Market-think: มาม่า-วินวิน

มาม่า
คอลัมน์ : Marketing think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ในที่สุด “มาม่า-ยำยำ-ไวไว” ก็ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ให้ขึ้นราคาซองละจาก 6 บาทเป็น 7 บาท

หลังจากไม่ได้ขึ้นราคามานาน 14 ปี

ไม่น่าเชื่อนะครับว่าจะมีสินค้าอะไรตรึงราคาเดิมได้นานถึง 14 ปี และยังมีกำไร

ลองนึกดูสิครับว่าเมื่อปี 2551 ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละเท่าไร

น่าจะประมาณ 25 บาท

ตอนนี้ขึ้นไปอย่างต่ำสุด 45 บาท

หรือขึ้นไปประมาณ 80%

แต่บะหมี่สำเร็จรูปยังราคา 6 บาทเท่าเดิม

จนเมื่อน้ำมันขึ้นราคา เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อพุ่งกระจุยกระจาย

สินค้าต่างๆขึ้นราคากันเป็นแถว

แต่ “มาม่า” ก็ยัง 6 บาท

เป็น “ความอิ่ม” ที่ราคาถูกที่สุดของคนไทย

จะขึ้นราคาเหมือนสินค้าอื่นก็ไม่ได้ เพราะเป็นสินค้าควบคุม

ในขณะที่บะหมี่สำเร็จรูปของเกาหลีเข้ามาขายราคาซองละ 20กว่าบาทได้

แต่ “มาม่า” ต้อง 6 บาท

เป็นเรื่องที่แปลกมาก

จนกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “มาม่า” ทนไม่ไหว ยื่นหนังสือขอขยับราคาจากซองละ 6 บาทเป็น 7 บาท

กระทรวงพาณิชย์ไม่ยอม

ทั้งที่รู้อยู่ว่าต้นทุนการผลิตทั้งน้ำมันปาล์ม และแป้งสาลี ที่เป็นวัตถุดิบหลักของ “มาม่า” ขึ้นราคาแบบหูดับตับไหม้

โดยเฉพาะแป้งสาลี ที่ขึ้นราคาเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การตรึงราคา “มาม่า” กลายเป็นผลงานของกระทรวงพาณิชย์

ช่วยเหลือประชาชนให้ได้อิ่มในราคา 6 บาทต่อไป

ในทางการเมือง ถ้า “พาณิชย์” ยอมให้ “มาม่า” ขึ้นราคา ก็จะถูกโจมตีได้ว่า “ผีอีแพง” ของรัฐบาลชุดนี้หนักที่สุด

ขนาด “มาม่า” ไม่เคยขึ้นราคามา 14 ปียังมาขึ้นราคาในยุคนี้

ผ่านไปพักหนึ่ง ผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปคงรู้แล้วว่าเดินเกมพลาด เพราะไม่ได้คิดในมุมการเมือง

2 เดือนต่อมาคือต้นเดือนสิงหาคม เขาเลยยื่นหนังสือฉบับใหม่

ขอขึ้นราคาจาก 6 บาทเป็น 8 บาท

หลายคนก็งง ขนาดขอขึ้นจาก 6 เป็น 7 ยังไม่ได้เลย

ทำไมจึงเสนอ 8

ผ่านไป 2 สัปดาห์ “พาณิชย์” ก็อนุมัติให้ “มาม่า-ยำยำ-ไวไว” ขยับราคาได้

แต่ขึ้นราคาซองละ 2 บาท มันมากเกินไป

ให้ขึ้นแค่ 1 บาท

จาก 6 บาทเป็น 7บาท

เท่ากับที่ราคาที่ “มาม่า” เคยเสนอไปเมื่อ 2 เดือนก่อน

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ กรมการค้าภายในยอมรับว่า “ต้นทุน” ขึ้นจริง แต่ที่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ คือ “ค่าแรง”

และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับปิโตรเลียม คือ น้ำมันและพลาสสิค

ไม่มี “แป้งสาลี” และ “น้ำมันปาล์ม” ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องรับผิดชอบเลย

เขี้ยวไหมครับ 555

ยังไม่พอ

“แต่เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป กรมจึงตัดสินใจให้ปรับขึ้นราคาเพียงไม่เกิน 1 บาท/ซองเท่านั้น”

ครับ พ่อค้าขอมา 2 บาท แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน

จึงอนุมัติให้ขึ้นแค่ 1 บาท

กลายเป็นผลงานการต่อสู้เพื่อผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์

ถ้ามองในเชิงกลยุทธ์ นี่คือ การเจรจาต่อรองแบบ “วิน-วิน เกม”

อยากได้ 7 ต้องเสนอ 8 เพื่อให้ฝ่ายการเมืองมีทางถอย

มี “มาม่า-ยำยำ-ไวไว” แล้ว


ก็ต้องมี “วินวิน” บ้าง