มาม่าในหม้อน้ำเดือด ได้ขึ้นราคารอบ 15 ปี ย้อนตำนานบะหมี่ฝีมือแม่ 50 ปี

มาม่า

มาม่ากลายเป็นสินค้าที่ถูกต่อรองทางการเมือง เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่ 5 ยี่ห้อ ต้องผนึกกันตบเท้าไปกระทรวงพาณิชย์ หวังจะได้เริ่มพิจารณาขึ้นราคา หลังจากยื่นขอปรับราคามาตั้งแต่ต้นปี 2565

เวลาในการเจรจาผ่านมาแล้ว 8 เดือน จากขอขึ้นราคา 1 บาทต่อซอง เปลี่ยนผ่านต้นทุนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันพุ่ง และเงินเฟ้อเพิ่ม จนต้องยื่นข้อเสนอใหม่ขอขึ้นราคาเป็น 2 บาทต่อซอง จากเดิม 6 บาท เป็นราคาใหม่ 8 บาทต่อซอง

และในที่สุด ก็ได้รับไฟเขียวจากกระทรวงพาณิชย์ ให้ขึ้นราคาซองละ 1 บาท จาก 6 บาทเป็น 7 บาทต่อซอง 

เพราะมาม่าได้กลายเป็นสินค้าการเมือง ส่งผลต่อคะแนนนิยมของนักการเมืองในกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้น การขึ้นราคา จึงอาจส่งผลสะเทือนต่อฐานเสียงของพรรคการเมืองเจ้ากระทรวง ไม่มากไม่น้อย ความพยายามของเอกชนที่พุ่งมาตั้งแต่ต้นปี ถูกเจรจาใต้โต๊ะ และหน้าฉาก มาแล้วหลายครั้ง

ล่าสุดมีการส่งสัญญาณกันว่า หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ 19-22 กรกฎาคม จะมีการพิจารณาปรับขึ้นราคาในต้นเดือนสิงหาคม 2565 แต่จนแล้วจนรอด ก็ถูกยื้อ-ลากยาวมาจนถึงสัปดาห์ปลายเดือน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า จะได้รับการพิจารณาเร็ว ๆ นี้ ก่อนที่รัฐบาลจะนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งในอีก 7 เดือนข้างหน้า

หากครั้งนี้ไม่ผิดไปจากคาดการณ์ มาม่าจะได้ขึ้นราคามาม่าในรอบ 15 ปี จากการขึ้นราคาครั้งล่าสุดในปี 2550 จาก 5 บาท เป็น 6 บาท

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารเครือสหพัฒน์ นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลในการขอขึ้นราคาต่อสาธารณะว่า “เพราะทุกอย่างขึ้นราคา ทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม น้ำมันดีเซล ซึ่งน้ำมันก็เป็นสินค้าควบคุมเหมือนกันยังขึ้นราคาได้ ทำไมมาม่าจะขึ้นราคาไม่ได้ และประเทศอื่นเขาเลิกคุมราคากันไปแล้ว ทุกอย่างมีเหตุและผลมารองรับหมด”

มาม่า ตำนานอาหารที่มีทุกบ้าน

ในอดีต ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า จากเครือสหพัฒน์ ติดตลาดครองใจคนไทยเกือบทุกเพศ ทุกวัย มาม่า และสินค้าอื่น ๆ ในช่วงปี 2500-2510 อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย ที่เปลี่ยนสู่สังคมเมืองอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รสนิยมทางด้านอาหารก็เปลี่ยนไปด้วย

เครือสหพัฒน์จึงถือเป็นโอกาสที่จะเริ่มธุรกิจใหม่ด้วย จากที่เดิมส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น เช่น ขนมปัง ขนมกินเล่น เครื่องปรุง เครื่องดื่ม

แต่จุดเริ่มต้นใหม่ ในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหารในขณะนั้น คือ การร่วมมือกับบริษัทไต้หวัน เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เคยเล่าต้นทางของอาหาร ราคาย่อมเยา ว่า “ผู้ชักนำเราเข้าสู่วงการอาหารครั้งแรกคือ เพื่อนของพ่อเทียม โชควัฒนา ที่เป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพตอนนั้น มีการไปดูงานที่ไต้หวันบ่อยครั้ง เพื่อนของพ่อบอกว่า ที่ไต้หวัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และบริษัทที่ผลิตกำลังอยากจะขยายฐานการตลาดมาในประเทศไทย”

เครือสหพัฒน์จึงเดินหน้าจัดตั้งบริษัทร่วมทุน “ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” (TF) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท Uni-President Enterprises Corporation ของไต้หวัน กับบริษัท สหพัฒนพิบูล ในปี 2515

ประธานาธิบดีนิกสันเยือนไต้หวัน เกมธุรกิจพลิกผัน

โดยมีคู่แข่งในตลาดก่อนถึง 5 ราย คือ บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะที่ขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “ยำยำ” และบริษัทอื่น ๆ อีก 4 บริษัท ที่ขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก่อน ทำให้ในช่วงแรกของการเข้าสู่ธุรกิจอาหารของมาม่า มีความยากลำบาก อีกทั้งราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองละ 4 บาท แพงกว่าราคาก๋วยเตี๋ยวตามแผงลอย ที่หาซื้อได้ในราคาชามละ 1 บาท 50 สตางค์

