เปิดเส้นทาง “มาม่า” กว่าจะได้ขึ้นราคา 8 บาท

มาม่า

มาม่า ผู้เล่นเบอร์ 1 ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบ แป้งสาลี น้ำมันพืช แพ็กเกจจิ้ง และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าดีขึ้น และมาม่านั้น เป็นสินค้าควบคุม จนต้องเรียกร้องภาครัฐอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา เพื่อให้สอดรับกับกลไกตลาด

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนรอย เส้นทาง มาม่า ก่อนที่จะได้ปรับขึ้นราคา หากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2550 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า ได้ขึ้นราคามาม่ารสดั้งเดิม หมูสับ และต้มยำกุ้ง จาก 5 บาท ขึ้นเป็น 6 บาท เป็นครั้งสุดท้าย และยังยืนพื้นราคาเดิมมาถึงปัจจุบัน แต่จะหันมาพัฒนากลุ่มสินค้า มาม่า OK รสชาติใหม่ ในราคาพรีเมี่ยมขึ้น

โควิด-สงคราม จุดชนวนต้นทุนพุ่ง

ในเดือนมกราคม 2565 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เจ้าตลาดระบุว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจอผลกระทบราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากผลพวงโควิด-19 รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครนที่กระทบรอบด้าน

โดยปกติแล้ว ถ้าหากต้นทุนการผลิตปรับขึ้น ผู้ประกอบการก็จะสามารถขึ้นราคาได้ แต่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุม

มาม่า แจ้งปรับขึ้นราคาขายส่ง

ขณะที่เดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ร้านค้าส่งรายใหญ่ระบุผ่านสื่อว่า ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ได้ทยอยแจ้งการปรับขึ้นราคาสินค้าไปยังคู่ค้าต่าง ๆ หลังจากที่พยายามตรึงราคามาตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

โดยสินค้าที่มาม่าแจ้งปรับราคา หลัก ๆ จะเป็นกลุ่มเส้นสีเหลือง อาทิ รสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ เป็นต้น โดยมีการปรับราคาขายส่งเพิ่มขึ้นอีก 2-3 บาท/กล่อง (30 ซอง) หรือ 10-14 บาท/ลัง (6 กล่อง หรือ 180 ซอง) ส่วนเส้นขาว เช่น เส้นหมี่น้ำใส และมาม่า คัพ ยังไม่มีการปรับราคา

แต่บริษัทออกมายืนยันว่าไม่ได้มีการปรับราคาขายส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ยื่นขอขึ้นราคา 1 บาทต่อซอง เจอพาณิชย์เบรกทันที

จากนั้นไม่นาน ในเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ ได้ยื่นขอให้กระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า 1 บาทต่อซอง

ซึ่งให้เหตุผลว่า ต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะแป้งสาลีและน้ำมันปาล์มปรับขึ้นสูงมาก เช่น แป้งสาลีราคาต่อกระสอบ (22.5 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นจาก 200 กว่าบาท เป็น 400-500 กว่าบาทต่อกระสอบ ส่วนน้ำมันปาล์มก็ขึ้นเท่าตัว

กระทั่งกลางเดือนมิถุนายน กระทรวงพาณิชย์ออกมาชี้แจงว่า ยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูป และขอความร่วมมือให้ช่วยกันตรึงราคาให้นานที่สุด

เข้าหารือกับพาณิชย์อีกครั้ง

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสหกรุ๊ปแฟร์ว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการหารือกับทางกระทรวงพาณิชย์อยู่เป็นระยะ ๆ แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ และยังต้องหารือต่อเนื่อง คาดว่าอีกไม่นานราคาสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าจะได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นราว ๆ 1 บาท เป็น 7 บาทต่อซอง จากเดิมที่มีราคา 6 บาทต่อซอง ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคา 1 บาท

เปลี่ยนใจขอขึ้นราคาเป็นซองละ 8 บาท

พร้อมกันนี้ เมื่อสถานการณ์สงครามยูเครนและรัสเซียยังยืดเยื้อออกไป ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบไม่มีแนวโน้มจะลดลง

ทำให้เดือนกรกฎาคม 2565 บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นขอปรับราคามาม่าไปใหม่อีกครั้ง จากเดิมขอปรับขึ้น 1 บาทต่อซอง ขึ้นเป็น 2 บาทต่อซอง เป็นซองละ 8 บาท

ให้เหตุผลว่า ต้นทุนวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตปรับราคาขึ้นไม่หยุด ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าที่ขาขึ้นอีก ดังนั้น การขึ้นราคาจึงน่าจะเป็นการบริหารจัดการง่ายที่สุด

ครึ่งปีแรกมาม่ากำไรหาย 549 ล้าน

จากปัจจัยข้างต้นเริ่มกระทบต่อผลประกอบการช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 65) มีรายได้ 1.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.07 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่าย 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7 พันล้านบาท ส่งผลให้มีกำไร 1.69 พันล้านบาท ลดลง 549 ล้านบาท จากเดิมไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไร 2.24 พันล้านบาท

แม้อัตราการขายสูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงกว่า ส่งผลให้กำไรลดลงสวนทางกับรายได้ ซึ่งปัจจุบันกำไรของมาม่าหลุดจากระดับ 1,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่หลัก 100 ล้านปลาย ๆ สะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ต้นทุน

แท็กทีม ไวไว-ยำยำ-นิชชิน-ซื่อสัตย์ กดดันพาณิชย์

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 มาม่าออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง พร้อมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีก 4 ยี่ห้อ ไวไว-ยำยำ-นิชชิน-ซื่อสัตย์ ซึ่งได้รวมตัวกัน ร่วมลงนามยื่นหนังสือเร่งกรมการค้าภายใน ให้อนุญาตปรับราคาขาย 8 บาทให้เร็วที่สุด เนื่องจากใกล้เจอวิกฤตขาดทุนและบางรายเริ่มขาดทุนแล้ว โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการจะหันไปส่งออกมากขึ้น จากปัจจุบันที่ส่งออก 30-35% เพราะมีกำไรมากกว่า

ในช่วงเวลาเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้ออกมายอมรับความจริงว่าต้นทุนปรับขึ้น เช่น ค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าขนส่ง และต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ ข้าวสาลี น้ำมันพืช และเมื่อต้นทุนปรับขึ้นตามกลไกตลาดก็ต้องอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แต่ต้องให้อยู่ได้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ซึ่งกรมการค้าภายในจะเป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้าย

พาณิชย์ขอเวลา 3 วัน รู้ผลว่าจะได้ขึ้นราคากี่บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคาได้กี่บาท ซึ่งต้องพิจารณาจากต้นทุนตามจริงและพิจารณาเป็นราย ๆ ไป คาดว่าจะรู้ผลในเร็ว ๆ นี้