บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ยี่ห้อ พ้อขาดทุน ค่าแรงขึ้น ไฟต์ขอเพิ่มราคา 2 บาท

บะหมี่สำเร็จรูป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ค่าย ไทย-ญี่ปุ่น “มาม่า-ไวไว-ยำยำ-นิชชิน-ซื่อสัตย์” ผนึกกำลัง แจงวิกฤตต้นทุนแป้ง-น้ำมัน-พลาสติก หนักกว่า น้ำท่วม-วิกฤตแป้งสาลี พร้อมร่วมลงนามยื่นหนังสือเร่งกรมการค้าภายในไฟเขียว ปรับราคาขาย 8 บาท 16 ส.ค.ตบเท้ายื่น คน. เผยเริ่มเห็นสัญญาณขาดทุน ลั่นหากไม่ได้ตามขอเดินหน้าไฟต์ต่อ

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกราย ไม่ว่าจะเป็น มาม่า ไวไว ยำยำ นิชชิน และซื่อสัตย์ ต่างเผชิญสถานการณ์ใกล้จะขาดทุนและบางรายเริ่มขาดทุนแล้ว

และสถานการณ์นี้ไม่เพียงกระทบผู้ผลิตเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคทั้งในด้านการทำโปรโมชั่นที่ลดลงจนทำให้ต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น และปริมาณสินค้าในตลาดที่ลดลงเพราะแต่ละรายต้องเพิ่มสัดส่วนส่งออกเพื่อชดเชยการขาดทุนในประเทศ โดยเป็นผลจากการไม่สามารถปรับราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ หลังที่ผ่านมาต้นทุนวัตถุดิบหลาย ๆ อย่างต่างเพิ่มขึ้นในลักษณะของการปรับฐานระยะยาว แตกต่างจากในอดีตที่ราคาพุ่งขึ้นเพียงชั่วคราว เช่น ช่วงน้ำท่วมปี 2554 หรือวิกฤตแป้งสาลีปี 2557

ขณะนี้ต้นทุนแป้งสาลีเพิ่มขึ้น 20-30% น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมถึงยังมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้น 12-15% ซึ่งเฉพาะเพียงต้นทุนแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม ก็ทำให้ต้นทุนของมาม่าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 บาทต่อซองแล้ว โดยยังไม่รวมบรรจุภัณฑ์และสินค้าเกษตรสำหรับผลิตเครื่องปรุงรส

รวมถึงค่าแรงที่อาจมีการปรับขึ้นในอนาคต เมื่อรวมกับเพดานราคา 6 บาท ที่ไม่ได้ปรับมานานกว่า 15 ปี ทำให้ปัจจุบันผู้ผลิตบางราย เช่น ไวไว (บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด) และยำยำ (บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด) ขาดทุนในบางเดือน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาขายปลีก

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โรงงานมาม่าในกัมพูชา ที่ขาดทุนมานาน 9 เดือน หลังไม่สามารถขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนได้ เพราะต้องแข่งกับสินค้าจากไทยซึ่งมีการคุมราคาและมีผู้นำข้ามแดนเข้าไปขาย”

นายพันธ์กล่าวต่อไปว่า ด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจนเท่ากับหรือเกินราคาขายจนการขายสินค้าไม่มีกำไรหรือถึงขาดทุนนี้ ทำให้การแข่งขันในตลาดหายไป เพราะทุกแบรนด์ต่างไม่ต้องการเพิ่มปริมาณการขายและเสี่ยงที่จะขาดทุน การทำโปรโมชั่นกระตุ้นการซื้อก็จะหายไป เท่ากับว่าผู้บริโภคจะต้องจ่ายแพงขึ้นแม้ราคาฐานจะยังคงเดิมก็ตาม ต่างจากในอดีตที่เมื่อการขายสินค้ายังมีสัดส่วนกำไร วงการบะหมี่นั้นถือว่ามีการแข่งขันราคาดุเดือดมาก เช่น โปรโมชั่นแพ็ก 10 ซอง ราคา 30-50 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ปริมาณสินค้าในตลาดอาจลดลงทำให้หาซื้อได้ยากหรือเกิดสินค้าขาดได้ เนื่องจากเกือบทุกรายต้องหันไปเพิ่มปริมาณการส่งออก เพราะในตลาดต่างประเทศสามารถปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนได้ โดยบางรายการราคาสูงกว่าไทยถึง 1-2 เท่า จึงสามารถมีกำไรมาชดเชยการขาดทุนในประเทศได้บางส่วน