ประธานเครือสหพัฒน์เล่าว่า “ขณะเดียวกัน ในปีเดียวกับที่เราเปิดตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ร่วมทุนกับไต้หวัน ได้เกิดความเคลื่อนไหวในระดับระหว่างประเทศ เมื่อประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน ได้ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการไปเยือนครั้งนี้เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-อเมริกาอย่างเป็นทางการ”

ดังนั้น ภูมิภาคเอเชียจึงต้องพิจารณาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนใหม่อีกครั้ง ไทยเองก็เห็นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์กับจีน แต่นั่นหมายถึงการตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน บริษัท Uni-President Enterprises Corporation มีความกังวลในข้อนี้ จึงถอนการลงทุนจากไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ แล้วเปลี่ยนเป็นสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีแทน หลังจากนั้น 3 ปี ไทยก็สานสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในปี 2518

ภารกิจการบริหารจัดการบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จึงตกอยู่บนบ่าของสหพัฒนพิบูล เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา จึงเลือก “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ที่ได้ร่วมฟันฝ่ากันมาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มกิจการ และได้ร่วมลงทุนด้วยในปี 2516 เข้ามารับตำแหน่งประธานบริษัท ในวัย 34 ปี ทุกวันนี้อายุย่าง 85 ปี ก็ยังอยู่ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์

มาม่า 3 นาทีได้กินบะหมี่รสชาติฝีมือแม่

เจ้าสัวบุณยสิทธิ์เล่าว่า ในตอนนั้น แผนการทวงคืนยอดขายในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มขึ้นทันที สิ่งแรกที่เราทำคือ ชื่อสินค้า เดิมใช้ชื่อเหมือนไต้หวัน คือ “เพรซิเด้นท์” น้องชายของฉัน บุญชัย โชควัฒนา ที่เรียนจบด้านการตลาดจากสหรัฐอเมริกา เป็นคนออกไอเดียให้เปลี่ยนชื่อเป็น “มาม่า” ซึ่งแฝงความหมายว่า ยามเช้าอันเร่งรีบ เพียงเติมน้ำร้อนและรอ 3 นาที ก็ได้กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติเหมือนฝีมือแม่

“มาม่า” ยังพัฒนารสชาติใหม่ จากเดิมที่เป็นรสหมูธรรมดา ๆ ก็เปลี่ยนเป็นหมูสับที่มีรสเผ็ด หรือรสต้มยำกุ้งที่เป็นรสชาติแบบไทย

ช่วงแรกคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนัก มาม่าจึงทำแคมเปญใหญ่ให้ทดลองชิม โดยใช้รถบรรทุก 6 คัน สัญจรไปทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยกลุ่มเป้าหมายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติใหม่นี้ คือ คนวัยหนุ่ม-สาว

การทำตลาดของสหพัฒน์ คือในช่วงเช้าจะมีรถบรรทุก “มาม่า” สัญจร ไปจอดบริเวณหน้าโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เพื่อให้เหล่านักเรียนนักศึกษาได้ทดลองชิม โดยชูจุดขายว่า “อร่อย สะดวก รวดเร็ว”

กลยุทธ์การตรึงราคาสู้คู่แข่ง

ปัญหาเรื่องความรู้สึกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคาแพง ไม่นานก็คลี่คลาย เมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เวลาและการแข่งขันการเข้ามามีบทบาท รวมถึงค่าครองชีพของคนไทยพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ก๋วยเตี๋ยวที่เคยชามละ 1 บาท 50 สตางค์นั้น เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ขึ้นราคาไปเป็น 5 บาท ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่า ซึ่งต้องต่อสู้แข่งขันกับบริษัทอื่น เช่น ยำยำ จึงตรึงราคาไว้ที่ 4 บาท ไม่นานก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

“เพียง 10 ปีให้หลัง เราก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึงครึ่งหนึ่ง มารู้ตัวอีกครั้ง คำว่า ‘มาม่า’ ก็เป็นชื่อที่คนทั่วไปใช้เรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เจ้าสัวสหพัฒน์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ พร้อมเล่าเรื่องบุกตลาดในเวลาต่อมาว่า “เราบุกตลาดลึกถึงระดับร่วมทุนกับผู้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือ คุณอันโมโมฟูกุ ผู้ก่อตั้งบริษัทนิชชิน ฟูดส์ ในปี 2501 โดยจับมือกับเครือสหพัฒน์ เปิดบริษัทร่วมทุนและเริ่มผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยี่ห้อ ‘คัพนู้ดเดิ้ล’ ในเมืองไทย ในปี 2537”

ต่อมาหลังวิกฤตการณ์ทางการเงิน ที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ก็ร่วมลงทุนในบริษัทนิชชิน ในสัดส่วน 5%

คัพนู้ดเดิ้ล กับมาม่า ในบางสถานการณ์ก็มีการแข่งขันกัน แต่ก็ส่งผลให้มาม่าได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น ปัจจุบันทั้งความสัมพันธ์ในด้านการแข่งขันและความร่วมมือ ก็ยังคงดำเนินต่อไป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า อาหารที่เหมือนได้สัมผัสรสชาติฝีมือแม่ กลายเป็นตำนานของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อ ที่ติดปากคนไทยเรียกว่า “มาม่า”