ่ม ซี.พี.จะจับมือกับพันธมิตรรายใด หรือจะเลือกดำเนินการเอง

เนื่องจากกลุ่มทรูก็มีศักยภาพทั้งในแง่ฐานลูกค้าผู้ใช้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ซึ่งหลังดีลควบรวมดีแทคก็จะทำให้มีฐานลูกค้ามือถือกว่า 51 ล้านราย และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ “ทรูออนไลน์” อีกราว 4.7 ล้านราย รวมทั้งกลุ่ม ซี.พี.ได้เข้าสู่ธุรกิจการเงินมานานแล้ว ผ่านบริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป

C.P. กางแผนบุกธุรกิจการเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เข้าสู่ธุรกิจการเงินผ่าน บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของอีวอลเลตอย่าง “ทรูมันนี่” (TrueMoney) และในปี 2559 บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ในเครืออาลีบาบา ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และร่วมร่วมลงทุนในบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เพื่อร่วมผลักดันการเติบโตของระบบการใช้จ่ายดิจิทัลในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ได้จัดตั้ง บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาต “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” จาก ธปท. เมื่อช่วงต้นปี 2564 ปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับรายย่อย วงเงินไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย

รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของบริการบนแพลตฟอร์ม “ทรูมันนี่” โดยได้เปิดตัวบริการซื้อขายกองทุนรวมผ่านแอปพลิเคชั่น TrueMoney รวมทั้งเมื่อปลายปี 2564 ได้ร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที ในการจองซื้อหุ้นและชำระเงินหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผ่านแอปพลิเคชั่น TrueMoney Wallet เป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ กลุ่ม ซี.พี.ยังมีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศเกือบ 14,000 สาขา เพื่อรองรับการสนับสนุนบริการของ virtual bank ได้เป็นอย่างดี

เทียบฟอร์ม-จับมือแบงก์

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากที่ ธปท.ประกาศแนวทางจัดตั้ง virtual bank ออกมาก็ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ หลักเกณฑ์และแนวทางก็ใกล้เคียงกับของหลาย ๆ ประเทศ อย่างเรื่องทุนจดทะเบียนขั้นต้น 5,000 ล้านบาท ก็เป็นระดับใกล้เคียงกับต่างประเทศ กรอบเดียวกับธนาคารพาณิชย์

เพราะ virtual bank ตามเงื่อนไขของ ธปท. เป็นผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ ซึ่งเปิดรับฝากเงินจากประชาชนด้วย ดังนั้น ธปท.จึงให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคง

หัวใจสำคัญของธุรกิจธนาคาร คือการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า virtual bank ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการที่มีการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพราะแบงก์จะมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการเงินฝากและเงินกู้ เช่น กรณี MOX Bank เป็นเวอร์ชวลแบงก์ในฮ่องกง ที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการให้บริการ ก็มี สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแบงก์ เป็นผู้ร่วมทุน

อย่างไรก็ดี แม้ว่า ธปท.จะเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นขอใบอนุญาต virtual bank ได้ แต่การจับมือกับพันธมิตร เช่น กรณีแบงก์กรุงไทย จับมือกับเอไอเอส และกัลฟ์ น่าจะเป็นโมเดลที่ดีกว่า เพราะเป็นการเสริมจุดแข็งของข้อมูลทางเลือก (alternative data) ที่ธนาคารไม่มี

เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการชำระและใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มมือถือ ซึ่งจะทำให้ virtual bank มีข้อมูลในการพิจารณาความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายได้คมชัดมากขึ้น หรือกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (underserved) ของแบงก์ ไม่มีข้อมูลบัญชีเงินฝาก เงินกู้ พันธมิตรอย่างเอไอเอสก็จะทำให้เห็นข้อมูลหลาย ๆ อย่าง

ผู้เล่นหน้าใหม่ร่วมวง

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสื่อสารเทคโนโลยีอย่างเอไอเอสและทรูแล้ว ก็ต้องจับตาดูกลุ่มแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่าง แกร็บ, ช้อปปี้ จะตัดสินใจเข้ามาจับมือกับผู้ประกอบการไทย เพื่อขอใบอนุญาตหรือไม่

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์หลายรายก็ให้ความสนใจ เพราะไม่อยากตกรถ โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้ความสำคัญกับการเปิดเกมรุกในธุรกิจโมบายแบงกิ้งอย่างมาก อย่างไรก็ดี บางรายก็มองว่าธนาคารพาณิชย์ก็ปรับตัวสู่ดิจิทัลอยู่แล้ว อาจยังไม่จำเป็นที่จะต้องทำ virtual bank ทั้งพฤติกรรมของคนไทยพร้อมแล้วหรือยัง

รวมถึงความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและการขยายฐานลูกค้าของแต่ละธนาคาร ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์ของ ธปท.ที่จะออกมาว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่ รวมถึงการจะร่วมมือกับพันธมิตรรายไหน

กัลฟ์ควง AIS ผนึกกรุงไทย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอไอเอสได้เซ็นข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ (เอ็มโอยู) กับธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อร่วมลงทุนในการเป็นผู้ให้บริการ “virtual bank” หรือ “ธนาคารไร้สาขา” ตั้งแต่ปลายปี 2565 และเตรียมพร้อมยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในทันทีที่ ธปท.เปิดโอกาสให้ขอใบอนุญาตได้ เป็นการต่อยอดจากจุดแข็งที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 44 ล้านราย

สอดคล้องกับ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับเอไอเอส เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ “virtual bank” โดยธนาคารมองว่าความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ทั้งกลุ่มลูกค้าเดิม ๆ และลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายธุรกิจมากขึ้น

การร่วมทุนดังกล่าวจะเป็นการขยายฐานธุรกิจทั้งของฝั่งกรุงไทย และฝั่งเอไอเอส อีกทั้งเป็นการต่อยอดให้กับธุรกิจของทั้งสองฝ่าย

เปิดยื่นใบสมัครปลาย Q1

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่การเงินไทย เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน หนึ่งในแนวนโยบายสำคัญคือการเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” โดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี

ข้อมูลที่หลากหลายและบริการดิจิทัล เข้ามานำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถลดต้นทุนพนักงาน อาคารและสถานที่ รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยและเอสเอ็มอี กลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอ

โดย ธปท.ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างการจัดตั้งและการอนุญาตไลเซนส์ virtual bank ตั้งแต่วันนี้-12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและออกหลักเกณฑ์ และจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตภายใน 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะประกาศเปิดให้ยื่นสมัครได้ในช่วงปลายไตรมาส 1/66

ทั้งนี้ คาดว่าภายในไตรมาส 4/2566 จะเริ่มพิจารณาแผนธุรกิจของผู้สมัครว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเป้าหมายของ ธปท.หรือไม่ และกระทรวงการคลังจะใช้เวลาในการพิจารณาอีก 3 เดือน และภายในไตรมาสที่ 2/2567 จะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 9 เดือน

เปิด Virtual Bank กลางปี’68

นายธาริฑธิ์กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะมีระยะเวลาเตรียมตัว จัดทำระบบไอทีและอื่น ๆ ภายในระยะเวลา 1 ปี คาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถเปิดให้บริการ virtual bank ภายในกลางปี 2568

ทั้งนี้ในช่วงการเปิดให้บริการ 3-5 ปีแรก ธปท.จะติดตามใกล้ชิด (phasing) เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามแผนธุรกิจและความเสี่ยงที่กำหนดหรือไม่ หาก ธปท.เห็นว่า virtual bank ไม่มีความพร้อมเพียงพอในการให้บริการ หรือธุรกรรมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบ หรือมีพฤติกรรมผูกขาดตลาด ธปท.อาจพิจารณาสั่งการให้แก้ไขหรือสั่งปิดกิจการได้ แต่หากสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ธปท.จะลดความเข้มงวดในการติดตามอย่างใกล้ชิด

ทำแผนรองรับ “เลิกกิจการ

นายธาริฑธิ์กล่าวว่า เบื้องต้น ธปท.จะอนุมัติการจัดตั้ง virtual bank ให้กับผู้ประกอบการเพียง 3 ราย เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ส่วนการจะเปิดรับสมัครเพิ่มเติมหรือไม่ จะมีการพิจารณาอีกครั้ง หลังจากดูผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการ 3 รายแรกว่าเป็นไปตามเป้าหมายของ ธปท.ต้องการหรือไม่

“ในช่วง 3-5 ปี เป็นช่วงที่เราจะติดตามใกล้ชิด ในการดำเนินธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าอย่างยั่งยืน และไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน และหากมีข้อใดที่ต้องปรับปรุงอาจจะต้องขยายเฟสออกไป หรือไม่ยอมแก้หรือปรับปรุง ก็ต้องปิดกิจการ โดยผู้รับไลเซนส์ต้องมีแผน exit plan ไว้ล่วงหน้ากรณีต้องเลิกกิจการ ทั้งขั้นตอนกระบวนการดูแลลูกค้า ทั้งการจ่ายเงินคืนลูกค้า การย้ายพอร์ตไปแห่งอื่น เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”

ข้อห้าม-ผูกขาดตลาด

นายธาริฑธิ์กล่าวว่า ธปท.คาดหวังว่า virtual bank จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด และครบวงจรมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอีที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ดี จะต้องไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อ จนประชาชนมีหนี้สินเกินตัว และไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้อำนาจตลาด หรือผูกขาดตลาด ให้แก่ธุรกิจในเครือ จนกระทบต่อระบบการเงินในท้ายที่สุด

