จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

ในตอนที่ผ่านมา พ่อเล่าให้ฟังถึงเรื่องพิษร้ายของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งพ่อคิดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของการค้าโลกเลยทีเดียว เพราะการขึ้นสู่บัลลังก์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ขี่กระแสการต่อต้านการค้าโลก และเหตุการณ์เบร็กซิต (Brexit) เป็นพลุสัญญาณเตือนที่สำคัญว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสินทรัพย์ที่สะสมมานาน และไม่ได้รับการเยียวยานั้น ทำให้โปรโมเตอร์ของการค้าโลกและโลกาภิวัตน์คงไม่สามารถกลับมาเป็น “ผู้นำ” ในการผลักดันด้านนี้ได้อีก

กระแสโลกาภิวัตน์ หรือการเชื่อมโยงกันทั้งการค้า การลงทุน คน และตลาดการเงินนั้น มีความเสี่ยงไม่น้อย พ่อโตขึ้นมาในยุคที่เห็นอเมริกาและสถาบันอย่าง IMF ผลักดันยัดเยียดการเปิดเสรีมากเกินไป และเร็วเกินควร ไม่ดูความพร้อมของแต่ละประเทศ จนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจหลายครั้งในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งมาจากการปล่อยให้โลกาภิวัตน์ทางการเงินไปไกลเกินไป จนตามควบคุมดูแลไม่ทัน

เมื่อเศรษฐกิจล้ม คนที่เจ็บที่สุดก็คือคนที่มีรายได้และการศึกษาน้อย ทำให้คนพวกนี้กลายมาเป็นผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบันของพ่อ แท้จริงแล้ว หากเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์คงไม่รุนแรงเช่นนี้

โดยการเปิดเสรีการค้าการลงทุนและการเงิน ควรทำอย่างพอประมาณตามความพร้อม ไม่มากเกินไปน้อยเกินไป ไม่ให้เสียสมดุลทางเศรษฐกิจ ทำอย่างมีเหตุผล คือเข้าใจถึงผลกระทบและความเสียใจที่อาจจะเกิดขึ้นและต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้พร้อม

ในความคิดของพ่อ ภูมิคุ้มกันต่อโลกาภิวัตน์ต้องมีอย่างน้อย 3 ชั้น คือ หนึ่ง-ด้านการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัจจัยความผันผวนทางการเงินภายนอกเข้ามามีผลกระทบกับภาคการเงินในประเทศมากเกินไป

สอง-ด้านเศรษฐกิจ คือ หากหลีกเลี่ยงความผันผวนทางการเงินไม่ได้ ก็ต้องสร้างภาคการเงินในประเทศให้เป็นระบบกันชน เพื่อให้เศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy) สามารถก้าวไปข้างหน้าต่อได้ โดยไม่ถูกฉุดด้วยความผันผวนทางการเงิน

และ สาม-ด้านสังคมกับการเมือง คือ หากเราป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องมีระบบเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยทางเศรษฐกิจ สามารถลุกขึ้นและกลับมายืนได้ โดยไม่กลายเป็นปัญหาสังคมและการเมืองระยะยาว เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในอเมริกาและอีกหลายประเทศทุกวันนี้

แต่แม้ว่าโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นอย่างเกินพอดีอาจมีความเสี่ยงสูง การที่โลกาภิวัตน์ถดถอยเข้ากะลาก็จะมีผลเสียมหาศาลเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกอยู่มากเช่นประเทศไทยด้วย

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านในยุคพ่อกำลังเป็นห่วงและถกเถียงกันก็คือ จีน ที่ได้กลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจปัจจุบันนั้น จะพร้อมผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกแทนที่อเมริกาได้หรือไม่ ถ้าหากจีนไม่พร้อม ภาวะสุญญากาศทางผู้นำแบบประวัติศาสตร์ในช่วงปี 1930 อาจกลับมาหลอกหลอนเราอีกครั้ง

เช่น ถ้าสหรัฐอเมริกาหันมาใช้นโยบายกีดกันทางการค้า โดยตั้งกำแพงภาษีศุลกากรใส่สินค้านำเข้าจากจีน และจีนหันมาทำแบบเดียวกันกับสินค้าอเมริกาเป็นการตอบโต้ ด้วยความเชื่อมโยงทางการค้าโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน คงจะทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง และส่งผลแพร่กระจายไปในวงกว้างอย่างคาดเดาได้ยาก

ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) ปรมาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School) เรียกสถานการณ์สุญญากาศทางผู้นำนี้ว่า “กับดัก Kindleberger” (Kindleberger Trap) ตามชื่อศาสตราจารย์ Kindleberger ของมหาวิทยาลัย MIT ที่เป็นหนึ่งในผู้คิดค้นริเริ่ม Marshall Plan แผนครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์

วันที่พ่อเขียนจดหมายนี้ โลกาภิวัตน์กำลังอยู่ที่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อจริง ๆ จีนจะพร้อมมาแทนที่อเมริกาแค่ไหน ? อะไรจะเป็น Marshall Plan ของยุคใหม่ ? การค้าโลกจะได้รับการชุบชีวิตไหม ? ตอนที่ลูกอ่านจดหมายนี้คงรู้แล้ว

แต่เดี๋ยวคราวหน้าพ่อจะมาเล่าให้ฟังว่า ณ วันนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายคาดเดาอนาคตกันอย่างไรบ้าง

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก