ลากิจไม่รับเงินเดือนบริษัทหักเงินเดือนได้ไหม ?

คอลัมน์ : SD Talk
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com

มีคำถามว่า ถ้าพนักงานใช้สิทธิลากิจจนหมดแล้ว แต่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องลาเพื่อไปทำธุระส่วนตัว จะสามารถลากิจไปโดยให้บริษัทหักเงินเดือนได้หรือไม่

ถ้าไม่คิดอะไรมาก คงจะตอบว่า “ได้” ใช่ไหมครับ ?

แต่ถ้าจะว่ากันตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จะบอกว่า “ไม่ได้” ครับ เพราะตามมาตรา 76 ห้ามนายจ้าง “หัก” ค่าจ้างลูกจ้าง ยกเว้นไว้แค่ 5 กรณีเท่านั้นคือ

1.ชำระภาษีเงินได้ ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่าย หรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

2.ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงาน ตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

3.ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

4.เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

5.เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

ดังนั้น ใน payslip จะไปใช้คำว่า “หัก” เงินเดือนไม่ได้ครับ แต่ควรใช้คำว่า “no work no pay” หรือ “ลากิจโดยไม่รับค่าจ้าง” หรือ “leave without pay” จะเหมาะกว่า โดยถือหลักว่า เมื่อลูกจ้างมาทำงานให้นายจ้าง นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนให้แก่ลูกจ้าง

แต่ถ้าลูกจ้างไม่มาทำงานในวันไหน นายจ้างก็ “ไม่จ่าย” ค่าจ้างในวันนั้นได้ หรือ no work no pay หรือไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างไม่มาทำงาน เช่น การลากิจแบบไม่รับค่าจ้าง, การขาดงานไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น

ไม่ใช่การ “หัก” ค่าจ้าง ซึ่งคำนี้ผิดกฎหมาย เพราะไม่เข้าข่ายที่อนุญาตให้นายจ้าง “หัก” ค่าจ้างจากลูกจ้างได้ครับ มาถึงตรงนี้คงเห็นความแตกต่างของคำว่า “หัก” กับ “no work no pay” แล้วนะครับ