“สิ่งที่ ธปท.อยากเห็นจาก virtual bank ที่เข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ เกิดกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัว และเกิดความแข่งขันมากขึ้น เหมือนในต่างประเทศ ที่พอมีธนาคารไร้สาขา ธนาคารพาณิชย์ก็มีการปรับตัว ลดค่าธรรมเนียม ยกเลิกค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเพื่อให้แข่งขันได้

และสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น คือ การเข้ามาแล้วประกอบธุรกิจไม่ยั่งยืน มาเร่งปล่อยสินเชื่อ ขยายฐานลูกค้า กระตุ้นให้คนก่อหนี้เกินตัว และซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนไทยให้มากขึ้น หรือเร่งระดมเงินฝากให้ดอกเบี้ยสูง ๆ เพราะท้ายที่สุดอาจแบกรับต้นทุนไม่ไหวและล้มเลิกกิจการได้”

เปิด 7 เกณฑ์คัดเลือก

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะได้รับใบอนุญาต virtual bank จะมีอยู่ 7 ข้อสำคัญ ได้แก่ 1.ธุรกิจต้องมี business model ที่ตอบโจทย์ให้เกิดความยั่งยืน ทั้งการขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มได้ และมีการบริหารรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน

2.มีธรรมาภิบาลที่ดี โดยผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร กรรมการต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม 3.มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า 4.มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว

และ 5.มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของระบบ 6.มีความสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำไปให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม และ 7.มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องสามารถสนับสนุนให้ virtual bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ระบบไอทีห้ามล่มเกิน 2 ชม.

นายธาริฑธิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ผู้ได้รับใบอนุญาต virtual bank ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันเปิดดำเนินการอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทุนจดทะเบียน virtual bank ที่ฮ่องกง เกาหลีใต้ และต้องทยอยเพิ่มทุนเป็นอย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาท ก่อนออกจากช่วงกำกับดูแลใกล้ชิด (3-5 ปี) เพื่อเข้าสู่การดำเนินธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ (full-functioning) เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอรองรับการขยายกิจการ

อย่างไรก็ดี มีความกังวลใน 2-3 เรื่อง ซึ่ง ธปท.จะดูแลเข้มกว่าธนาคาร คือ 1.ความมั่นคงของระบบงานด้านไอที ที่กำหนดว่าจะต้องล่มได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และหากสะดุดจะต้องกู้กลับมาให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง 2.ประสิทธิภาพการดูแลลูกค้า แม้จะไม่มีสาขา แต่จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในช่องทางออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ

และ 3.ผู้ให้บริการ virtual bank สามารถใช้บริการเอาต์ซอร์ซจากภายนอกได้ เช่น การติดตามทวงถามหนี้ รวมทั้งสามารถให้บริการรับฝากเงิน/ถอนเงิน ผ่านตัวแทนทางการเงิน (banking agent) หรือเครือข่ายของผู้ให้บริการอื่น เช่น ATM pool ได้

ต่างชาติ 3 รายสนใจร่วมวง

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้ามาสอบถามการจัดตั้ง virtual bank แล้วกว่า 10 ราย ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรูปแบบ ทั้งสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นต่างชาติ 3 ราย

กรณีเป็นต่างชาติจะต้องร่วมทุนกับบริษัทไทยและต้องมีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย โดยต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% แต่หากต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจะต้องเข้ามาขออนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งสามารถผ่อนปรนได้ไม่เกิน 49%

ห้ามใช้แบรนด์-โลโก้แบงก์

“ผู้ที่จะยื่นขอใบอนุญาตนั้น จะเป็นแบงก์พาณิชย์ หรือน็อนแบงก์ จะมาเดี่ยว หรือจับมือกันมาก็ได้ ผู้ที่มีไลเซนส์แบงก์ก็สามารถทำได้ แต่ห้ามใช้แบรนด์และโลโก้เดียวกัน และจะต้องทำบัญชีและเงินทุนแยกจากกันชัดเจน โดยต้องไม่พึ่งพาเงินทุนจากบริษัทแม่เยอะเกินไป แต่ virtual bank สามารถจับมือกับพันธมิตร เช่น ไปรษณีย์ไทย ร้านสะดวกซื้อ และธนาคารใช้เครื่อง ATM และ CDM ได้” นางสาววิภาวินกล่าว

สถาบันการเงินสามารถขอจัดตั้ง virtual bank ในกลุ่มธุรกิจการเงินเดียวกันได้ไม่เกิน 1 แห่ง

ทั้งนี้การจัดตั้ง virtual bank กำหนดจัดตั้งในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่สามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างเต็มรูปแบบในลักษณะไร้สาขา โดยจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์