ในระยะยาวหากสถานการณ์ต้นทุนไม่คลี่คลายและไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ อาจทำให้ทุกรายจำเป็นต้องเพิ่มการส่งออกสินค้าจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อพยุงธุรกิจ แต่ด้วยกำลังการผลิตที่ยังเท่าเดิม จะกระทบต่อปริมาณสินค้าที่วางขายในไทย

และขณะนี้แต่ละรายต่างทยอยเพิ่มสัดส่วนการส่งออกให้สูงขึ้น จนมาอยู่ในระดับ 20-30% แล้ว ส่วนมาม่านั้นขณะนี้ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนส่งออก โดยให้เป็นไปตามดีมานด์ที่แท้จริง ทำให้สินค้าบางตัวส่งออกสูงถึงระดับ 50% ของกำลังผลิต

ขณะที่นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด กล่าวว่า ระหว่างที่รอการตัดสินใจของกรม นอกจากการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกแล้ว บริษัทจะใช้มาตรการควบคุมต้นทุนด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วยโดยจะปรับลดกะการทำงานและลดโอทีของไลน์ผลิตสินค้าตัวที่เสี่ยงขาดทุนลง เพื่อลดความเสียหาย

สอดคล้องกับความเห็นของบริษัทนิชชิน ซึ่งนายฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวในเรื่องนี้ว่า การปลดล็อกให้ผู้ผลิตสามารถปรับราคาและมีกำไรอย่างสมเหตุสมผลจะช่วยให้นอกจากมีสินค้าเข้าสู่ตลาดแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสินค้าใหม่ และสามารถควบคุมมาตรฐานของสินค้าได้อย่างเต็มที่

ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 5 ราย คือ มาม่า ไวไว ยำยำ นิชชิน และซื่อสัตย์ ได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี เพื่อลงนามในหนังสือ ขอให้กรมการค้าภายในเร่งรัดการพิจารณาคำขอปรับขึ้นราคาขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีก 2 บาท เป็น 8 บาท ที่แต่ละรายได้ยื่นเข้าไปก่อนหน้าอย่างเร่งด่วน โดยหลังลงนามจะนำหนังสือเข้ายื่นที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงเช้าวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

ขณะที่ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด กล่าวอีกว่า หากกรมการค้าภายในไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา หรือให้ขึ้นเพียง 1 บาท เป็น 7 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับต้นทุนก็จะดำเนินการยื่นคำขอขึ้นราคาเข้าไปอีกครั้ง เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่จำกัดเพียงผู้ผลิต แต่ยังรวมถึงร้านค้าที่มีกำไรลดลง และบริษัทต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจ จึงไม่สามารถปล่อยให้เกิดการขาดทุนต่อเนื่องได้

และหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้อีก ราคาขายที่ขอไปซองละ 8 บาท อาจไม่เพียงพอเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าบริษัทจะยังเดินหน้าผลิตสินค้าต่อเนื่อง และพยายามให้มีสินค้าขายในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่เข้าร่วมการแถลงข่าวในวันนี้ ประกอบด้วย นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด นายกิตติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด และนายฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชิน ฟู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด โดยทุกรายต่างยืนยันว่า วิกฤตต้นทุนครั้งนี้หนักที่สุดนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา