จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

ในฉบับที่แล้ว เราคุยกันเรื่องที่พ่อกังวล ว่าโลกจะกลับเข้าสู่สภาวะโลกาภิวัตน์ถดถอยที่ประเทศมหาอำนาจแต่ละประเทศ กลับมาตั้งกำแพงกีดกันการค้า การลงทุน คนอพยพข้ามแดน จนเป็นสงครามการค้าโลก ฉุดเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำลง โดยมีเหตุมาจากการที่โลกเข้าสู่ ภาวะสุญญากาศขาดผู้นำ ที่จะมาช่วยกันผลักดันและรักษากฎกติกาการค้าการลงทุนของโลก

เมื่อสหรัฐอเมริกาเสื่อมอำนาจ และผู้นำลงไปทำตัวเป็น “เด็กเกเร” เสียเอง ซึ่ง ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) ปรมาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School) เรียกสถานการณ์สุญญากาศทางผู้นำนี้ว่า “กับดัก Kindleberger” (Kindleberger Trap) ตามชื่อ ศาสตราจารย์ Kindleberger ของมหาวิทยาลัย MIT ที่เป็นหนึ่งในผู้คิดค้นริเริ่ม Marshall Plan แผนครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

คำถามที่พ่อค้างไว้ก็คือ จีนจะเป็นพญามังกร มาทำหน้าที่ผู้นำแทนที่พญาอินทรี เช่น อเมริกา ที่หมดฤทธิ์ลงได้หรือไม่ เสมือนครั้งที่สหรัฐอเมริกาเคยเข้ามาแทนที่สหราชอาณาจักร ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และผลักดันสนับสนุนระบบนิเวศด้านการค้าการลงทุนโลก ผ่านองค์กรระหว่างประเทศที่รู้จักกันในชื่อของ องค์กร Bretton Woods อย่างเช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์กรที่สุดท้ายกลายมาเป็น องค์การการค้าโลก (WTO)

ในความคิดของพ่อ คำตอบสั้น ๆ คือ “จีนจะสามารถมาแทนที่อเมริกาได้” แต่ถนนที่จะไปสู่จุดนั้นดูจะขรุขระและกระดานเศรษฐกิจการค้าโลก “ลายมังกร” นี้ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

ไม่ใช่ TPP ไม่ใช่ RCEP แต่เป็น “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road หรือ Belt and Road Initiative เรียกสั้น ๆ ว่า BRI)

ช่วงที่พ่อเขียนจดหมายนี้ สหรัฐอเมริกาเพิ่งล้มโต๊ะใส่ข้อตกลงการค้าข้ามทวีปขนาดใหญ่ที่ชื่อ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ที่เป็นข้อตกลงการค้าเสรีครอบคลุม 12 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งอเมริกาเองเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันข้อตกลงนี้มาตลอด แม้ว่าญี่ปุ่นจะพยายามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทนอเมริกา และดันทุรังที่จะเข็นข้อตกลงนี้ให้เดินหน้าต่อ แต่ทว่าก็คงเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอย่างอเมริกามาร่วมอยู่ในวงเจรจานี้ด้วย

ในเอเชียเอง ประเทศที่ร่วมอยู่ใน TPP เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ต่างก็หันหาทางอื่นที่จะเปิดตลาดการค้าการส่งออกใหม่ ๆ ส่วนบางประเทศที่ไม่ได้ร่วมใน TPP รวมถึงไทย ก็อาจจะแอบโล่งใจที่ไม่ต้องตกขบวน TPP และไม่ต้องกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมที่จะเข้าร่วม TPP

หลายคนจึงหันกลับมาตั้งความหวังกับข้อตกลงที่ชื่อ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ (RCEP) ที่ครอบคลุม 16 เขตเศรษฐกิจ มีทั้งยักษ์ใหญ่อย่างจีน และอินเดีย ที่ไม่ได้อยู่ใน TPP รวมทั้งเศรษฐกิจอาเซียนทั้งหมด โดยหลายคนชอบมองเทียบว่า หาก TPP เป็นข้อตกลงทางการค้าที่เคยเป็นเสมือนลูกรักของสหรัฐอเมริกาแล้ว RCEP ก็เป็นลูกรักของจีน และต่อไปจีนจะใช้ลูกคนนี้เป็นคนผลักดันการค้าข้ามภูมิภาค

แต่พ่อขอทำนายว่า ในยุคของลูก ชื่อ TPP หรือ RCEP นั้น คงไม่คุ้นหูเท่าไร แต่ชื่อที่ลูกจะคุ้นเคย หรืออย่างน้อยต้องได้เรียนที่โรงเรียน คือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI ซึ่งเป็นโครงการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของจีนที่ครอบคลุมไปถึงทวีปยูเรเชีย ไปถึงแอฟริกาและออสเตรเลีย รวมแล้วกว่า 60 เขตเศรษฐกิจ ที่ “ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง” ของจีน เป็นผู้ผลักดันสู่เวทีโลก ให้เป็นแม่แบบของ “โลกาภิวัตน์ยุคใหม่” ที่ถูกประทับด้วย “ลายมังกร” อย่างแท้จริง

BRI หนึ่งมังกรตวัดหาง
ได้ห้าเป้าหมาย

พ่อบอกลูกได้เลยว่า รัฐบาลจีนนั้นมองอะไรระยะยาว และวางแผนลึกซึ้งหลายชั้นอยู่เสมอ โดย BRI นี้มีหลายวัตถุประสงค์ซ้อนกันอยู่หลายชั้นแน่นอน โดยพ่อพอจะรู้ได้จาก ทั้งการที่ทางการจีนประกาศและจากการที่ผู้เชี่ยวชาญตีความกัน

วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนที่สุด ข้อแรกก็คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของจีน และเงินทุนจากสถาบันการเงินของจีน เช่น กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ธนาคารพัฒนาแห่งประเทศจีน (China Development Bank) หรือองค์กรระหว่างประเทศที่จีนก่อตั้งขึ้น เช่น ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการประมาณกันว่าประเทศในเอเชีย นอกจากจีนเองแล้ว มีการตั้งงบประมาณเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถึง 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 10 ปีข้างหน้า

ข้อสอง นักวิชาการชั้นนำหลายท่านต่างชี้ให้เห็นว่า BRI นี้เป็นเครื่องมือที่ใช้สร้างฐานบารมีทางเศรษฐกิจของจีน ในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก เสมือนดั่ง Marshall Plan ที่อเมริกาเคยใช้ช่วยยุโรปหลังสงครามโลก และองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศที่จีนให้กำเนิด เช่น AIIB ก็เปรียบเสมือนเป็นองค์กร Bretton Woods อย่างเช่น ธนาคารโลก ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลักดันให้กำเนิดขึ้น

ข้อสาม อย่างที่ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญจีน เขียนไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า จุดประสงค์สำคัญของ BRI ข้อหนึ่งก็คือ การพัฒนาดินแดนฝั่งตะวันตกของจีนที่ไม่ติดทะเล และมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิตามหลังฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะ “เขตปกครองซินเจียง” ที่มีทรัพยากรพลังงานแต่มีปัญหาการก่อการร้ายและการเคลื่อนไหว เพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดน

จึงไม่น่าแปลกใจว่า หนึ่งในโปรเจ็กต์สำคัญของ BRI คือ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) ที่เน้นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง รถไฟ สายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน โดยจะมีการเชื่อมโยงท่าเรือ Gwadar ที่จีนไปลงทุนไว้ในปากีสถาน เข้ากับทางซินเจียง ด้วยเส้นทางรถไฟและถนน เพื่อสร้างทางออกทางทะเลให้กับดินแดนฝั่งตะวันตกของจีน ซึ่งเป็นการพัฒนาดินแดนตะวันตกของจีนด้วย

ข้อสี่ เส้นทางสายไหมทางทะเลและทางบกนั้น ยังเกี่ยวเนื่องกับเรื่องความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจ โดยจีนได้เข้าไปสร้างระบบท่อส่งน้ำมันจากคาซัคสถาน และลงทุนสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในเอเชียกลาง เพื่อเชื่อมแหล่งก๊าซของเติร์กเมนิสถาน มายังเขตปกครองซินเจียง

ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาท่อส่งน้ำมันจีน-เมียนมา เพื่อให้สามารถเชื่อมระบบส่งน้ำมันกับตะวันออกกลาง ในภูมิภาคอาเซียนนั้น จีนก็มีการวางแผนลงทุนสร้างทางรถไฟไฮสปีด ระหว่างมณฑลยูนนานทางภาคใต้ของจีนกับประเทศไทย พร้อมกับเดินหน้าการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือกวนตัน ทางตะวันตกของมาเลเซีย และระบบรางเชื่อมมายังฝั่งตะวันออก โดยทั้งหมดนี้ได้ช่วยเพิ่มเส้นทางการค้าพลังงาน และสินค้าต่าง ๆ โดยลดการพึ่งพาช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดเส้นหนึ่งของโลกลง

ข้อห้า จีนยังหวังใช้ BRI เป็นเครื่องมือในการส่งออกกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรมหนัก ที่เกิดจากการลงทุนเกินตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน และซีเมนต์ เป็นต้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้บริษัทก่อสร้างของจีนก้าวออกไปสู่ตลาดก่อสร้างของโลก แทนที่จะเพิ่มปัญหา Over Supply ทางสิ่งปลูกสร้างขึ้นในประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในบางมณฑลของจีนเวลานี้

พ่ออยากรู้จังว่า วันที่ลูกอ่านจดหมายนี้ โลกาภิวัตน์ลายมังกรนี้จะสะบัดหางไปไกลแค่ไหนแล้ว และมีผลกับประเทศต่าง ๆ อย่างไรบ้าง เพราะอีก ส่วนหนึ่ง พ่อก็มองว่า แผน BRI นี้ก็ต้องพบกับอุปสรรค และหนทางที่ขรุขระไม่น้อยเช่นกัน

 

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?