5 ทักษะพื้นฐาน ที่หัวหน้าต้องเรียนรู้

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้กระแสแห่งการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสิ่งปกติใหม่ที่ใคร ๆ ก็พูดถึง เดี๋ยวนี้มักมีคำพูดหรู ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่พวกฝรั่งคิดให้ แล้วคนไทยก็เอามาใช้ด้วยความภาคภูมิใจ เยอะแยะเต็มไปหมด อย่างเช่น unlearn เพื่อที่จะ relearn หรือ upskills, reskills และ new skills เป็นต้น

ลองสังเกตดูถ้าใครที่อยู่ในโลกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน อย่างเช่น HR หรือบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ แล้วไม่พูดคำพวกนี้ จะดูเชยไปในทันที ยุคนี้อะไร ๆ ก็ต้องใหม่ทั้งหมด ใครพูดเรื่องเก่ากลายเป็นล้าสมัยไปซะงั้น

ในโลกใบเล็ก ๆ ของการพัฒนาความเป็นผู้นำ (leadership development) ที่ผมทำงานอยู่ ก็ไม่ต่างกัน ผู้รู้ต่างแนะนำทักษะใหม่ ๆ ที่ผู้นำทุกคนควรมีในยุคที่เทคโนโลยีกำลังครองโลกกันชนิดตามอัพเดตแทบไม่ทัน แต่ผมกลับมองว่าทักษะเก่า ๆ ที่ปลูกฝังกันมาหลายปีแต่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ก็ไม่น่าจะถูกมองข้ามไป

ก่อนจะพัฒนาทักษะใหม่ ลองหันกลับมาซ่อมแซมทักษะเดิมที่ควรจะทำให้ดี เพื่อเป็นพื้นฐานของการเติบโตก้าวหน้าและเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จกันก่อนจะดีกว่าไหม

นี่คือ 5 ทักษะพื้นฐานที่หัวหน้างานทุกคนต้องมี แม้ฟังดูจะเป็นเรื่องเบสิก แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

1.วิธี “เป็นผู้ตาม”-การจะเป็นผู้นำที่ดีต้องเข้าใจการเป็นผู้ตามเสียก่อน ต้องเข้าใจว่าผู้ตามต้องการคำแนะนำแบบไหน ต้องการการยอมรับในเรื่องอะไร เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นเขาต้องการความช่วยเหลือแบบใด เป็นต้น เมื่อเข้าใจผู้ตาม ก็จะช่วยให้เป็นผู้นำได้ดีขึ้น

2.วิธี “ทำให้ง่ายขึ้น”-ผู้นำที่ดีควรรู้วิธีอธิบายแผนงานที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย เพราะบางครั้งลูกน้องไม่ได้เห็นภาพรวมอย่างที่หัวหน้าเห็น การสื่อสารให้ชัดเจนว่าต้องการให้ทำอะไร เพราะเหตุใด เรื่องนั้น ๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร และที่สำคัญคุณคาดหวังอะไรจากเขา เป็นต้น จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3.วิธี “สร้างแรงบันดาลใจ”-คำแนะนำช่วยให้งานสำเร็จ แต่ถ้าอยากได้มากกว่าแค่ความสำเร็จ เช่น อยากได้ใจลูกน้อง อยากสร้างทีมให้แข็งแกร่ง เป็นต้น ต้องรู้จักสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกจาก “ต้องทำ หรือควรทำ” เป็น “อยากทำ”

4.วิธี “ไม่เห็นด้วย”-ผู้นำที่ดีต้องรู้วิธีแสดงความไม่เห็นด้วย โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเสียความรู้สึก ต้องทำความเข้าใจมุมของอีกฝ่าย ใช้การเกลี้ยกล่อมหรือโน้มน้าวที่นุ่มนวลแต่มั่นคงและชัดเจน เพื่อให้งานสำเร็จและคนแฮปปี้ด้วย

5.วิธี “จัดลำดับความสำคัญ”-ผู้นำต้องรู้จักการลำดับความสำคัญของงาน เรื่องไหนด่วน เรื่องไหนสำคัญ อันไหนรอได้ อันไหนต้องทำทันที อันไหนให้คนอื่นทำได้ เป็นต้น

ทักษะเหล่านี้ ถ้าทำให้ดีจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตไปเป็นผู้นำที่ทันสมัยต่อไป